<< Go Back 

ที่มา : http://www.thaidances.com/data/2.asp

             ละครชาตรี นับเป็นละครที่มีมาแต่สมัยโบราณ และมีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่นๆ มีลักษณะเป็นละครเร่คล้ายของอินเดียที่เรียกว่า "ยาตรี" หรือ "ยาตราซึ่งแปลว่าเดินทางท่องเที่ยว ละครยาตรานี้คือละครพื้นเมืองของชาวเบงคลีในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นละครเร่ นิยมเล่นเรื่อง "คีตโควินท์" เป็นเรื่องอวตารของพระวิษณุ ตัวละครมีเพียง ๓ ตัว คือ พระกฤษณะ นางราธะ และนางโคปี ละครยาตราเกิดขึ้นในอินเดียนานแล้ว ส่วนละครรำของไทยเพิ่งจะเริ่มเล่นในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยา จึงอาจเป็นได้ที่ละครไทยอาจได้แบบอย่างจากละครอินเดีย เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของอินเดียแพร่หลายมายังประเทศต่างๆในแหลมอินโดจีน เช่น พม่า มาเลเซีย เขมร และไทย จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกันอยู่มาก

               ในสมัยโบราณละครชาตรีเป็นที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย เรื่องที่แสดงคงจะนิยมเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า "โนห์ราชาตรี" เพราะชาวใต้ชอบพูดตัดพยางค์หน้า สันนิษฐานว่าละครชาตรีได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ ครั้ง คือ

             ใน พ.ศ. ๒๓๑๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช และพาขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพวกละคร 

             ใน พ.ศ. ๒๓๒๓ ในวานฉลองพระแก้วมรกต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวงผู้หญิงของหลวง 

             ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมัยที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้ลงไปปราบ และระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ พวกชาวใต้จึงอพยพติดตามขึ้นมาด้วย รวมทั้งพวกที่มีความสามารถในการแสดงละครชาตรี 

             นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดละครชาตรีมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อน เดิมนั้นพระเทพสิงขร บุตรของนางศรีคงคา ได้หัดละครที่กรุงศรีอยุธยา ขุนสัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงขร ได้นำแบบแผนละครลงไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นปฐม จึงได้เล่นละครสืบต่อกันมา โดยมากในเวลานี้เราเข้าใจว่า "โนห์รา" เป็นแบบแผนการละครของชาวปักษ์ใต้ แต่ความจริงโนห์ราเป็นแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ เป็นแต่เสียงร้องเพี้ยนไปอย่างเสียงคนปักษ์ใต้เท่านั้น ในสมัยต่อมา การละครของกรุงศรีอยุธยาได้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ทางปักษ์ใต้คงแสดงตามแบบเดิมอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ดังนั้นถ้าเราใคร่จะดูละครเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาในสมัยต้นๆอย่างแท้จริงก็ต้องดูโนห์รา

             ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน เรียกว่า "ละครชาตรีเข้าเครื่อง" หรือ "ละครชาตรีเครื่องใหญ่" การแสดงแบบนี้บางทีก็มีฉากแบบละครนอก แต่บางครั้งก็ไม่มีฉากอย่างละครชาตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบก็ใช้แบบผสม คือใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์ของละครนอก การแสดงเริ่มด้วยการรำซัดชาตรี แล้วลงโรง จับเรื่องด้วย "เพลงวา" แบบละครนอก ส่วนเพลง และวิธีการแสดงก็ใช้ทั้งละครชาตรี และละครนอกปนกัน การแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน และนิยมมาแสดงเป็นละครแก้บนตามสถานที่ต่างๆ


ที่มา : http://www.thaidances.com/data/2.asp

ผู้แสดง
          ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ ตัวนายโรง ตัวนาง และตัวตลก แต่มาถึงยุคปัจจุบันมักนิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงเสียส่วนใหญ่

