จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ : "ปู่ม่านญ่าม่าน" โรมานซ์แห่งล้านนา
"ฮูปแต้ม" ภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2410 ในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งเจ้าผู้ครองนครน่านมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงโปรดให้ช่างหลวงบูรณะวัดเป็นครั้งใหญ่ มีจำนวนถึง 22 วัด และวัดภูมินทร์ก็ได้รับการบูรณะเป็นอันดับที่ 9 ใช้เวลาบูรณะอยู่ราว 8 ปี (พ.ศ. 2410 - 2418) ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า การบูรณะครั้งนี้ เป็นที่มาของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์นี้เอง
สำหรับช่างผู้วาดนั้น ไม่ปรากฎประวัติ ทราบแต่ว่า เป็นศิลปะแบบชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ที่อพยพมาจากสิบสองปันนา หลวงพระบางและล้านช้าง ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ทำสงครามกับเชียงใหม่ (ภายใต้การปกครองของพม่า) หลายครั้ง บางครั้งก็แพ้ บางครั้งก็ชนะ เมื่อแพ้จะหลบหนีไปอยู่ที่ลานช้าง แล้วก็นำทัพจากเมืองลานช้างและหงสา เข้ามาตีเอาเมืองน่านกลับคืน ซึ่งตอนนี้นี่เอง อาจมีชาวไทลื้อจากเมืองลานชางเข้ามาอยู่เมืองน่านด้วย ซึ่งชาวไทลื้อนี้เอง ที่ได้นำเอาชาดกเข้ามาด้วย เช่น ชาดกเรื่อง "คันธกุมาร" ก็เป็นเรื่องที่มาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะมีการใช้คำว่า "จินายโม้" ซึ่งแปลว่าจิ้งหรีดขนาดใหญ่ แทนที่จะใช้คำว่า "จีกุ่ง" หรือ "จี้กุ่ง" ที่เป็นคำเหนือ และชื่อเมืองศรีสะเกษ เมืองขวางบุรีและชวาวดี โดยเฉพาะชื่อเมืองขวางบุรี ชวนให้นึกถึงเมืองที่ชื่อเชียงขวางและเมืองชวาวดีนคร ก็ดูคล้ายกับเมืองชวา คือชื่อเก่าอีกชื่อหนึ่งของเมืองหลวงพระบาง
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ เนื้อหาภาพส่วนใหญ่จะเล่าเรื่อง "คันธกุมาร" เป็นนิทานชาดก ที่มุ่งสอนให้คนทำความดี ช่างวาดได้สอดแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต วัฒนธรรมการแต่งกายโดยเฉพาะการแต่งกายของสตรีที่มักนิยมนุ่งซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ตลอดจนถึงภาพวาดความรักใคร่ของหนุ่มสาวอันยวนใจซึ่งพ่อแม่จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะที่หญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรืออยู่ข่วง ภาพชาวพื้นเมืองซึ่งอาจจะเป็นชาวเขา "เป๊อะ" แบกของป่าบนศีรษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ซึ่งภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ ซึ่งด้วยฝีมือของช่างวาดนี้เอง ส่งผลให้จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ที่สุด" ของภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนาและของสยามประเทศ
"ปู่ม่านญ่าม่าน" สุดยอดภาพโรมานซ์ล้านนา
