การทำผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะ
ประวัติ
ผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะ เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีการทำ โดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้มระบายสี หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ผ้าบาติกบางชิ้นอาจจะผ่านขั้นตอน การปิดเทียน แต้มสี ระบายสีและย้อมสีนับเป็นสิบๆครั้งส่วนผ้าบาติก อย่างง่ายอาจทำโดยการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียน แล้วจึงนำไปย้อมสี ที่ต้องการ คำว่าบาติก {Batik} หรือปาเต๊ะ เดิมเป็นคำในภาษาชวาใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำว่า "ติก" มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ตริติก หรือ ตาริติก ดังนั้นคำว่า บาติก จึงมีความหมายว่า เป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ ด่างๆ แม้ว่าการทำผ้าบาติกในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม แต่ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของผ้าบาติก ก็คือจะต้องมีวิธีการผลิต โดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี หรือปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีซ้ำอีก
แหล่งกำเนิดผ้าบาติก
แหล่งกำเนิดของผ้าบาติกมาจากไหนยังไม่เป็นที่ยุติ นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนเชื่อว่ามีในอินเดียก่อนแล้ว จึงแพร่หลายเข้าไปในอินโดนีเซีย อีกหลายคนว่ามาจากอียิปต์หรือเปอร์เซีย แม้ว่าจะได้มีการค้นพบผ้าบาติกที่มีอายุเก่าแก่ในประเทศอื่นๆ ทั้งอียิปต์ อินเดียและญี่ปุ่น แต่บางคนก็ยังเชื่อว่าผ้าบาติกเป็นของดั้งเดิมของอินโดนีเซีย และยืนยันว่าศัพท์เฉพาะที่เรียกวิธีการ และขั้นตอนในการทำผ้าบาติกเป็นศัพท์ภาษาอินโดนีเซียสีที่ใช้ย้อมกันก็มาจากพืชในอินโดนีเซียสูงกว่าที่ทำกัน ในอินโดนีเซีย และ จากการศึกษาค้นคว้าของ N.J.Kron นักประวัติศาสตร์ชาวดัตซ์ก็สรุปไว้ว่า การทำโสร่งบาติกหรือโสร่งปาเต๊ะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนติดต่อกับอินเดีย จากการศึกษาของบุคคลต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า วิธีการทำผ้าบาติกของอินโดนีเซียได้รับการเผยแพร่ไปยังชาติอื่นๆ ส่วนการทำผ้าโสร่งบาติกนั้น คงมีกำเนิดจากอินโดนีเซียค่อนข้างแน่นอน
ขั้นตอนและวิธีการทำ
ขั้นตอนที่ 1 นำผ้าที่ทำความสะอาดแล้ว นำมาขึงให้ตึงกับกรอบไม้บาติก โดยวิธีการขลิบผ้าแล้วเขียนลาย เขียนลวดลาย หรือภาพที่ต้องการ ลงบนผ้า ที่เตรียมไว้ ด้วยดินสอ 2 Bขึ้นไป
ขั้นตอนที่ 2 ใช้น้ำเทียนที่ตั้งไฟจนละลาย มาทาบนเฟรมแล้วนำผ้ามาวางขึงบนเฟรมให้ตึง น้ำเทียนจะเป็นตัวจับผ้ากับเฟรม ขูดผ้าบริเวณขอบเฟรมด้วยเหรียญ หรือด้ามช้อน เพื่อให้ผ้าจับกับเฟรมแน่นขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 จู่มชานติ้งในน้ำเทียนให้ชานติ้งร้อน เดินเทียนขณะที่เทียนอุ่นกำลังดี เขียนเส้นที่ต้องการ เส้นเทียนไม่ควรใหญ่เกิน 2 –3 ม.ม. ควรถือกระดาษทิชชูไว้รอง เพื่อป้องกันการหยดของน้ำเทียนขณะเขียนลาย เพราะถ้าน้ำเทียนหยดใส่ตรงจุดใดแล้วสีจะไม่ติด เวลาวาดเส้นเทียน ถ้าเส้นเทียนเริ่มเล็กลง และเป็นสีขุ่นแสดงว่าเทียนเริ่มแข็งจะไม่ซึมเข้าเนื้อผ้า ให้รีบขูดออกแล้ววาดใหม่ ไม่เช่นนั้นเวลาลงสี สีจะซึมออกนอกขอบเทียน
ขั้นตอนที่ 4 ผสมสีตามอัตราส่วนเข้มมาก เข้มน้อย และสีแต่ละแบบ ระบายสีตามลาย ส่วนไหนจะให้สีกลมกลืนกันให้ใช้ปลายนิ้วไล่สีไป – มาให้กลมกลืนกันก่อนระบายสีควรระบายน้ำที่ผืนผ้าก่อน ถ้าผ้ามีน้ำแฉะมากเกินไปให้ซับด้วยกระดาษทิชชู เวลาจะระบายสี ให้ระบายจากส่วนริมก่อน หรือตามแนวลูกศรของลาย เพราะบางลายต้องการไล่สีจากเข้มไปหาอ่อน หรือส่วนขอบเข้าหาตรงกลางเสมอ (การระบายน้ำบนผ้าก่อน เพื่อเวลาระบายสีจะได้ไม่เป็นคราบสีเข้มตรงขอบลาย) ระบายพื้น เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผึ่งให้สีแห้ง
ขั้นตอนที่ 5 ทาน้ำยากันสีตก ทาโซเดียมซิลิเกต ให้ทั่วลายที่ลงสีไว้ (ถ้าโซเดียมซิลิเกตข้นเกินไปให้ผสมน้ำได้เล็กน้อย แล้วคนให้เข้ากัน) ผึ่งให้โซเดียมซิลิเกตแห้งหรือประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง เวลาผึ่งผ้าเพื่อรอให้สีหรือโซเดียมซิลิเกตแห้ง ต้องผึ่งผ้าให้ราบกับพื้น อย่าตั้งขึ้นหรือตะแคงเป็นอันขาดเพราะสีจะไหลซึมเข้าหากัน
ขั้นตอนที่ 6 ละลายเทียนออก นำผ้าที่ลงโซเดียมซิลิเกตจนแห้งแล้วไปซักทำความสะอาดให้สี และโซเดียมซิลิเกตออก แล้วต้มให้เทียนออก ซักกับผงซักฟอก แล้วซักในน้ำเปล่าให้สะอาด นำไปผึ่ง รีดให้เรียบร้อย
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งผ้าบาติก
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งผ้าบาติกสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน และอาชีพเสริมให้กับกลุ่มทักษิณเมืองทองบาติก และผู้ที่สนใจในชุมชน สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ให้สามารถคิดเอง ทำเอง ในการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น
ประโยชน์ของผ้าบาติก
ประโยชน์ของผ้าบาติก คือ สามารถนำไปใช้ในเครื่องนุ่งห่ม , เสื้อผ้า , ภาพประดับสวยงาม ,ของตกแต่งภายในบ้าน , ของฝากที่ระลึกและอื่น ๆ
ขอบคุณเวบไซต์
http://web.yru.ac.th/science/culture/index.php/
|