บทบาทของดนตรีที่มีต่อสังคม
ดนตรีเกิดขึ้นมาในโลกพร้อมๆ กับมนุษย์เรานั่นเอง ในยุคแรกๆ มนุษย์เรายังอาศัยอยู่ในป่าดง ในถ้ำ แม้ในโพรงไม้ก็รู้จักการร้องรำทำเพลงตามธรรมชาติ เช่นรู้จักการปรบมือ เคาะหิน เคาะไม้ เป่า ปาก เป่าเขา เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็มีการเปล่งเสียงร้องออกมาตามเรื่อง การร้องรำทำเพลงของมนุษย์ ในยุคนั้นก็ทำไปเพื่ออ้อนวอนพระเจ้า เพื่อช่วยให้ตนพ้นภัย บันดาลความสุขความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ให้แก่ตน หรือเพื่อเป็นการบูชา แสดงความขอบคุณพระเจ้าที่บันดาลให้ตนมีความสุขความสบาย
โลกได้ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ดนตรีก็ได้วิวัฒนาการไปตามความเจริญ และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เครื่องดนตรีในสมัยเริ่มแรกที่เคยใช้ก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นขั้นๆ กลายเป็นเครื่องดนตรี ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เพลงที่เคยร้องเพื่ออ้อนวอนพระเจ้า ก็กลายมาเป็นเพลงสวดทางศาสนาและ เพลงร้องโดยทั่วๆ ไปเป็นต้น
ในระยะแรกๆ นั้นดนตรีมีอยู่เพียงเสียงเดียวและแนวเดียวเท่านั้นเรียกว่า Melody ไม่มีการประสานเสียง เวลาผ่านไปหลายศตวรรษ จนถึงศตวรรษที่ 12 มนุษย์เราจึงเริ่มรู้จักใช้เสียงต่างๆ มาประสานกันอย่างง่ายๆ เกิดเป็นดนตรีหลายๆ เสียงขึ้นมา นับแต่นั้นเป็นต้นมา นักปราชญ์ทางดนตรีได้แบ่งดนตรีออกเป็นยุคต่างๆ ดังนี้
1. Polyphonic Period (ค.ศ. 1200-1650) ยุคนี้นับว่าเป็นยุคแรกและได้วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนมีแบบฉบับและหลักวิชาการดนตรีขึ้น มีวงดนตรีอาชีพ ตามโบสถ์ ตามบ้านเจ้านาย และมีโรงเรียนสอนดนตรี
2. Baroque Period (ค.ศ.1650-1750) ยุคนี้วิชาดนตรีได้เป็นปึกแผ่นมีแบบแผนความเจริญทางด้านนาฏดุริยางค์ (Dramatic Music) มีมากขึ้น ยุคนี้มีโรงเรียนสอนเกี่ยวกับอุปรากร (Opera) เกิดขึ้น มีนักดนตรีเอกของโลก 2 ท่าน เป็นผู้นำในยุคนี้ คือ J.S.Bach และ G.F.Handel.