กล่าวเฉพาะภาพยวนใจหรือภาพ "โรมานซ์" ในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ มีปรากฎหลายภาพ แต่ไม่มีภาพใดจะมีขนาดใหญ่และทรงอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนสมัยหลังเท่าภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" อีกแล้ว อันเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามมากมายในใจคน ผู้ปรารถนาจะถอด "รหัสนัย" ของสุดยอดภาพโรมานซ์ล้านนาภาพนี้ ภาพดังกล่าว มีขนาดใหญ่เกือบเท่าคนจริง ปรากฎโดดเด่นอยู่ที่ผนังด้านซ้ายของประตูทิศตะวัตกของวิหารวัดภูมินทร์ เป็นภาพชายหนุ่มกับหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือไทใหญ่ กำลังยืนกระซิบกระซาบกัน ใช้สายตาเป็นสื่อภาษาใจต่อกัน โดยด้านบน มีอักษรล้านนาโบราณเขียนกำกับไว้ลางๆ ถอดความได้ว่า "ปู่ม่านญ่าม่าน"
คำว่า "ม่าน" ในภาษาล้านนาใช้เรียกดินแดนพม่าและชาวพม่า และบางทียังใช้เรียกชาติพันธุ์ไท หรือ "ไต" อย่างชาวไทใหญ่ หรือ "ไตโหลง" ที่อาศัยในที่ราบสูงฉาน ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพม่า หรือ "ม่าน" ส่วนคำว่า "ปู่" และ "ญ่า" ในภาษาถิ่นล้านนามิได้หมายถึงผู้เฒ่าผู้แก่เสมอไป ในบางครั้งอาจใช้เป็นคำสรรพนามเรียกผู้ชายและผู้หญิง "ปู่ม่านญ่าม่าน" ในที่นี้ จึงอาจหมายถึง "หนุ่มม่านสาวม่าน" ก็ได้
ทำให้เกิดคำถามว่า "ภาพปู่ม่านญ่าม่าน" หรือที่ศิลปินร่วมสมัยนิยมเรียกภาพ "กระซิบรัก" (The Whispering) อันยวนใจ (Romance) คือใครเหตุใดศิลปินจึงวาดภาพที่มีขนาดใหญ่เท่าคนจริงเพียงนี้ มีความเป็นไปได้เพียงใดว่า ที่ชายหนุ่มในภาพอาจเป็นภาพเหมือนของตัวจริงของตัวศิลปินผู้วาดภาพเอง ตลอดรวมไปถึงข้อสงสัยว่าจิตรกรรมฝาผนังภาพนี้ ซ่อนรหัสนัย อะไรไว้ในทางวัฒนธรรมหรือการเมืองไว้หรือไม่
อาจารย์ วินัย ปราบริปู ศิลปินสายเลือดน่าน ได้แสดงทัศนะไว้ในบทความ "ใครคือศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์?" ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า ศิลปินผู้เขียนภพที่วัดภูมินทร์เป็นศิลปินคนเดียวกับผู้เขียนภาพที่วัดหนองบัว วัดสำคัญของชาวไทลื้อที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน บุคคลท่านนั้นคือ "หนานบัวผัน" หรือ ทิดบัวผัน ช่างวาด หรือ"สล่า" ชาวไทลื้อ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์กับวัดหนองบัวมีโครงสร้างสีเดียวกัน คือ แม่สีแดง น้ำเงิน เหลืองเป็นหลัก
ที่สำคัญคือ มีภาพที่คล้ายคลึงกันถึงกว่า 40 จุด เช่น ใบหน้าคน การแต่งกาย สรรพสัตว์ ทั้งไก่แจ้ นก ลิง กวาง แม้กระทั่งแนวการลากเส้นสายพุ่มไม้และกอสับปะรด ก็ยังเป็นแบบเดียวกัน คือเป็นแนว "คตินิยม" หรือเขียนตามจินตนาการมากกว่าจะเขียนเป็นภาพเหมือนจริง(Realistic) ที่เด่นชัดคือการเขียนคิ้วบนใบหน้าชายและหญิงให้โค้งเป็นวงพระจันทร์ แล้วลากหัวคิ้วข้างหนึ่งลงมาเป็นสันจมูก เหมือนกันทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการค้นพบภาพร่างด้วยหมึกบนกระดาษสาพับ (ชาวล้านนาเรียก ปั๊บสา) ระบุว่าเป็นของ "หนานบัวผัน" ใช้ร่างก่อนภาพจริงลงบนฝาผนัง ซึ่งมีหลายภาพ อาทิ ภาพอีโรติกของลิงหนุ่มสาว เป็นภาพร่างใน "ปั๊บสา" พบที่วัดหนองบัว แล้วมีภาพนี้ไปปรากฎที่ฝาผนังวัดภูมินทร์ด้วย
