<< Go Back

ดนตรีสมัยบาโรก (THE BARQUE PERIOD 1600-1750)

                       คำว่า “Baroque” มาจากคำว่า “Barroco” ในภาษาโปรตุเกสซึ่งหมายถึง “ไข่มุกที่มีสัณฐานเบี้ยว” (Irregularly shaped pearl) Jacob Burckhardt เป็นคนแรกที่ใช้คำนี้เรียกสไตล์ของงานสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เต็มไปด้วยการตกแต่งประดับประดาและให้ความรู้สึกอ่อนไหว (ไขแสง ศุขวัฒนะ,2535:96) 
                       ในด้านดนตรี ได้มีผู้นำคำนี้มาใช้เรียกสมัยของดนตรีที่เกิดขึ้นในยุโรป เริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 และมาสิ้นสุดลงราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นเวลาร่วม 150 ปี เนื่องจากสมัยบาโรกเป็นสมัยที่ยาวนานรูปแบบของเพลงจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา อย่างไรก็ตามรูปแบบของเพลงที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเด่นที่สุดของดนตรี 
                       บาโรกได้ปรากฏในบทประพันธ์ของ เจ.เอส.บาคและยอร์ช ฟริเดริค เฮนเดล ซึ่งคีตกวีทั้งสองนี้ได้แต่งขึ้นในช่วงเวลาครึ่งแรกของศตวรรษที่ 18
นตอนต้นสมัยบาโรกคีตกวีส่วนมากได้เลิกนิยมสไตล์โพลี่โฟนี (Polyphony) ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งแนวขับร้องแต่ละแนวในบทเพลงต่างมีความสำคัญทัดเทียมกันและหันมาสนใจสไตล์โมโนดี (Monody) ซึ่งในบทเพลงจะมีแนวขับร้องเพียงแนวเดียวดำเนินทำนอง และมีแนวสำคัญที่เรียกในภาษาอิตาเลี่ยนว่า “เบสโซคอนตินิวโอ (Basso Continuo)” ทำหน้าที่เสียงคลอเคลื่อนที่ตลอดเวลาประกอบ ทำให้เกิดคอร์ดขึ้นมา อย่างไรก็ตามคีตกวีรุ่นต่อมาก็มิได้เลิกสไตล์โฟลี่โฟนีเสียเลยทีเดียวหากยังให้ไปปรากฏในดนตรีคีย์บอร์ดในแบบแผนของฟิวก์ (Fugue) ออร์แกนโคราล (Organchorale) ตลอดจนทอคคาตา (Toccata) ซึ่งแต่งโดยใช้เทคนิค เคาน์เตอร์พอยท์ (Counterpoint)

                       ในสมัยบาโรก ดนตรีศาสนาในแบบแผนต่าง ๆ เช่น ออราทอริโอ แมส พาสชัน คันตาตา ในศาสนา (Church Cantata) คีตกวีก็นิยมแต่งกันไว้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แมสใน บี ไมเนอร์” ของ เจ.เอส. บาค และออราทอริโอ เรื่อง “The Messiah” ของเฮนเดล จัดได้ว่าเป็นดนตรีศาสนาที่เด่นที่สุดของสมัยนี้ 
                       ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของดนตรีสมัยบาโรกคือ การทำให้เกิด “ความตัดกัน”  (Contrasting) เช่น ในด้าน ความเร็ว – ความช้า ความดัง – ความค่อย การบรรเลงเดี่ยว – การบรรเลงร่วมกัน วิธีเหล่านี้พบในงานประเภท ตริโอโซนาตา (Trio Sonata) คอนแชร์โต กรอซโซ (Concerto Grosso) ซิมโฟเนีย (Simphonia) และคันตาตา (Cantata) ตลอดสมัยนี้คีตกวีมิได้ เขียนบทบรรเลงส่วนใหญ่ของเขาขึ้นอย่างครบบริบูรณ์ ทั้งนี้เพราะเขาต้องการให้ผู้บรรเลงมีโอกาสแสดงความสามารถการเล่นโดยอาศัยคีตปฏิภาณหรือการด้นสด (Improvisation) และการประดิษฐ์เม็ดพราย (Ornamentation) ในแนวของตนเอง 
                       ในสมัยบาโรกนี้การบันทึกตัวโน้ตได้รับการพัฒนามาจนเป็นลักษณะการบันทึกตัวโน้ตที่ใช้ในปัจจุบัน คือการใช้บรรทัด 5 เส้น การใช้กุญแจซอล (G Clef) กุญแจฟา (F Clef) กุญแจอัลโตและกุญแจเทเนอร์ (C Clef) มีการใช้สัญลักษณ์ตัวโน้ตและตัวหยุดแทนความยาวของจังหวะและตำแหน่งของตัวโน้ตบรรทัด 5 เส้น แทนระดับเสียงและยังมีตัวเลขบอกอัตราจังหวะมีเส้นกั้นห้องและสัญลักษณ์อื่น ๆ เพื่อใช้บันทึกลักษณะของเสียงดนตรี ดังนี้ (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535: 147)

