<< Go Back

จิตรกรรมฝาผนัง
      จิตรกรรมฝาผนัง (Mural painting) คือภาพเขียนหลายชนิด ที่เขียนบนปูนบนผนังหรือเพดาน เทคนิคที่นิยมกัน คือ การวาดภาพบนผนังปูนปลาสเตอร์เปียก (fresco) โดยที่คำว่า “fresco” มาจากภาษาอิตาลี “affresco” ซึ่งมาจากคำว่า “fresco” หรือ “สด” รากศัพท์มาจากภาษาเยอรมัน


จิตรกรรมฝาผนังในชาเปลซิสตินที่ วาติกัน, โรม ประเทศอิตาลี
ที่มาของภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/จิตรกรรมฝาผนัง

ชนิดของจิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมปูนเปียก
      จิตรกรรมฝาผนังแบบปูนเปียก (Buon fresco) เป็นวิธีที่ใช้สีผสมน้ำแล้ววาดลงบนปูนปลาสเตอร์ หรือ lime mortar ที่ปาดไว้บางๆบนผนังที่ภาษาอิตาลีเรียกว่า“อินโทนาโค” เมื่อทาสีลงไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อะไรทาเคลือบให้สีติด เพราะปูนปลาสเตอร์ จะมีปฏิกิริยาเคมีกับสีติดปูน เมื่อทาสีจะซึมลงไปในปูนที่ยังชื้นพอปูนแห้ง ก็จะมีปฏิกิริยาเคมีกับอากาศทำให้สีติดผนังได้อย่างถาวร ผู้ที่ใช้วิธีเขียนจิตรกรรมฝาผนัง โดยใช้วิธีนี้คือไอแซ็ค มาสเตอร์ที่ชั้นบนของมหาวิหารเซนต์ฟรานซิส แห่งอาซิซิที่อาซิซิ ประเทศอิตาลี


จิตรกรรมฝาผนังโดยดิโอนิเซียส (Dionisius) เล่าเรื่องนักบุญนิโคลัส
ที่มาของภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/จิตรกรรมฝาผนัง

จิตรกรรมปูนแห้ง
      จิตรกรรมฝาผนังแบบปูนแห้ง (A Secco) จะตรงกันข้ามคือจะวาดบนปูนแห้ง (“Secco” ในภาษาอิตาลีแปลว่า แห้ง) วิธีนี้จิตรกรจะผสมสีกับสารที่ทำให้ติดผนังเช่นไข่ (ที่เรียกว่า “เทมเพอรา”) กาว หรือ น้ำมัน เพื่อให้สียึดติดกับผนัง สิ่งที่ควรจะสังเกต คือความแตกต่างระหว่างจิตรกรรมปูนแห้ง ที่วาดทับบนจิตรกรรมปูนเปียก ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา และจิตรกรรมปูนแห้งที่วาดบนผนังเปล่า
      ตามปกติแล้วจิตรกรรมปูนเปียก จะทนทานกว่าจิตรกรรมปูนแห้ง ที่มาวาดทับภายหลัง เพราะจิตรกรรมปูนแห้ง จะติดผนังที่ไม่เรียบได้ดีกว่าผนังที่เรียบ บางครั้งจิตรกรจะใช้วิธีหลังนี้เพื่อเติมรายละเอียด หรือเพราะบางสีไม่สามารถทำได้จากวิธีแรก เพราะปฏิกิริยาเคมีของปูนที่มีด่างโดยเฉพาะสีน้ำเงิน เสื้อคลุมที่เป็นสีน้ำเงินของจิตรกรรมปูนเปียก จะมาเติมด้วยวิธีหลังให้สีเข้มขึ้น เพราะทั้งสีน้ำเงิน azurite และสีน้ำเงิน “ลาพิส ลาซูไล” จะออกมาไม่สวยเมื่อใช้ปูนเปียก
      จากการวิจัยพบว่าจิตรกรสมัยเรอเนซองส์ตอนต้น มักจะใช้วาดบนปูนแห้ง เพื่อจะให้ได้สีที่หลากหลายกว่าปูนเปียก งานที่ทำด้วยวิธีนี้ในสมัยแรกๆ สูญหายไปเกือบหมด แต่งานที่ทำบนผิวผนังที่ทำให้หยาบ เพื่อให้สีติดจะยังคงเหลืออยู่บ้าง แต่สิ่งที่เป็นอันตราย ต่อจิตรกรรมฝาผนังมากที่สุดก็เห็นจะเป็นความชื้น