3. Classical Period (ค.ศ. 1750-1820) ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ มีความรุ่งเรืองมากขึ้น มีนักดนตรีเอกของโลก 3 ท่าน เป็นผู้นำยุคนี้คือ Haydn Gluck และ Mozart
4. Romantic Period (ค.ศ. 1820-1900) ยุคนี้มีการใช้เสียงดนตรีที่เน้นถึงอารมณ์อย่างเด่นชัด มี Beethoven และยังมีนักดนตรีเอกของโลกคนอื่นๆ อีก เช่น Schubert Mendelssohn, Schumann, Chopin, Paganini, Liszt, Brahms และ Wagner เป็นต้น ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีเจริญถึงขีดสุด นับเป็น "ยุคทองของดนตรี"
5. Modern Period (ค.ศ. 1900-ปัจจุบัน) ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีเปลี่ยนแปลงไปมากดนตรีประเภทแจ๊ส (Jazz) กลับมามีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน
ประโยชน์ของดนตรี
ร่างกายของมนุษย์เราเจริญเติบโตได้ด้วยอาหาร นอกจากคนเราจะรับประทานอาหารทางปากแล้ว ยังต้องการอาหารทางหู ทางตา ทางใจ และทางสมองอีก ศิลปะการดนตรีและการละครเป็นอาหารของหูและตา วรรณคดีและศาสนาเป็นอาหารทางใจและสมอง อาหารเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างการ ศิลปะของการดนตรีและ ละครก็เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจ ขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใสเกิดความสามัคคี และเพื่อการพักผ่อนในเมื่อร่างกาย และสมองได้รับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงาน คนเราทุกคนมีความเป็นนักดนตรีอยู่ในตนเอง บางคนแม้ไม่สามารถ เล่นดนตรีหรือร้องเพลงได้ ก็ยังชอบฟังและชอบดูศิลปะการดนตรีและละครมีความสำคัญไม่น้อยกว่าศิลปะประเภทอื่น เป็นรากฐานแสดงถึงความเจริญของประเทศชาติทางหนึ่ง คือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องส่งเสริมให้ดำรงสืบต่อไป ศิลปะประเภทนี้ต้องใช้เวลาสั่งสอนอบรมกันมาก หากไม่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันอาจจะเสื่อมสูญไปได้ การดนตรีและละครของไทย เป็นสมบัติอันมีค่าของชาติ เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยใจคอของคนไทยได้ว่า คนไทยหรือชาติไทยเป็นชาติที่มีอารมณ์เบิกบาน มีความกรุณากล้าหาญอันจะสังเกตได้จากศิลปะการดนตรีและละคร ซึ่งดำเนินไปด้วยความอ่อนโยนและนิ่มนวล การที่เราได้ฟังเพลงเกิดความรู้สึกคึกคักร่าเริง จะเป็นเพลงชาติใดภาษาใดก็ตาม เหล่านี้เกิดจากศิลปะของการดนตรีทั้งสิ้น นักประพันธ์เพลงจะต้องถือกฎเกณฑ์อันเป็นระเบียบ มีวิธีแต่งและวิธีบรรเลงอย่างมี หลักเกณฑ์รวมทั้งฝีมือของผู้บรรเลงด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจและเกิดความชำนิชำนาญเสียก่อน ใน สมัยก่อน ความเจริญ และความเสื่อมของศิลปะ อยู่ที่ความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมือง ในเวลาบ้านเมืองสงบ ศิลปะทั้งปวงก็ เจริญรุ่งเรือง และได้รับการส่งเสริมจากประมุขของประเทศ เจ้านาย และประชาชนร่วมมือกัน และเมื่อมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ผู้ที่มีฝีมือ และความคิดก็พยายามขวนขวาย ทำการเผยแพร่ด้วยการสั่งสอนศิษย์และผู้สนใจมากมาย ในปัจจุบันศิลปะทางดนตรีและละครต่างประเทศกำลังแพร่หลายติดต่อและเปลี่ยนกันไปทั่วโลกคนไทยนิยมกันมาก อย่างไรก็ตามการนิยมยกย่องศิลปะอันเป็นศิลปะสากลนั้น ถ้านิยมด้วยความเข้าใจก็ไม่เสียหายอะไร การรับเอาของ ใหม่ที่ดีก็เป็นการสมควร แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องช่วยกันรักษาศิลปะประจำชาติไว้ด้วย
ดนตรีกับสื่อทางความคิด
ที่มาภาพ : http://www.1variety.com/LifeStyleDetailsPreview.aspx?PostLifeStyleTypeId=3&PostLifeStyleId=848
ดนตรีกับสื่อทางความคิด