อย่างไรก็ตามลักษณะทั่วไปของดนตรีสมัยบาโรก สามารถสรุปกว้าง ๆ ได้ดังนี้ (อนรรฆ จรัณยานนท์,ม.ป.ป. :56) 

1. เริ่มนิยมใช้สื่อที่ต่างกันตอบโต้กัน เช่น เสียงนักร้องกับเครื่องดนตรี การบรรเลงเดี่ยวตอบโต้กับการบรรเลงเป็นกลุ่ม 
2. นิยมใช้เบสเป็นทั้งทำนองและแนวประสาน เรียกว่า Basso Continuo และมีวิธีบันทึก เรียกว่า Figured bass 
3. เริ่มมีการประสานเสียงแบบ Homophony ซึ่งเป็นการประสานเสียงแบบอิงคอร์ด และหลายแนวหนุนแนวเดียวให้เด่น 
4. นิยมใช้บันไดเสียงเมเจอร์ (Major)และไมเนอร์ (Minor) แทนโมด (Mode) 
5. เคาน์เตอร์พอยท์ (Counterpoint) ยังคงเป็นคุณลักษณะเด่นของสมัยนี้อยู่ โฮโมโฟนี (Homophony) มีบทบาทหนุนส่งให้ เคาน์เตอร์พอยท์ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 
6. มีการระบุความเร็ว – ช้า และหนัก – เบา ลงไปในผลงานบ้าง เช่น adagio, andante และ allegro เป็นต้น 
7. เทคนิคของการ Improvisation ได้รับความนิยมสูงสุด 
8. มีคีตลักษณ์ (Form) ใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายแบบ 
9. มีการจำแนกหมวดหมู่ของคีตนิพนธ์ และบัญญัติศัพท์ไว้เรียกชัดเจน 
10. อุปรากร (Opera) ได้กำเนิดและพัฒนาขึ้นในสมัยนี้

