ดนตรีเป็นศิลปะของเสียงที่เกิดจากความพากเพียรของมนุษย์ในการสร้างเสียงให้อยู่ในระเบียบของจังหวะ
ทำนอง สีสันของเสียงและคีตลักษณ์
องค์ประกอบของดนตรีสากล
ดนตรีไม่ว่าจะเป็นของชาติใด ภาษาใด ล้วนมีพื้นฐานมาจากส่วนต่างๆ
เหล่านี้ทั้งสิ้น ความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละส่วนแต่ละวัฒนธรรมนั้น
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่การที่จะแตกต่างกันอย่างไรนั้น
กรอบวัฒนธรรมของแต่ละสังคมจะเป็นปัจจัยที่กำหนดในตรงตามรสนิยมของแต่ละวัฒนธรรมจนเป็นผลให้สามารถแยกแยะดนตรีของชาติหนึ่งแตกต่างจากดนตรีของอีกชาติหนึ่งอย่างไร
องค์ประกอบของดนตรีสากล ประกอบด้วย
1. เสียง (Tone)
คีตกวีผู้สร้างสรรค์ดนตรี
เป็นผู้ใช้เสียงในการสร้างสรรค์ผลิตงานศิลปะเพื่อรับใช้สังคม
ผู้สร้างสรรค์ดนตรีสามารถสร้างเสียงที่หลากหลายโดยอาศัยวิธีการผลิตเสียงเป็นปัจจัยกำหนด
เช่น การดีด การสี การตี การเป่า
เสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศที่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนเสียงอึกทึกหรือเสียงรบกวน (Noise) เกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศที่ไม่สม่ำเสมอ
ลักษณะความแตกต่างของเสียงขึ้นอยู่กบคุณสมบัติสำคัญ 4ประการ
คือ ระดับเสียง ความยาวของเสียง ความเข้มของเสียง และคุณภาพของเสียง
1.1
ระดับเสียง (Pitch) หมายถึง ระดับความสูง-ต่ำของเสียง
ซึ่งเกิดการจำนวนความถี่ของการสั่นสะเทือน กล่าวคือ ถ้าเสียงที่มีความถี่สูง
ลักษณะการสั่นสะเทือนเร็ว จะส่งผลให้มีระดับเสียงสูง แต่ถ้าหากเสียงมีความถี่ต่ำ
ลักษณะการสั่นสะเทือนช้าจะส่งผลให้มีระดับเสียงต่ำ
1.2
ความสั้น-ยาวของเสียง (Duration) หมายถึง คุณสมบัติที่เกี่ยวกับความยาว-สั้นของเสียง
ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของการกำหนดลีลา จังหวะ ในดนตรีตะวันตก
การกำหนดความสั้น-ยาวของเสียง สามารถแสดงให้เห็นได้จากลักษณะของตัวโน้ต เช่น
โน้ตตัวกลม ตัวขาว และตัวดำ เป็นต้น สำหรับในดนตรีไทยนั้น
แต่เดิมมิได้ใช้ระบบการบันทักโน้ตเป็นหลัก แต่ย่างไรก็ตาม
การสร้างความยาว-สั้นของเสียงอาจสังเกตได้จากลีลาการกรอระนาดเอก ฆ้องวง
ในกรณีของซออาจแสดงออกมาในลักษณะของการลากคันชักยาวๆ
1.3 ความเข้มของเสียง (Intensity) ความเข้มของสียงเกี่ยวข้องกับน้ำหนักของความหนักเบาของเสียง
ความเข้มของเสียงจะเป็นคุณสมบัติที่ก่อประโยชน์ในการเกื้อหนุนเสียงให้มีลีลาจังหวะที่สมบูรณ์
1.4
คุณภาพของเสียง (Quality) เกิดจากคุณภาพของแหล่งกำเนิดเสียงที่แตกต่างกัน
ปัจจัยที่ทำให้คุณภาพของเสียงเกิดความแตกต่างกันนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
วิธีการผลิตเสียง รูปทรงของแหล่งกำเนิดเสียง และวัสดุที่ใช้ทำแหล่งกำเนิดเสียง
ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดลักษณะคุณภาพของเสียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญให้ผู้ฟังสามารถแยกแยะสีสันของสียง
(Tone Color) ระหว่างเครื่องดนตรีเครื่องหนึ่งกับเครื่องหนึ่งได้อย่างชัดเจน
2. พื้นฐานจังหวะ (Element of Time)