ดนตรีหรือบทเพลงนั้นถือได้ว่าเป็นภาษาแห่งอารมณ์ ซึ่งนักแต่งเพลงได้พยายามกระตุ้นออกมาเป็นเสียงเพลง มีทั้งที่จงใจกระตุ้นและที่เกิดจากประสบการณ์ของตนเองซึ่งเพลงเป็นสื่อกลางในการติดต่อ และการทำความเข้าใจกันระหว่างมนุษย์ ที่เก่าแก่ที่สุด เพลงจึงเป็นภาษาหรือเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ในการสื่อความคิดต่อกัน ซึ่งการสื่อความคิดนี้จะมี ๒ ลักษณะคือ
1) การสื่อความคิดในเรื่องที่เป็นความจริง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ การสื่อความคิดประเภทนี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาถกเถียงมากนัก เนื่องจากเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่เป็นจริงด้วยเหตุผลและสามารถพิสูจน์ได้
2) การสื่อความคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าต่างๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการยอมรับในคุณค่าเหล่านั้นได้ การสื่อความคิดประเภทนี้ก็คือ การชักจูงให้คล้อยตาม ซึ่งก็หมายถึงเพลงประเภทปลุกใจซึ่งมีใช้กันอยู่ในทุกสังคมมนุษย์นั่นเอง
จากแนวคิดของ David J.Elliott นักปรัชญาดนตรี ได้ให้มุมมองของกระบวนการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการฟังไว้ว่า การฟังและกระบวนการรับรู้เป็นกระบวนการที่ไม่เป็นอิสระ ซึ่งมันจำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับบริบทของความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการได้ยิน ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และในการรับข้อมูลเกี่ยวกับการฟังของมนุษย์นั้นมีข้อจำกัด เราไม่สามารถรับรู้ข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างได้ในการฟังครั้งเดียว
การฟังและการรับรู้ของมนุษย์นั้นมีขอบเขตจำกัด แต่ในความเป็นจริงสมองของมนุษย์สามารถรับเสียงได้ทุกเสียง สมองของมนุษย์ไม่ได้ทำงานทีละภาคส่วน แต่ทุกส่วนของสมองทำงานพร้อมกัน ดังนั้นขณะที่มนุษย์กำลังรับรู้ถึงกระบวนการฟังต่าง ๆ นั้นสมองก็จะช่วยในการคัดสรรข้อมูลในขั้นต้น โดยพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏในด้านความตั้งใจ ความตระหนัก ตลอดจนการทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อการตัดสินใจในการรับการสื่อสารนั้น ๆ แต่ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อกระบวนการดังกล่าวขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย
จากแนวคิดดังกล่าวมองเห็นว่าบทบาทหน้าที่ของดนตรีเป็นตัวสื่อสารไปยังผู้รับสารโดยการแปลผลจากสิ่งที่ได้รับมาและส่งผ่านไปยังสมอง และส่งผลทางด้านจิตใจของผู้รับสารเป็นผู้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับ แต่ปัจจัยอีกอย่างในการตัดสินใจของผู้รับสารนั้นไม่สามารถละเลยบริบททางสังคม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมันสามารถ เป็นตัวสร้างการตัดสินใจในการรับสารได้เช่นกัน
ดนตรีกับความเคลื่อนไหวทางสังคม
การมองเห็นสถานะความเป็นจริงทางสังคมของดนตรีในเชิงปรัชญา โดยมองถึงการนำไปใช้ให้เกิดผลต่อการกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การส่งผ่านความคิดทางดนตรีคือแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจ หรือยั่วยุ ซึ่งมันเป็นสิ่งท้าทายที่เหนือความเชื่อ ดนตรีมักเกิดขึ้นเสมอ ๆ ต่อทีท่าของกิจกรรมมนุษย์ หรือบางสิ่งที่มนุษย์กระทำ ดนตรีคือการก่อรูปทางสังคมหรือเป็นการสร้างความทรงจำที่ตราตรึงให้กับสังคม รวมทั้งมันเป็นธรรมชาติและคุณค่าที่มีผลการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปฏิบัติการของดนตรีไม่ได้อาศัยรูปแบบที่ตายตัว แต่จะใช้แก่นแท้ที่มันอยู่ภายในจิตใจเป็นตัวสร้าง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันถูกสร้างขึ้นโดยสำนึกรวมหมู่ของมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่าดนตรีสามารถแยกแยะคนในสังคมได้ ซึ่งดนตรีหนีไม่พ้นกับการดำรงอยู่ในสถานะของการรองรับทางสังคม ดังนั้นดนตรีคือตัวตนของสังคม