 ประวัติผู้ประพันธ์เพลง

1. วิวัลดี (Antonio Vivaldi,1678-1741) 
                       ผู้ประพันธ์เพลงและนักไวโอลินชาวอิตาเลียน เกิดปี 1678 ที่เมืองเวนิสอันลือชื่อ เป็นลูกของนักไวโอลินประจำโบสถ์เซ็นต์มาร์ค (St.Mark's) ในเมืองเวนิส วิวัลดีได้รับการฝึกฝนเบื้องต้นทางด้านดนตรีจากพ่อ จากนั้นได้เรียนกับจีโอวานนี เลเกร็นซี (Giovanni Legrenzi) อาจารย์ดนตรีผู้มีชื่อเสียง วิวัลดีเป็นพระซึ่งรับผิดชอบการสอนดนตรีให้สถานเลี้ยงเด็กหญิงกำพร้าแห่งกรุงเวนิช 
                       จากกิริยาท่าทางความใจบุญสุนทานและผมสีแดงตลอดจนการแต่งเนื้อแต่งตัวสีสันก็กระเดียดไปทางพระของเขานั่น 
เองทำให้คนทั่วไปเรียกเขาว่า “II prete rosso” (the red priest) หรือเป็นภาษาไทยเรียกว่า “พระแดง” (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 :149) 
                       เพลงที่วิวัลดีแต่งโดยมากมักเป็นเพลงสำหรับร้องและเล่นด้วยเครื่องดนตรีประเภทสตริง (String) ซึ่งมีผู้ชอบฟังมาก และมีนักแต่งเพลงในศตวรรษที่ 20 ของอิตาลีคนหนึ่ง ชื่อ คาเซลลา (Casella) ได้เขียนยกย่องงานของ วิวัลดีไว้ว่า “เป็นผู้สร้างงานขึ้นมาด้วยความประณีตบรรจงอย่างยิ่งสามารถทำให้ผู้ฟังปล่อยอารมณ์เคลิบเคลิ้มตามเนื้อและทำนองเพลงได้โดยไม่รู้ตัว” งานของวิวัลดีมีมากมายไม่แพ้คีตกวีคนอื่น ๆ ปัจจุบันนี้งานของเขายังมีต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดเมืองเดรสเดน (Dresden Library) อย่างสมบูรณ์ 

                       วิวัลดีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1741 ที่เมืองเวียนนา ออสเตรีย อายุได้ 66 ปี โดยไม่มีตำราหรือเอกสารใด ๆ 
กล่าวถึงการสมรสจึงเชื่อว่าวีวัลดีไม่มีภรรยาไม่มีบุตร อยู่ตัวคนเดียวในวัยชราและจากโลกนี้ไปในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเอง

ผลงานที่มีชื่อเสียง
ผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของวิวัลดีได้แก่ คอนแชร์โต กรอซโซ ชุด “The Four Seasons”, Concerto in E minor for Cello & Orchestra, Concerto for violin in A minor,Concerto for Two Trumpet and Strings

2. บาค (Johann Sebastian Bach 1685-1750) 
                       เกิดวันที่ 21 มีนาคม 1685 ที่เมืองไอเซนาค (Eisenach) ประเทศเยอรมันเกิดในตระกูลนัก ดนตรีได้รับการศึกษาเกี่ยวกับดนตรีจากพ่อซึ่งเป็นนักไวโอลินในราช สำนักชื่อโยฮัน อัมโบรซีอุส บาค (Johann Ambrosius Bach) และญาติหลังจากพ่อเสียชีวิตลง บาคได้ไปอาศัยอยู่กับพี่ชาย โยฮันน์ คริสโตฟ บาค (Johann Chistoph Bach)
และบาคก็ขอให้พี่ชายช่วยสอนเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดให้ ต่อมาเรียนออร์แกนกับครูออร์แกนชื่อ เอลีอาส เฮอร์เดอร์ (Elias Herder) 
บาคเรียนเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ดได้เร็วมากพี่ชายเห็นบาคก้าวหน้าทางดนตรีและเล่นดนตรีเก่ง พอ ๆ กับตนเลยเกิดความอิจฉากลัวน้องจะเกินหน้าเกินตาจึงเก็บโน้ตดนตรีของตนทั้งหมดใส่ตู้ไม่ให้บาคเอาไปเล่น (ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์, 2535 :110) 
                       เมื่ออายุได้ 15 ปี เขาก็เริ่มเลี้ยงตัวเองโดยการเป็นนักออร์แกนและหัวหน้าวงประสานเสียงตามโบสถ์หลายแห่งใน 
ประเทศเยอรมันปี 1723 บาค ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยเพลงร้องที่โบสถ์ St.Thomas' Church ในเมือง Leipzig ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสูงสุดทางดนตรีของโบสถ์ในนิกาย Luther 
                       บาคเป็นนักออร์แกนและคลาเวียร์ที่มีฝีมือยอดเยี่ยมมากทีเดียว เขาเป็นผู้คิดวิธีการเล่นคลาเวียร์โดยการใช้หัวแม่มือและนิ้วก้อยเพิ่มเข้าไปเป็นคนแรก เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครเคยทำกันมาก่อน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ในการเล่นคลาเวียร์ในสมัยต่อมา 

