ละครพันทาง
ละครพันทาง เป็นละครแบบผสม ผู้ให้กำเนิดละครพันทางคือ เจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ท่านเป็นเจ้าของคณะละครมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่เพิ่งมาเป็นหลักฐานมั่นคงในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแต่เดิมก็แสดงละครนอก ละครใน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านไปยุโรปจึงนำแบบละครยุโรปมาปรับปรุงละครนอกของท่าน ให้มีแนวทางที่แปลกออกไป ละครของท่านได้รับความนิยมมากในปลายรัชกาลที่ ๕ และสิ่งที่ท่านได้สร้างให้เกิดในวงการละครของไทย คือ
- ตั้งชื่อโรงละครแบบฝรั่งเป็นครั้งแรก เรียกว่า "ปรินซ์เทียเตอร์"
- ริเริ่มแสดงละครเก็บเงิน (ตีตั๋ว) ที่โรงละครเป็นครั้งแรก
- การแสดงของท่านก่อให้เกิดคำขึ้นคำหนึ่ง คือ "วิก" เหตุที่เกิดคำนี้คือ ละครของท่านแสดงสัปดาห์ละครั้ง คนที่ไปดูก็ไปกันทุกๆสัปดาห์ คือ ไปดูทุกๆวิก มักจะพูดกันว่าไปวิก คือ ไปสุดสัปดาห์ด้วยการไปดูละครของท่านเจ้าพระยา
เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม โรงละครของท่านตกเป็นของบุตร คือ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (บุศย์) ท่านผู้นี้เรียกละครของท่านว่า "ละครบุศย์มหินทร์" ละครโรงนี้ได้ไปแสดงในยุโรปเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยไปแสดงที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้มีคณะละครต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครบทละครเรื่อง "พระลอ (ตอนกลาง)" นำเข้าไปแสดงถวายรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ทรงตั้งคณะละครขึ้นชื่อว่า "คณะละครหลวงนฤมิตร" ได้ทรงนำพระราชพงศาวดารไทยมาทรงพระนิพนธ์เป็นบทละคร เช่น เรื่องวีรสตรีถลาง คุณหญิงโม ขบถธรรมเถียร ฯลฯ ทรงใช้พระนามแฝงว่า "ประเสริฐอักษร" ปรับปรุงละครขึ้นแสดง โดยใช้ท่ารำของไทยบ้าง และท่าของสามัญชนบ้าง ผสมผสานกัน เปลี่ยนฉากไปตามเนื้อเรื่อง เรียกว่า "บทละครพระราชพงศาวดาร" และเรียกละครชนิดนี้ว่า "ละครพันทาง"
ผู้แสดง
มักนิยมใช้ผู้แสดงชาย และหญิงแสดงตามบทบาทตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง
การแต่งกาย
ไม่แต่งกายตามแบบละครรำทั่วไป แต่จะแต่งกายตามลักษณะเชื้อชาติ เช่น แสดงเกี่ยวกับเรื่องมอญ ก็จะแต่งแบบมอญ แสดงเกี่ยวกับเรื่องพม่า ก็จะแต่งแบบพม่า เป็นต้น
เรื่องที่แสดง
ส่วนมากดัดแปลงมาจากบทละครนอก เรื่องที่แต่งขึ้นในระยะหลังก็มี เช่น พระอภัยมณี เรื่องที่แต่งขึ้นจากพงศาวดารของไทยเอง และของชาติต่างๆ เช่น จีน แขก มอญ ลาว ได้แก่ เรื่องห้องสิน ตั้งฮั่น สามก๊ก ซุยถัง ราชาธิราช เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่ปรับปรุงจากวรรณคดีเก่าแก่ของภาคเหนือ เช่น พระลอ
การแสดง
ดำเนินเรื่องด้วยคำร้อง เนื่องจากเป็นละครแบบผสมดังกล่าวแล้ว ประกอบกับเป็นละครที่ไม่แน่นอนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นบางแบบต้นเสียง และคู่ร้องทั้งหมดเหมือนละครนอก ละครใน บางแบบต้นเสียงลูกคู่ร้องแต่บทบรรยายกิริยา ส่วนบทที่เป็นคำพูด ตัวละครจะร้องเองเหมือนละครร้อง มีบทเจรจาเป็นคำพูดธรรมดาแทรกอยู่บ้าง ดังนั้นการที่จะทำให้ผู้ชมรู้เรื่องราว และเกิดอารมณ์ต่างๆจึงอยู่ที่ถ้อยคำ และทำนองเพลงทั้งสิ้น ส่วนท่าทีการร่ายรำมีทั้งดัดแปลงมาจากชาติต่างๆผสมเข้ากับท่ารำของไทย
ดนตรี
มักนิยมใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม เรื่องใดที่มีท่ารำ เพลงร้อง และเพลงดนตรีของต่างชาติผสมอยู่ด้วย ก็จะเพิ่มเครื่องดนตรีอันเป็นสัญลักษณ์ของภาษานั้นๆ เรียกว่า "เครื่องภาษา" เข้าไปด้วยเช่น ภาษาจีนก็มีกลองจีน กลองต๊อก แต๋ว ฉาบใหญ่ ส่วนพม่าก็มีกลองยาวเพิ่มเติมเป็นต้น
เพลงร้อง
ที่ใช้ร้องจะเป็นเพลงภาษา สำหรับเพลงภาษานั้นหมายถึงเพลงประเภทหนึ่งที่คณาจารย์ดุริยางคศิลปได้ประดิษฐ์ขึ้น จากการสังเกต และการศึกษาเพลงของชาติต่างๆ ว่ามีสำเนียงเช่นใด แล้วจึงแต่งเพลงภาษาขึ้นโดยใช้ทำนองอย่างไทยๆ แต่ดัดแปลงให้มีสำเนียงของภาษาของชาตินั้นๆหรืออาจจะนำสำเนียงของภาษานั้นๆมาแทรกไว้บ้าง เพื่อนำทางให้ผู้ฟังทราบว่า เป็นเพลงสำเนียงอะไร และได้ตั้งชื่อเพลงบอกภาษานั้นๆ เช่น มอญดูดาว จีนเก็บบุปผา ลาวชมดง ลาวรำดาบ แขกลพบุรี เป็นต้น คนร้องซึ่งมีตัวละคร ต้นเสียง และลูกคู่ จะต้องเข้าใจในการแสดงของละคร เพลงร้อง และเพลงดนตรีเป็นอย่างดี
สถานที่แสดง แสดงบนเวที มีการจัดฉากไปตามท้องเรื่องเช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์
|
|
ที่มา : http://www.thaidances.com/data/6.asp |
ที่มา : http://www.thaidances.com/data/6.asp |
|