จิตรกรรมฝาผนัง จากมหากาพย์ “ไตรภูมิดานเต”
ของดานเตโดยโดเมนิโค ดิ มิเคลลิโน (Domenico di Michelino) ที่มหาวิหารฟลอเรนซ์
ที่มาของภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/จิตรกรรมฝาผนัง

จิตรกรรมปูนชื้น
      วิธีที่สามเรียกว่า จิตรกรรมปูนชื้น หรือ “mezzo-fresco” วิธีนี้จิตรกรจะวาดรูปบนผนังปูนที่ใกล้จะแห้ง-ตามที่อิกนาซิโอ พ็อซโซอธิบายไว้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่าเพื่อจะพอให้สีซึมลงไปในเนื้อปูนเพียงเล็กน้อย พอมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 วิธีนี้ก็ใช้แทนที่จิตรกรรมปูนเปียกเป็นส่วนใหญ่ จิตรกรที่ใช้วิธีนี้ก็มีจิโอวานนิ บัตติสตา ติเอโปโล
      ระหว่างสามวิธีนี้ งานที่ทำโดยวิธีปูนแห้งล้วนจะทำได้เร็วกว่าวิธีอื่น ถ้ามีอะไรผิดก็แก้ง่าย และความแตกต่างของสีที่ทาลงไปกับเวลาที่สีแห้ง จะน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่น