การแต่งกาย
          ละครชาตรีแต่โบราณไม่สวมเสื้อ เพราะทุกตัวใช้ผู้ชายแสดง ตัวยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่นก็นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าคาดเจียระบาดมีห้อยหน้า ห้อยข้าง สวมสังวาล ทับทรวง กรองคอกับตัวเปล่า บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้น การผัดหน้าในสมัยโบราณใช้ขมิ้นลงพื้นสีหน้าจนนวลปนเหลือง ไม่ใช่ปนแดงอย่างเดี๋ยวนี้ ส่วนการแต่งกายในสมัยปัจจุบันมักนิยมแต่งเครื่องละครสวยงาม เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "เข้าเครื่องหรือยืนเครื่อง"

เรื่องที่แสดง
          ในสมัยโบราณ ละครชาตรีนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ โดยเฉพาะเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา กับรถเสน (นางสิบสอง) นอกจากนี้ยังมี บทละครชาตรีที่นำมาจากบทละครนอก (สำนวนชาวบ้าน) ได้แก่ ลักษณวงศ์ ตอนถวายพราหมณ์ถึงฆ่าพราหมณ์เกสร แก้วหน้าม้า ตะเพียนทอง สังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์ วงษ์สวรรค์ - จันทวาท ตอนตรีสุริยาพบจินดาสมุทร โม่งป่า พระพิมพ์สวรรค์ สุวรรณหงส์ ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า โกมินทร์ พิกุลทอง พระทิณวงศ์ กายเพชร กายสุวรรณ อุณรุฑ พระประจงเลขา จำปาสี่ต้น ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัย ๖๐ ปีมาแล้ว ต้นฉบับบางเรื่องยังหาไม่พบก็มี

การแสดง
          เริ่มต้นจะต้องทำพิธีบูชาครูเบิกโรง หลังจากนั้นปี่พาทย์ก็โหมโรงชาตรี ตัวยืนเครื่องออกมารำซัดหน้าบทตามเพลง การรำซัดนี้สมัยโบราณขณะร่ายรำผู้แสดงจะต้องว่าอาคมไปด้วย เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร และการกระทำย่ำยีต่างๆ วิธีเดินวนรำซัดก่อนแสดงนี้จะรำเวียนซ้าย เรียกว่า "ชักใยแมงมุม" หรือ "ชักยันต์" ต่อจากรำซัดหน้าบทเวียนซ้ายแล้วก็เริ่มจับเรื่อง ตัวแสดงขึ้นนั่งเตียงแสดงต่อไป การแสดงละครชาตรีตัวละครร้องเองไม่ต้องมีต้นเสียง ตัวละครที่นั่งอยู่ที่นั้นก็เป็นลูกคู่ไปในตัว และเมื่อเลิกการแสดงจะรำซัดอีกครั้งหนึ่ง ว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวาเรียกว่า "คลายยันต์" เป็นการถอนอาถรรพ์ทั้งปวง

ดนตรี
          วงดนตรีปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงมี ปี่ สำหรับทำทำนอง ๑ โทน ๒ กลองเล็ก (เรียกว่า "กลองชาตรี") ๒ และฆ้อง ๑ คู่ แต่ละครชาตรีที่มาแสดงกันในกรุงเทพฯ นี้ มักตัดเอาฆ้องคู่ออกใช้ม้าล่อแทน ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย

เพลงร้อง
          ในสมัยโบราณตัวละครมักเป็นผู้ด้นกลอน และร้องเป็นทำนองเพลงร่าย และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า "ชาตรี" อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี รำชาตรี ชาตรีตะลุง

สถานที่แสดง
          ใช้บริเวณบ้าน ที่กลางแจ้ง หรือศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย แม้ฉากก็ไม่ต้องมี บริเวณที่แสดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัย อีก ๑ เสา เสานี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์) เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางดรง เสานี้ในภายหลังใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่างๆ) เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว

    << Go Back