กลุ่มสิ่งมีชีวิต หมายถึง การอยู่ร่วมกันในบริเวณแหล่งที่อยู่เดียวกันของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ซึ่งสิ่งมีชีวิตนั้นหมายรวมถึง สัตว์, พืช, เห็ดรา ไปจนถึงจุลินทรีย์ต่าง ๆ ต่างจากสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ดิน, หิน, น้ำ, อากาศ หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งเมื่อรวมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน เราจะเรียกว่า ระบบนิเวศ (Ecosystem)
สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อาศัยในแหล่งที่อยู่หนึ่ง ๆ จะมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมเพื่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ โดยเฉพาะการกินกันเป็นอาหาร จนเกิดเป็นวงจรที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละแหล่งที่อยู่ ตัวอย่างเช่น
-
กลุ่มสิ่งมีชีวิตในขอนไม้ผุ ประกอบด้วย เห็ด, รา, ไลเคน, หนอน, แมลงต่างๆ รวมถึงสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กิ้งก่า, จิ้งเหลน, หนู เป็นต้น
- กลุ่มสิ่งมีชีวิตในบ่อน้ำ ประกอบด้วย พืชน้ำ, สาหร่าย, ลูกอ๊อด, กบ, เต่า, ปลา, ปู, กุ้ง, หอย, เป็ด และแมลงต่างๆ เป็นต้น
- กลุ่มสิ่งมีชีวิตในนาข้าว ได้แก่ ต้นข้าว, เพลี้ย, ตั๊กแตน, นกกระจิบ, กบ, ปู, หนู, ปลา, งู และเหยี่ยว เป็นต้น
ลักษณะของวงจรความสัมพันธ์ในแหล่งที่อยู่นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ที่เข้ามาเป็นตัวแปรให้ความสัมพันธ์ของกลุ่มสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่นั้น ๆ ต้องเปลี่ยนไป
แหล่งที่อยู่ซึ่งมีขนาดเล็ก มีจำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิต (Species) น้อย จะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกสูงกว่าแหล่งที่อยู่ที่มีขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตมากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น ระบบนิเวศในนาข้าว ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในนาข้าวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อผ่านฤดูกาลเก็บเกี่ยว ไม่มีต้นข้าวให้หนอนและแมลงกินเป็นอาหาร จำนวนแมลงก็จะลดลง ไม่มีน้ำในนาข้าว ปลาที่อาศัยอยู่ในนาข้าวก็อยู่ไม่ได้ แต่ในระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่กว่า เช่น ป่าดิบชื้น ความสัมพันธ์ของกลุ่มสิ่งมีชีวิตจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะปัจจัยภายนอกมีผลกระทบน้อยต่อระบบนิเวศขนาดใหญ่
ขอบคุณเว็บไซต์ https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/33114
|