                       บาคแต่งงานกับญาติตัวเองชื่อ มาเรีย บาร์บารา (Maria Barbara) ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1707 เมื่อเขาอายุได้ 20 ปี และมีลูก 7 คนก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงในปี 1720 บาคแต่งงานอีกครั้งกับนักดนตรีสาวชื่อแอนนา แมกดาเลนา วิลเคน (Anna Magdalena Wilcken)เดือนธันวาคม ค.ศ. 1721 และมีลูกด้วยกันอีก 13 คน ในบรรดาลูกทั้ง 20 คนมีเพียงคาร์ล ฟิลลิป เอมานูเอล (Carl Philip Emanuel Bach) ลูกคนที่ 2 และ โยฮัน คริสเตียน บาค (Johann Christian Bach) ลูกคนสุดท้องที่ได้กลายมาเป็นคีตกวีสำคัญในสมัยต่อ ๆ มาบาคถึงแก่กรรมเมื่อ ปี ค.ศ. 1750 ไม่มีใครเอาใจใส่เก็บรักษาผลงานของเขาไว้เลยปล่อยให้กระจัดกระจายหายไปมากต่อมาปี ค.ศ. 1829 เกือบร้อยปีหลังจากที่บาคถึงแก่กรรม เฟลิกซ์ เม็นเดิลโซห์น (Felix Mendelssohn) คีตกวีชาวเยอรมันได้นำเพลงเซ็นต์แม็ทธิวแพ็สชั่น (St.MatthewPassion) ของบาคออกแสดงที่กรุงเบอร์ลินจึงทำให้ชื่อเสียงของบาคเริ่มเป็นที่รู้จักขยายวงกว้างออกไปทำให้คนเห็นคุณค่างานของเขานอกจากนี้ยังถือว่าการถึงแก่กรรมของในปี ค.ศ. 1750 เป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดดนตรีสมัยบาโรกด้วย

ผลงานที่มีชื่อเสียง
                       มีมากมายแต่ขอยกตัวอย่างคือ Air on a G String, Brandenbarg Concerto No.2 in F, Mass in B minor, Toccata and Fugue in D minor etc…

3. ฮันเดล (George Frideric Handel,1685-1759) 
                       เกิดวันที่ 23กุมภาพันธ์ 1685 เกิดที่เมืองฮันเล (Halle) ประเทศเยอรมันแต่มามีชื่อเสียงและมีชีวิตในประเทศอังกฤษภายหลังแปลงสัญชาติเป็นอังกฤษ ฮันเดลเกิดในตระกูลผู้มีอันจะกิน พ่อเป็นหมอชื่อ Handel 
                       ในสมัยเด็กพ่อหวังให้ฮันเดลเรียนกฎหมายแต่ฮันเดลไม่ชอบแต่ดูเหมือนเขาไม่ชอบจึงเลือกทางที่ตัวเองชอบ คือดนตรีฮันเดลสนใจดนตรีตั้งแต่เด็กเขาสามารถเล่นไวโอลิน ฮาร์ปสิคอร์ด โอโบ และออร์แกนได้เมื่ออายุได้เพียง 11 ปี 
                       ถึงแม้พ่อของเขาจะไม่เต็มใจให้ลูกชายเรียนดนตรีแต่ก็ต้องจำใจส่งลูกไปเรียนดนตรีตามคำแนะนำของท่านดยุดผู้ที่เคารพนับถือ ดังนั้นเขาจึงได้เรียนออร์แกน และฮาร์ปสิคอร์ดกับครูดนตรีซึ่งเป็นนักออร์แกนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดผู้หนึ่งชื่อฟริดริค วิลเฮล์ม ซาเคา (Friedrich Wilheim Zachow) เป็นนักออร์แกนประจำอยู่ที่ Liebfrauenkirche ในเมืองฮัลเล นอกจากออร์แกนและฮาร์ปสิคอร์ดแล้วฮันเดลยังได้เรียนเทคนิคการเล่นไวโอลิน โอโบ คลาเวียร์ ตลอดจนการประสานเสียงและเคาน์เตอร์พอยท์ (Counterpoint) รวมทั้งแนวการแต่งเพลงเบื้องต้น แต่เครื่องดนตรีที่เขาเล่นได้ดีเป็นพิเศษคือฮาร์ปสิคอร์ด 