จังหวะเป็นศิลปะของการจัดระเบียบเสียง ที่เกี่ยวข้องกับความช้าเร็ว
ความหนักเบาและความสั้น-ยาว องค์ประกอบเหล่านี้ หากนำมาร้อยเรียง
ปะติดปะต่อเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการเชิงดนตรีแล้ว
สามารถที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดลีลาจังหวะอันหลากหลาย ในเชิงจิตวิทยา
อิทธิพลของจังหวะที่มีผลต่อผู้ฟังจะปรากฏพบในลักษณะของการตอบสนองเชิงกายภาพ เช่น
ฟังเพลงแล้วแสดงอาการกระดิกนิ้ว ปรบมือร่วมไปด้วย
3. ทำนอง (Melody)
ทำนองเป็นการจัดระเบียบของเสียงที่เกี่ยวข้องกับความสูง-ต่ำ
ความสั้น-ยาว และความดัง-เบา
คุณสมบัติเหล่านี้เมื่อนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของความช้า-เร็ว
จะเป็นองค์ประกอบของดนตรีที่ผู้ฟังสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด
ในเชิงจิตวิทยา ทำนองจะกระตุ้นผู้ฟังในส่วนของสติปัญญา
ทำนองจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความประทับใจ จดจำ
และแยกแยะความแตกต่างระหว่างเพลงหนึ่งกับอีกเพลงหนึ่ง
4. พื้นผิวของเสียง (Texture)
พื้นผิว เป็นคำที่ใช้อยู่ทั่วไปในวิชาการด้านวิจิตรศิลป์
หมายถึง ลักษณะพื้นผิวของสิ่งต่างๆ เช่น พื้นผิวของวัสดุที่มีลักษณะขรุขระ
หรือเกลี้ยงเกลา ซึ่งอาจจะทำจากวัสดุที่ต่างกัน
ในเชิงดนตรีนั้น พื้นผิว หมายถึง
ลักษณะหรือรูปแบบของเสียงทั้งที่ประสานสัมพันธ์และไม่ประสานสัมพันธ์
โดยอาจจะเป็นการนำเสียงมาบรรเลงซ้อนกันหรือพร้อมกัน
ซึ่งอาจพบทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ตามกระบวนการประพันธ์เพลง
ผลรวมของเสียงหรือแนวทั้งหมดเหล่านั้น จัดเป็นพื้นผิวตามนัยของดนตรีทั้งสิ้น
ลักษณะรูปแบบพื้นผิวของเสียงมีอยู่หลายรูปแบบ ดังนี้
4.1
Monophonic Texture
เป็นลักษณะพื้นผิวของเสียงที่มีแนวทำนองเดียว ไม่มีเสียงประสาน
พื้นผิวเสียงในลักษณะนี้ถือเป็นรูปแบบการใช้แนวเสียงของดนตรีในยุคแรกๆ
ของดนตรีในทุกวัฒนธรรม
4.2 Polyphonic Texture
เป็นลักษณะพื้นผิวของเสียงที่ประกอบด้วยแนวทำนองตั้งแต่สองแนวทำนองขึ้นไป
โดยแต่ละแนวมีความเด่นและเป็นอิสระจากกัน
ในขณะที่ทุกแนวสามารถประสานกลมกลืนไปด้วยกัน
ลักษณะแนวเสียงประสานในรูปของ Polyphonic Texture มีวิวัฒนาการมาจากเพลงชานท์ (Chant) ซึ่งมีพื้นผิวเสียงในลักษณะของเพลงทำนองเดียว (Monophonic Texture)
ภายหลังได้มีการเพิ่มแนวขับร้องเข้าไปอีกหนึ่งแนว
แนวที่เพิ่มเข้าไปใหม่นี้จะใช้ระยะขั้นคู่ 4 และคู่ 5
และดำเนินไปในทางเดียวกับเพลงชานท์เดิม
การดำเนินทำนองในลักษณะนี้เรียกว่า ออร์กานุ่ม (Orgonum) นับได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของการประสานเสียงแบบ
Polyphonic Texture หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา แนวทำนองประเภทนี้ได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก
ซึ่งเป็นระยะเวลาที่การสอดทำนอง (Counterpoint) ได้เข้าไปมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการตกแต่งพื้นผิวของแนวทำนองแบบ
Polyphonic Texture
4.3 Homophonic Texture
