วิจิตรศิลป์ คืองานศิลปะที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อความงาม ความพอใจ มากกว่าประโยชน์ใช้สอย อาจเรียกอีกอย่างว่า ศิลปะบริสุทธิ์ ( pure art ) เพราะศิลปินจะสร้างสรรค์งานขึ้นมาด้วยความพอใจ ความบริสุทธิ์ใจ มิได้หวังผลตอบแทนใดๆ หรืออาจเพื่อประโยชน์บ้าง แต่ก็เน้นความละเอียดลออในการสร้างสรรค์ให้วิจิตรพิสดารหรูหราเกินความจำเป็นแก่ประโยชน์ใช้สอย จึงอาจเรียกศิลปะสาขานี้ว่า ประณีตศิลป์
วิจิตรศิลป์ แบ่งออกเป็น 8 ประเภท
1. จิตรกรรม
จิตรกรรม ( painting ) คือการเขียนภาพลงบนวัตถุต่างๆ เช่น กระดาษ ไม้อัด ผ้าใบ ผนังปูน ฯลฯ สีที่ใช้ในการเขียน เช่น สีน้ำ สีโปสเตอร์ สีฝุ่น สีชอล์ก สีน้ำมัน สีอะคริลิก ผงถ่านคาร์บอน ภาพที่เขียนมีหลายลักษณะ เช่น ภาพคนเหมือน (portrait)
ภาพสัตว์ (animal) ภาพทิวทัศน์บก (landscape) ภาพทิวทัศน์ทะเล (seascape)
ภาพหุ่นนิ่ง (still life) ภาพชีวิตประจำวัน (genre painting) ภาพประกอบ (illustration)
2. ประติมากรรม
ประติมากรรม ( sculpture ) หมายถึง งานศิลปกรรมที่สร้างเป็นรูปทรง 3 มิติ โดยวิธีการแกะสลัก การปั้น หรือการใช้หลายวิธีการร่วมกัน ได้แก่ การปั้น การแกะสลัก การหล่อ การทุบ การตี การเคาะ วัสดุที่ใช้ ได้แก่ ดิน ขี้ผึ้ง สบู่ ไม้ หิน ปูนปลาสเตอร์ โลหะต่างๆ งานประติมากรรมมีลักษณะเป็น 3 มิติ กล่าวคือ นอกจากความกว้างและความยาวแล้ว ยังมีความหนาหรือความลึกรวมทั้งปริมาตรของรูปทรงด้วยงานประติมากรรมแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
2.1. ประติมากรรมนูนต่ำ (bas - relief)
มีลักษณะเป็นเส้นร่องหรือเป็นแอ่งลึกลงไปเพียงเล็กน้อย หรือนูนจากพื้นขึ้นมาเพียงเล็กน้อยสามารถมองด้านหน้าได้เพียงด้านเดียว เช่น เหรียญ ศิลาจารึก ฯลฯ
2.2. ประติมากรรมนูนสูง ( high – relief )
คืองานที่มีลักษณะนูนขึ้นมาจากผิวพื้นมากกว่าแบบนูนต่ำ สามารถมองเห็นด้านข้างของงานได้พอสมควร เช่น รูปแกะสลักเทพอัปสรแห่งนครวัด รูปแกะสลักที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ
2.3. ประติมากรรมลอยตัว
เป็นงานที่มีลักษณะมองเห็นได้รอบด้าน เช่น รูปหล่อทหาร – ตำรวจที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระประธานในพระอุโบสถ ฯลฯ
3. สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรม (architecture) หมายถึง การออกแบบก่อสร้างอาคารสถานที่ เช่น ที่อยู่อาศัย สาธารณสถาน ศาสนสถาน ฯลฯ โดยคำนึงถึงความสะดวกเหมาะสมกับการใช้สอย ความมั่นคงแข็งแรงความสวยงามน่าชื่นชม ซึ่งถ้างานก่อสร้างอาคารสถานที่แห่งใดมีความวิจิตรหรือประดับประดาสวยงามเกินจุดมุ่งหมายแค่เพียงที่อยู่อาศัย หรือใช้สอยอื่นๆก์ยิ่งมีคุณค่าในทางวิจิตรศิลป์มากยิ่งขึ้น
4. ภาพพิมพ์
ภาพพิมพ์ (print) เป็นงานที่มีลักษณะเป็น 2 มิติบนพื้นระนาบคล้ายกับงานจิตรกรรม ต่างกันคือภาพพิมพ์จะต้องสร้างสรรค์บนแม่พิมพ์ก่อน แล้วจึงนำไปพิมพ์บนแผ่นภาพ การพิมพ์ภาพมีหลายเทคนิควิธีการ เช่น ภาพพิมพ์ตะแกรงไหม (sillk screen) ภาพพิมพ์กัดกรด (etching) ภาพพิมพ์สเตนซิล (stencil) ภาพพิมพ์แกะไม้ (woodcut) ฯลฯ
5. สื่อผสม
สื่อผสม (mixed media) เป็นงานวิจิตรศิลป์ที่ผสมผสานงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ หรือเทคนิควิธีการต่างๆเข้าด้วยกัน อาจมีลักษณะเป็น 2 มิติหรือ 3 มิติก็ได้
6. ศิลปะภาพถ่าย
การถ่ายภาพ (photography) ที่จัดอยู่ในประเภทวิจิตรศิลป์นั้นเป็นการถ่ายภาพที่ใช้เทคนิค และวิธีการที่แปลกกว่าภาพถ่ายที่ทำให้ผู้ชมเกิคความคิดความเจริญทางสติปัญญา มีผลในทางสร้างสรรค์ มิใช่ภาพอนาจารหรือภาพถ่ายโดยทั่วไป
7. วรรณกรรม
วรรณกรรม (literature) หมายถึงงานประพันธ์ต่างๆทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เป็นการแสดงออกถึงศิลปะในการใช้ภาษา โดยการเรียบเรียงถ้อยคำอย่างสละสลวยและเหมาะสม เพื่อถ่ายทอดความรู้ความคิดของผู้ประพันธ์ หรือเป็นการเล่าเรื่องหรือพรรณนาถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
8. ดนตรีและนาฎศิลป์
ดนตรี (music) หมายถึง ศิลปะที่แสดงออก โดยการเรียบเรียงระดับเสียงสูงต่ำที่ใช้ความรู้สึก และจินตนาการสร้างสรรค์ผสมผสานกันอย่างลงตัวผ่านเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เพื่อให้เกิดความไพเราะ ส่วนนาฎศิลป์ (drama) เป็นการแสดงออกทางลีลา ท่าทางการรำ การแสดงโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความงาม ความพอใจ งานศิลปะประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และศิลปะภาพถ่าย เป็นศิลปะที่เรารับรู้ และชื่นชมได้โดยใช้ประสาทสัมผัสทางตาด้วยการมองเห็น เราจึงเรียกรวมศิลปะทั้ง 6 ประเภทนี้ว่า ทัศนศิลป์ (visual art) ส่วนศิลปะประเภทวรรณกรรม และดนตรีและนาฎศิลป์ เรียกว่า โสตทัศนศิลป์(audiovisual art)
ที่มา :http://www.thaigoodview.com/node/40313
 |