                       ในปี ค.ศ. 1703 ฮันเดลเริ่มประพันธ์ อิตาเลียนโอเปร่า (Italian Operas) ตั้งแต่ปี 1706-1710 เขาอยู่ในอิตาลี ได้มีโอกาสคลุกคลีและใกล้ชิดกับบุคคลชั้นนำทางดนตรีของอิตาเลียนหลายคน เช่น โดเมนีโค สคาร์แลทตี (Domenico Scarlatti) นักเล่นฮาร์ปสิคอร์ดและอาร์แคนเจโล คอเรลลี (Arcangelo Corelli) นักไวโอลินจากการคลุกคลีใกล้ชิดทำให้ฮันเดลได้รับอิทธิพลของทำนองเพลงอิตาเลียน (ณรุทธ์ สุทธจิตต์,2535 : 152) 
                       หลังกลับจากอิตาลีขณะนั้นฮัลเดลอายุย่าง 25 ปี ได้เดินทางไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการ วงดนตรีของท่านผู้ครองนครแห่งแฮโนเวอร์ (Hanover) ฮัลเดลทำงานอย่างไม่มีความสุข จากนั้นจึงย้ายไปที่กรุงลอนดอนในปี 1710 ฮันเดลเปิดการแสดงอุปรากรเรื่อง Rinaldo ขึ้นที่โรงละคร Haymarket Theater ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับจากชาวลอนดอนอย่างล้นหลาม 
                       ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ ค.ศ. 1711-1715 นั้น เขาเป็นแขกของท่านลอร์ด เบอร์ลิงตัน (Lord Burlington) และพักที่คฤหาสน์ของท่าน พอถึงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระราชินีแอนน์ (Queen Anne) ฮันเดลก็ได้เปิดการแสดงดนตรีขึ้นเป็นการเฉลิมฉลองและเพื่อถวายพระพร ต่อมาพระราชินีแอนน์ ทรงโปรดเขามากพระนางได้พระราชทานเงินเป็นเบี้ยเลียงชีพให้แก่เขาปีละ 200 ปอนด์ หลังจากพระราชินีแอนน์เสด็จสวรรคต พระเจ้ายอร์จที่ 1 (King George I of England) ขึ้นครองราชย์แทนพระองค์ทรงโปรดดนตรีมากที่สุดและจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้เขาเป็น 2 เท่า หรือ ปีละ 400 ปอนด์ 

                       ตลอดชีวิตของฮันเดลไม่เคยแต่งงานเลย เขาอุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่งานทางดนตรี เพลงของเขาที่แต่งขึ้นประกอบด้วย เพลงอุปรากรทั้งหมด 46 เรื่อง ออราทอริโอ 32 บท Italian Solo Cantatas 28 เพลง Chamber duets 20 เพลงและเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ กว่า 100 เพลง

                       ในวัยชราฮันเดลตาบอดต้องอาศัยเพื่อนสนิทผู้หนึ่งเป็นผู้คอยช่วยเหลือทำทุก ๆ อย่าง แม้ตาจะบอดแต่เขาก็ไม่ทิ้งงานประพันธ์ดนตรีโดยอาศัยเพื่อนผู้นี้เป็นคนคอยจดตามที่ฮันเดลบอก เขาถึงแก่กรรมวันที่ 14 เมษายน 1759 อายุ 74 ปี ศพถูกฝังไว้ในวิหารเวสต์มันสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ผลงานที่มีชื่อเสียง
                       Alexander's Feast ode for St. Cecilia's day,Hallelujah chorus Messiah,Organ Concerto in B flat : Allegro Opus No2,Water Music etc..

http://student.nu.ac.th/pick_ed/lesson5.htm

    << Go Back