จากแนวคิดข้างต้นเมื่อมองถึงดนตรีกับการเคลื่อนไหวทางสังคม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยนั้น คำอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ชัดเจนมีหลาย ๆ ช่วงเวลา ดังเช่น สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่คณะผู้ก่อการพยายามสร้างเพลงชาติขึ้นมาใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเพลงที่เกิดขึ้นมาใหม่เป็นของประชาชน เพลงสรรเสริญพระบารมีที่มีอยู่แล้วเป็นเพลงของพระมหากษัตริย์ ซึ่งภาพสะท้อนดังกล่าวเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เห็นความต่างที่ชัดเจนกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรืออีกปรากฏการณ์หนึ่งในยุคสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนโยบายเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามประเทศมาเป็นประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒ และได้ทำการปรับปรุงเพลงชาติเพื่อให้เข้ากับชื่อประเทศที่เปลี่ยนใหม่ รวมทั้งยุคดังกล่าวเป็นยุคของความพยายามสร้างชาติใหม่ ซึ่งมีหลายปัจจัยส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมทุกระดับ เช่น การให้ประชาชนทุกคนทำความเคารพเพลงชาติในตอนเช้าเวลา ๘.๐๐ น. และเย็นเวลา ๑๘.๐๐ น. ซึ่งทุกคนจะต้องหยุดยืนตรง ซึ่งประชาชนบางคนก็มีความรู้สึกชื่นชมแต่บางคนก็รู้สึกขบขันต่อสิ่งที่ได้กระทำ จากนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดเอกลักษณ์ใหม่ของสังคมที่ปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น
จากมุมมองข้างเป็นเพียงตัวอย่างบางประการของดนตรีกับความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองไทย ทำให้เห็นมุมมองของบทเพลงที่เกิดขึ้นภายใต้สภาวะเงื่อนไขทางสังคม ซึ่งมันสามารถเป็นปัจจัยในการสร้างสำนึกรวมหมู่ และนำไปสู่การเคลื่อนไหว ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนทางสังคมจากสถานการณ์หนึ่งไปอีกสถานการณ์หนึ่งได้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองไทยยังคงมีมิติเชิงซ้อนในการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนอีกหลาย ๆ กลุ่มชน เช่น กลุ่มที่แสดงความเห็นต่างกับรัฐอย่างชัดเจน หรือกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐแต่ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางสังคมได้ ซึ่งหน่วยทางสังคมดังกล่าวเป็นมุมมองการวิเคราะห์ในระดับจุลภาค ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคของสังคมการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บทบาทหน้าที่ของดนตรีที่มีต่อสังคมนั้นมีบทบาทอยู่หลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความสนุกนานและผ่อนคลายความเครียดให้กับประชาชนในสังคม การใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการช่วยบำบัดผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งการใช้ดนตรีเพื่อเป็นสื่อเพื่อสร้างพลังบางอย่างให้กับกลุ่มชนต่าง ๆ เพื่อสร้างความสำนึกให้เกิดขึ้นกับสังคมและประเทศชาติ ดังนั้นเราจะเห็นว่าดนตรีนั้นเปรียบเสมือนกับสถาบันหนึ่งในโครงสร้างทางสังคมที่สำคัญไม่แพ้กับสถาบัญอื่นๆในสังค
ขอบคุณที่มา
http://old-topic-47.blogspot.com/2007/08/blog-post_5290.html
http://www.cpss.ac.th/learnonline/art_noi_2/unit_4.html
|