จึงมีความเป็นไปได้ว่า "หนานบัวผัน" สล่าชาวไทลื้อ ซึ่งมีหลักฐานว่าเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ในช่วง พ.ศ. 2410-2431 จะเป็นผู้รังสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ระหว่างการบูรณะครั้งใหญ่ โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ระหว่าง พ.ศ. 2410-2418 หรืออาจเขียนที่วัดหนองบัวก่อน แล้วมาเขียนที่วัดภูมินทร์ ในสมัย พระเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดชฯ ซึ่งปกครองนครน่านระหว่าง พ.ศ. 2336-2461 ก็เป็นได้
"ส่วนภาพหนุ่มกระซิบรักบันลือโลก ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่อง คันธกุมารชาดก อาจารย์สน สีมาตรั้ง แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ตั้งข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า น่าจะเป็นภาพตัวศิลปินเองกับคนรักของเขานั้น แต่ทว่า ชายหนุ่มในภาพขมวดผมไว้กลางกระหม่อม พร้อมผ้าพันผมแบบพม่า นุ่งผ้าลยลุนตะยาแบบพม่า พร้อมผ้าพันผมแบบพม่า มีสักยันต์สีแดงตามลำตัว ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชนชาวไทใหญ่ สอดคล้องกับตัวอักษรล้านนาที่เขียนกำกับไว้ว่า "ปู่ม่านญ่าม่าน" ซึ่งจะแปลว่าหนุ่มสาวชาวพม่า หรือชาวไทใหญ่ที่อยู่ในเขตพม่าก็ได้ ดังนั้น อาจารย์วินัย จึงเชื่อว่าชายหนุ่มในภาพนี้ ไม่น่าเป็นภาพตัวศิลปินผู้วาด เพราะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้แล้วว่า ศิลปินผู้วาดคือ "หนานบัวผัน" นั้นเป็นชาวไทลื้อ เพราะด้วยเหตุผลที่ว่า ล้านนาตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีกว่า 200 ปี วัฒนธรรมได้ฝังแน่นคลุกเคล้าผสมปนเปกับวัฒนธรรมของชาติพันธุ์เผ่าต่าง ในเมืองน่าน ศิลปิน "หนานบัวผัน" จึงถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตน ผ่านภาพเขียนเป็นภาพหญิงสาวแสนสวยชายตาแสดงความกรุ้มกริ่มในอารมณ์คู่รักหนุ่มชาวพม่า...หนานบัวผัน ไม่ได้เขียนบุคคลที่เป็นตัวตน หากแต่เขียนภาพความสมบูรณ์ของบุคคลในความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึก และความศรัทธาในความ "ขลัง" มากกว่าจะเขียนภาพตามคติและความเป็นจริง (วินัย ปราบริปู จากบทความ 'ภาพหนุ่มกระซิบบันลือโลก ณ วัดภูมินทร์ เป็นภาพศิลปินจริงหรือ?)
วัดภูมินทร์ จ.น่าน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามเป็นเอกลักษณ์
http://www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9560000085394
“จิตรกรรมฝาผนัง” เป็นอีกหนึ่งงานพุทธศิลป์ทรงคุณค่าที่แสดงถึงฝีมือและภูมิปัญญาของช่างเขียน ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวพุทธชาดก พุทธประวัติ คติคำสอนเตือนใจต่างๆ อีกทั้งในภาพจิตรกรรมฝาผนังยังสอดแทรกภาพวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นๆ
ที่มา http://www.lannatouring.com/Nan/Interesting-article/Murals-watphumin.htm
|