จิตรกรรมฝาผนังจากบาวาเรียประเทศเยอรมนี
ที่มาของภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/จิตรกรรมฝาผนัง
กลวิธี
      ในการสร้างจิตรกรรมปูนเปียก ช่างจะฉาบบริเวณที่จะวาดภาพด้วย “arriccio” ที่ทำให้ผนังภายใต้สาก แล้วทิ้งไว้ให้แห้งอีกสามสี่วันก่อน ที่จะร่างภาพที่จะวาดลงบนผนังที่ฉาบไว้ โดยใช้สีฝุ่นแดงที่เรียกว่า “sinopia” ภาพที่ร่างก็เรียกว่า “sinopia” เช่นเดียวกัน ต่อมาการร่างใช้วิธีวาดบนกระดาษก่อนที่จะมาทาบบนผนัง ตามขอบรูปก็จะปรุเป็นรอยด้วยวัสดุ ที่มีความแหลมแล้วทาบกับผนัง แล้วใช้ประคบที่บรรจุด้วยผงดำๆ ที่เรียกว่า “spolvero” ตบบนตัวร่าง พอเสร็จบนผนังก็จะเป็นรอยร่างคร่าวๆจากฝุ่นที่ตบเอาไว้ ถ้าผนังที่จะวาดมีรูปอยู่แล้วช่างก็จะสกัดผิวออกเป็นระยะๆ เพื่อให้ปูนที่จะฉาบเกาะติด วันที่จะวาดรูปช่างก็จะฉาบปูนบางๆ เรียบบนผนังที่เรียกว่า “อินโทนาโค” ที่เตรียมไว้ การฉาบก็จะฉาบเฉพาะบริเวณที่จะทำเสร็จในวันนั้น การซ่อนรอยต่อของปูนก็อาจจะทำโดยใช้ขอบรูปของตัวแบบ หรือทิวทัศน์ การทาสีมักจะเริ่มจากส่วนที่สูงที่สุดของภาพ บริเวณที่ทาสีเสร็จในวันหนึ่งเรียก “giornata” เราจะศึกษาขั้นตอนการวาดภาพได้จากตะเข็บ หรือรอยต่อจากส่วนหนึ่งไปอีกส่วนหนึ่ง
      จิตรกรรมปูนเปียกจะเป็นวิธีที่ค่อนข้างยาก เพราะจิตรกรมีเวลาวาดเพียงสิบสองชั่วโมงก่อนที่ปูนจะแห้ง ตามปกติแล้วจิตรกรจะรอชั่วโมงหนึ่งหลังจากฉาบ ก่อนที่จะเริ่มวาดแล้ววาดไปจนราวสองชั่วโมงก่อนที่ปูนจะแห้ง พอปูนแห้งวิธีวาดปูนเปียกก็ต้องหยุดไม่มีการแก้ ปูนที่ยังวาดไม่เสร็จก็ต้องเซาะออก เพื่อที่จะได้ฉาบใหม่ ถ้ามีอะไรผิดบางครั้งก็ต้องลอกปูนที่วาดไว้ออกทั้งหมด หรือมาใช้วิธีวาดบนปูนแห้งแก้ภายหลัง
      ถ้าเราดูจิตรกรรมฝาผนังบนผนังขนาดใหญ่ เราอาจจะเห็นบริเวณที่วาด อาจจะแบ่งได้ราวสิบถึงยี่สิบบริเวณ หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้ รอบตะเข็บที่เคยซ่อนไว้อย่างแนบเนียนก็อาจจะเด่นชัดขึ้น จนบางครั้งก็มองเห็นได้จากข้างล่าง นอกจากนั้นรอบตะเข็บ มักจะแต่งให้เรียบร้อยด้วยวิธีวาดปูนแห้ง ซึ่งจะหลุดออกมาตามกาลเวลา
      ถ้าเป็นงานปูนแห้งล้วนๆ ปูนที่ฉาบจะมีผิวหยาบเมื่อแห้ง ก็จะถูด้วยกระดาษทรายเพื่อให้สีติดดีขึ้น จิตรกรก็จะทาสีเช่นเดียวกับการทาสีบนแผ่นไม้


“ที่ฝังศพของนักดำน้ำ” พบเมื่อปีค.ศ. 1968 (470 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ที่มาของภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/จิตรกรรมฝาผนัง

