<< Go Back

โทนรำมะนา

          

  โทน เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่เครื่องหนึ่งของไทย เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องหนัง ที่ขึงหนังหน้าเดียว เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา ที่ใช้อยู่ในวงดนตรีไทย มี ๒ ชนิดด้วยกัน คือ โทนชาตรี และโทนมโหรี ลักษณะของโทนโดยทั่วไปจะคล้ายกัน
            รำมะนา เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลอง ยานผายออก หุ่นกลองนั้น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง หรือชามอ่าง สันนิษฐานว่าได้แบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของมลายู ที่เรียกว่า "เรบานา" ที่นำเข้ามาแพร่หลายในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เดิมใช้ประกอบการร้องบันตน ซึ่งไทยได้แบบอย่างมาจากชวา ต่อมาใช้ประกอบการเล่นลำตัดและลิเกลำตัด ในการประกอบการเล่นลำตัดนั้นจะใช้รำมะนากี่ลูกก็ได้ โดยให้คนตีนั่งล้อมเป็นวงและเป็นลูกคู่ร้องไปด้วย รำมะนามีสองชนิด คือรำมะนาสำหรับวงมโหรี และรำมะนาสำหรับวงลำตัด

ลักษณะทางกายภาพของโทน รำมะนา
             โทนโดยลักษณะทางรูปร่างนั้น โทนมีชื่อเรียกตามรูปร่างที่ปรากฏ ๒ ชนิด คือ โทนชาตรี และ โทนมโหรี โทนชาตรี ตัวโทนทำด้วยไม้ขนุน ไม้สัก หรือไม้กระท้อน มีขนาดปากว้าง ๑๗ ซ.ม. ยาวประมาณ ๓๔ ซ.ม. มีสายโยงเร่งเสียง ใช้หนังเรียด โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผา ด้านที่ขึงหนังโตกว่าโทนชาตรี ขนาดหน้ากว้างประมาณ ๒๒ ซ.ม. ยาวประมาณ ๓๘ ซ.ม. สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าเหล้าเป็นเส้นเล็ก หรือใช้ไหมควั่นเป็นเกลียว ขึ้นหนังด้วย หนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือมหรือหนังงวงช้าง
           รำมะนา เป็นกลองที่ขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองที่ขึงหนังผายออก ตัวกลองสั้น รูปร่างมีลักษณะคล้ายชามกะละมัง มีอยู่ ๒ ชนิด คือ รำมะนามโหรีและรำมะนารำตัด รำมะนามโหรีมีขนาดเล็ก หน้ากว้างประมาณ ๒๖ ซ.ม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๗ ซ.ม. หนังที่ขึ้นหน้าตรึงด้วยหมุดโดยรอบ จะเร่งเสียงหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งที่เรียกว่า "สนับ" สำหรับใช้หนุนข้างในโดยรอบ ช่วยทำให้เสียงสูงได้ ส่วนรำมะนารำตัดมีขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ ๔๘ ซ.ม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๑๓ ซ.ม. ขึ้นหนังหน้าเดียว ใช้เส้นหวานผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก ซึ่งรองก้นใช้เป็นขอบของรำมะนาและใช้ลิ่มหลายๆอันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา




http://www.oknation.net/blog/print.php?id=851636

    << Go Back