เป็นลักษณะพื้นผิวของเสียง ที่ประสานด้วยแนวทำนองแนวเดียว โดยมี
กลุ่มเสียง (Chords) ทำหน้าที่สนับสนุนในคีตนิพนธ์ประเภทนี้
แนวทำนองมักจะเคลื่อนที่ในระดับเสียงสูงที่สุดในบรรดากลุ่มเสียงด้วยกัน
ในบางโอกาสแนวทำนองอาจจะเคลื่อนที่ในระดับเสียงต่ำได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าคีตนิพนธ์ประเภทนี้จะมีแนวทำนองที่เด่นเพียงทำนองเดียวก็ตาม
แต่กลุ่มเสียง (Chords) ที่ทำหน้าที่สนับสนุนนั้น
มีความสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าแนวทำนอง การเคลื่อนที่ของแนวทำนองจะเคลื่อนไปในแนวนอน
ในขณะที่กลุ่มเสียงสนับสนุนจะเคลื่อนไปในแนวตั้ง
4.4 Heterophonic Texture
เป็นรูปแบบของแนวเสียงที่มีทำนองหลายทำนอง
แต่ละแนวมีความสำคัญเท่ากันทุกแนว คำว่า Heteros เป็นภาษากรีก หมายถึงแตกต่างหลากหลาย
ลักษณะการผสมผสานของแนวทำนองในลักษณะนี้ เป็นรูปแบบการประสานเสียง
5. สีสันของเสียง (Tone Color)
สีสันของเสียง หมายถึง คุณลักษณะของเสียงที่กำเนิดจากแหล่งเสียงที่แตกต่างกัน
แหล่งกำเนิดเสียงดังกล่าว
เป็นได้ทั้งที่เป็นเสียงร้องของมนุษย์และเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ
ความแตกต่างของเสียงร้องมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพศชายกับเพศหญิง
หรือระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานของการแตกต่างทางด้านสรีระ เช่น
หลอดเสียงและกล่องเสียง เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีนั้น
ความหลากหลายด้านสีสันของเสียง ประกอบด้วยปัจจัยที่แตกต่างกันหลายประการ เช่น
วิธีการบรรเลง วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรี รวมทั้งรูปทรง และขนาด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลโดยตรงต่อสีสันของเสียงเครื่องดนตรี
ทำให้เกิดคุณลักษณะของเสียงที่แตกต่างกันออกไป
5.1
วิธีการบรรเลง
อาศัยวิธีดีด
สี ตี และเป่า
วิธีการผลิตเสียงดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยให้เครื่องดนตรีมีคุณลักษณะของเสียงที่ต่างกัน
5.2 วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรี
วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีของแต่ละวัฒนธรรมจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของสังคมและยุคสมัย
วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน นับเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง
ที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในด้านสีสันของเสียง
5.3
ขนาดและรูปทรง
ลักษณะของเครื่องดนตรีที่มีรูปทรงและขนาดที่แตกต่างกัน
จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันในด้านสีสันของเสียงในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กัน
6. คีตลักษณ์ (Forms)
คีตลักษณ์หรือรูปแบบของเพลง
เปรียบเสมือนกรอบที่หลอมรวมเอาจังหวะ ทำนอง พื้นผิว
และสีสันของเสียงให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน เพลงที่มีขนาดสั้น-ยาว
วนกลับไปมา ล้วนเป็นสาระสำคัญของคีตลักษณ์ทั้งสิ้น