|
การบรรเลงเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เล่นประกอบการบรรเลง หรือขับร้องบทเพลงต่าง ๆ ทำให้เกิดความไพเราะขึ้น การเล่นหรือการบรรเลงเครื่องดนตรีสามารถบรรเลงได้ 2 รูปแบบ คือ การบรรเลงเดี่ยวและการบรรเลงหมู่ ซึ่งต้องอาศัยหลักการบรรเลงดนตรีและองค์ประกอบทางดนตรี ดังนี้
1. หลักการบรรเลงดนตรี การบรรเลงดนตรีให้มีความไพเราะนั้นควรใช้หลักการโดยทั่วไป ดังนี้
1. เล่นให้ถูกต้องตามจังหวะและทำนองของเพลง
2. ปรับระดับเสียงของเครื่องดนตรีให้มีความกลมกลืนสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ในการบรรเลงเป็นวง
3. ปฏิบัติตามสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางดนตรีได้ถูกต้อง
4. ใช้หรือเล่นเครื่องดนตรีให้ถูกวิธีตามลักษณะเครื่องดนตรีชนิดนั้น
2. องค์ประกอบทางดนตรี ในการบรรเลงเครื่องดนตรี ผู้เล่นจะต้องรับรู้และเข้าใจองค์ประกอบทางด้านดนตรีด้วย เพื่อสามารถนำไปใช้ในการบรรเลงดนตรีได้ถูกต้อง ซึ่งองค์ประกอบทางดนตรี มีดังนี้
จังหวะ คือ อัตราความช้า-เร็วของบทเพลง ซึ่งมีสัญลักษณ์กำหนดไว้ในโน้ตเพลง
ทำนอง คือ แนวระดับเสียงของเพลงซึ่งมีทั้งเสียงสูง-ต่ำ นำมาเรียบเรียงให้อยู่ในแนวระดับที่ต้องการ
การประสานเสียง คือ การขับร้องและบรรเลงดนตรีพร้อม ๆ กัน หรือการขับร้องเป็นหมู่คณะโดยเสียงที่ได้จะต้องสอดคล้อง
กลมกลืนกัน
รูปแบบของบทเพลง คือ โครงสร้างของเพลงซึ่งจะกำหนดวรรคตอนเนื้อเพลง การซ้ำและการเปลี่ยนทำนองเพลง เป็นต้น
การใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีแต่ละชนิดถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการบรรเลงให้มีความแตกต่างกัน โดยมีวิธีเล่นตามลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรีชนิดนั้น ซึ่งผู้เล่นควรเล่นให้ถูกต้องตามวิธีเล่น นอกจากนี้ ผู้เล่นจะต้องรู้จักวิธีการดูแลรักษาเครื่องดนตรีที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อรักษาและสามารถใช้งานได้นานยิ่งขึ้น
1. การใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ
เครื่องดนตรีประเภทนี้ ใช้บรรเลงประกอบจังหวะ ซึ่งมีวิธีการเล่นหลายวิธี ดังนี้
1. การตีกระทบกันเอง เครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยวิธีนี้ มีหลายวิธี เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ เป็นต้น
2. การใช้ไม้นวมตี เครื่องดนตรีที่ใช้วิธีการบรรเลงนี้ ส่วนมากเป็นเครื่องดนตรี เช่น โหม่ง ฆ้อง เป็นต้น
3. การตีด้วยมือ การบรรเลงดนตรีด้วยวิธีการนี้ ใช้กับเครื่องดนตรีประเภทขึงด้วยหนัง เช่น กลองยาว โทน รำมาะนา เป็นต้น
4. การใช้ไม้เฉพาะตี ไม้ตีเฉพาะเป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้บรรเลงเครื่องดนตรีบางชนิด เช่น กลองชุด กลองแตร็ก เป็นต้น
2. การเก็บและดูแลรักษาเครื่องดนตรี
1. หลังจากใช้งานแล้ว ควรทำความสะอาดเครื่องดนตรีด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ล้างทำความสะอาด ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ด เป็นต้น
โดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามลักษณะของเครื่องดนตรี
2. เครื่องดนตรีที่มีกล่องใส่เฉพาะ ควรเก็บใส่กล่องก่อนนำไปเก็บ
3. การเก็บเครื่องดนตรีไว้ในตู้ ควรเก็บเครื่องดนตรีที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากไว้ด้านล่าง
4. การเก็บเครื่องดนตรี ควรแยกประเภทเก็บ เพื่อสะดวกในการค้นหาและนำมาใช้ในครั้งต่อไป
http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/2748-00/
|
|