จิตรกรรมฝาผนังในประวัติศาสตร์
      งานจิตรกรรมฝาผนังแรกที่สุดสร้างเมื่อ 1500 ก่อนคริสต์ศักราชที่พบที่เกาะครีต ใน ประเทศกรีซ ชิ้นที่สำคัญที่สุดเรียกว่า “The Toreador” ซึ่งเป็นเรื่องราวของพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่คนกระโดดข้ามหลังวัว งานชิ้นอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ก็มีพบในบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนโดยเฉพาะใน ประเทศอียิปต์ และประเทศโมร็อกโก งานจิตรกรรมฝาผนังที่พบมากในประเทศอียิปต์ ก็เป็นงานที่พบในสุสานที่ฝังศพ และจะใช้วิธีวาดบนปูนแห้ง แต่ที่มาของจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ ยังเป็นที่สันนิษฐานกันอยู่
      นักประวัติศาสตร์บางท่านก็เชื่อว่าจิตรกรจากครีต อาจจะถูกส่งไปวาดตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทางการค้า หรืออาจจะเป็นการส่งเสริมความสำคัญ ของศิลปะลักษณะนี้ ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะสำคัญของสมัยนั้นก็ได้
      นอกจากนั้นจิตรกรรมฝาผนัง ยังเห็นได้จากสถาปัตยกรรมกรีก (Ancient Greece architecture) แต่ที่ยังเหลืออยู่ทุกวันนี้เกือบหาไม่ได้ ที่มีก็พบทางตอนใต้ของอิตาลีที่เพสตุม (Paestum) ที่มันยาเกรเซีย (Magna Graecia) ซึ่งเป็นอาณานิคมกรีก จิตรกรรมที่พบเมื่อปี ค.ศ. 1968 ก็อยู่ภายในที่ฝังศพวาดมาตั้งแต่ 470 ปีก่อนคริสต์ศักราชที่เรียกว่า “ที่ฝังศพของนักดำน้ำ” (Tomb of the Diver) ฉากที่วาดมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากเพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้น อีกภาพหนึ่งแสดงให้เห็นคนกลุ่มหนึ่งนอนเอนอย่างพบประสังสรรค์กัน อีกภาพหนึ่งเป็นภาพชายหนุ่มกระโดดลงไปในทะเล
จิตรกรรมฝาผนังที่สร้างในสมัยจักรวรรดิโรมัน เช่นที่ปอมเปอี และ Roman wall paintings, such as those at ปอมเปอี และ เฮอร์คิวเลเนียม เป็น จิตรกรรมแบบปูนเปียก
      จิตรกรรมฝาผนังของอิสลาม ซึ่งหาชมได้ยากพบที่ Qasr Amra ซึ่งเป็นปราสาทกลางทะเลทรายที่ Umayyads วาดเมื่อ คริสต์ศตวรรษที่ 8
      สมัยปลายจักรวรรดิโรมัน เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 ถึง 2 จิตรกรรมฝาผนังมักจะพบภายในที่ที่เก็บศพแบบสุสานรังผึ้งภายใต้ กรุงโรม และ ประเทศไซปรัส ครีต อีฟิซุส (Ephesus) คะพาโดเซีย (Capadocia) และ อันติออก (Antioch) จิตรกรรมฝาผนังของโรมันเป็นแบบปูนเปียกบนปูนปลาสเตอร์สี นอกจากนั้นจิตรกรรมฝาผนังของคริสต์ศาสนายังพบได้ที่วัดโกเรเม (Churches of Goreme) ที่ประเทศตุรกี
      เมื่อปลายยุคกลางและในสมัยเรอเนซองส์เป็นสมัยที่จิตรกรรมฝาผนังรุ่งเรืองที่สุด โดยเฉพาะในประเทศอิตาลีซึ่งยังนิยมใช้ศิลปะลักษณะนี้ตกแต่งในสิ่งก่อสร้างทางศาสนาและการปกครอง
      อันเดรีย พาลลาดิโอ (Andrea Palladio) สถาปนิกคนสำคัญของอิตาลีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 สร้างคฤหาสน์ไว้หลายแห่งที่ดูเรียบภายนอกแต่ภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังอย่างวิจิตร
จิตรกรรมฝาผนังของลาตินอเมริกา
      โฮเซ เคลเม็นเท โอโรซโค (Jose Clemente Orozco) เดวิด ซีเครอส (David Siqueiros) ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) และ ฟรีดา คาห์โล เป็นจิตรกรคนสำคัญของประเทศเม็กซิโกที่มาฟื้นฟูงานจิตรกรรมฝาผนังเมื่อศตวรรษที่ 20 งานจิตรกรรมฝาผนังของริเวราเป็นการเริ่ม “ยุคเรอเนซองส์ของจิตรกรรมฝาผนังของเม็กซิโก”
จิตรกรรมฝาผนังของประเทศอินเดีย
      จิตรกรรมฝาผนังที่เพดานและผนังถ้ำที่อจันตาวาดไว้ระหว่าง 200 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษถึงราวค. ศ. 600 พบเมื่อค.ศ. 1819 เป็นเรื่องพุทธชาดก เรื่องราวที่วาดเป็นฉากๆ แต่ไม่ต่อเนื่องกัน
      จิตรกรรมฝาผนังที่โจฬะ (Chola) พบเมื่อ ค.ศ. 1931 ภายในวัด Brihadisvara


http://th.wikipedia.org/wiki/จิตรกรรมฝาผนัง

    << Go Back