<< Go Back

  ในที่นี้เราจะพูดถึงการแต่งเนื้อเพลง (คำร้อง) เนื่องจากอาชีพนี้ไม่ได้เป็นวิชาที่เปิดสอนตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย จึงจำเป็นที่ผู้ที่อยากประกอบอาชีพนี้ ทั้งชั่วคราวหรือถาวรก็ตามต้องขวนขวายเอาเอง ขอให้มี "ใจรัก" เป็นคุณสมบัติแรก ข้อต่อไปก็คือ "พรสวรรค์" หรือความถนัดในด้านการถ่ายทอดจินตนาการของตัวเองให้ออกมาเป็นภาษา แต่ถ้าคุณไม่ค่อยมีข้อนี้ก็ต้องอาศัย "การฝึกฝน" เป็นคุณสมบัติข้อสุดท้าย

ทีนี้เรามาพูดถึงหลักใหญ่ๆในการเขียนเพลงกัน เริ่มจาก
               ข้อที่ 1 อย่างที่บอกแล้วว่าคุณต้องมีความถนัดในการถ่ายทอดจินตนาการให้ออกมาเป็นคำเป็นภาษา ดังนั้นคุณต้องมีพื้นฐานภาษาไทยที่ดี คือ "ใช้ภาษาให้ถูกต้อง" ถ้าเจ้าบทเจ้ากลอนยิ่งดีใหญ่ ใช้ภาษาให้ถูกต้องอย่างไร ก็เช่นใช้คำให้ตรงความหมาย ใช้บุพบทให้ถูกที่ ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือยเกินไป ฯลฯ ซึ่งอันนี้ต้องไปเปิดวิชาการใช้ภาษา ไทยดูแล้วล่ะ (แต่ถ้าจะแต่งเพลงภาษาอื่น ก็คงต้องไปดูตำราภาษานั้นนะ) คุณอาจฝึกฝนด้วยการหัดแต่งกลอนแปดให้เป็นเรื่องเป็นราวดู เพราะเพลงที่ไพเราะต้อง "มีความคล้องจอง" ของคำเป็นสำคัญ ถ้าคุณเล่นดนตรีเป็นด้วย เช่น เล่นกีตาร์หรือคีย์บอร์ดได้ คุณก็อาจลองใส่คอร์ด ใส่ทำนองให้เข้ากับเนื้อเพลงของคุณ
               ข้อที่ 2 เกี่ยวเนื่องกับข้อแรก คือเมื่อคุณใช้ภาษาให้ถูกต้องแล้ว เวลาคุณรับDemoทำนองเพลงมา คุณต้องหาคำที่มีเสียงวรรณยุกต์เข้ากับทำนอง (melodies) ด้วย เพื่อว่าเวลาร้องออกมาจะได้ไม่เพี้ยน เช่น เสียงวรรณยุกต์ต่ำอย่างเสียงเอก ไม่อาจจะใช้กับโน้ตเสียงสูงได้ คุณลองออกเสียงดูสิ หรือวรรณยุกต์เสียงสูง เช่น เสียงตรี หรือจัตวา ก็ไม่เข้ากับตัวโน้ตเสียงต่ำเช่นกัน แต่มีอนุโลมหรือใช้ได้ในบางกรณีที่เราอาจใช้เสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกับเสียงโน้ตเป๊ะ ๆก็ได้ โดยอาศัยการร้องเอื้อน นอกจากเรื่องเสียงวรรณยุกต์แล้ว ก็ต้องพิจารณาคำเสียงสั้นยาวให้ลงกับโน้ตด้วย เช่น คำสุดท้ายของท่อนมักเป็นเสียงลากยาว เราไม่สามารถใช้คำที่มีสระเสียงสั้น เช่น จะ, สิ, ดึก ฯลฯ ได้ แล้วโน้ตบางตัวอาจเสียงสั้นเกินกว่าเราจะใช้คำที่มีสระเสียงยาวได้ (โดยเฉพาะเพลงเร็ว) เพราะฉะนั้นการรู้จักคำเยอะและรู้จักเลือกมาใช้ให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญทีเดียว
               ข้อที่ 3 ก็ยังเกี่ยวกับการใช้ภาษาอยู่ดี แต่คราวนี้มีอารมณ์มาเกี่ยวด้วย คนที่มีพรสวรรค์หรือมีอารมณ์ศิลปินมักได้เปรียบในข้อนี้ เราต้องรู้จักฟังอารมณ์เพลงให้ออกว่าเมโลดี้อย่างไหนให้อารมณ์เป็นสุข สดใส สนุกสนาน ร่าเริง อันนี้คือ "อารมณ์เป็นบวก" และอันไหนที่ให้ "อารมณ์เป็นลบ" พอฟังแล้วรู้สึกเศร้า หดหู่ เพลงจังหวะช้าเร็วต่างกันก็ต้องหาคำมาใช้ให้ต่างกัน ในการทำงานจริงเมื่อเราเข้าไปรับ Demo ทำนองเพลงมา เขามักจะ brief เรื่องให้เรามาเลย (ส่วนใหญ่) เช่น เพลงช้าอารมณ์เศร้าเพลงนี้ขอเป็นเรื่องอกหักถูกแฟนทิ้ง เราก็ต้องแต่งตามนี้ แต่จะถูกแฟนทิ้งอย่างไร เราก็ต้องเป็นคนเล่าเรื่องเอง (แต่บางแห่งจะ brief ละเอียดมาก เช่นแฟนทิ้งเพราะเจอคนใหม่ เป็นต้น) แต่ถ้าเขาไม่ brief มาเราก็ค่อนข้างอิสระในการคิดเรื่องขึ้นมาเอง อาจไม่ใช่อกหักก็ได้ แต่เป็นอารมณ์ผิดหวัง อารมณ์คิดถึง แล้วแต่ "จินตนาการ" ของเรา หรือ เพลงอารมณ์บวกอาจไม่ใช่เรื่องรักหวานแหววเสมอไป อาจเป็นเรื่องกำลังใจก็ได้ เป็นต้น
              
ข้อที่ 4 นอกจากใช้ภาษาให้เข้ากับอารมณ์เพลงแล้ว ถ้ารู้ตัวศิลปินนักร้อง คือ ถ้าค่ายเพลงเขาจำกัดมาว่าให้แต่งให้นักร้องคนไหน เราก็ต้องใช้ภาษาให้เข้ากับนักร้องด้วย "ปัจจัย" ที่บ่งบอก เช่น เพศ, อายุ, บุคลิก และ คอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม เป็นต้น
               ข้อที่ 5 เมื่อเรารู้อารมณ์เพลง รู้ตัวนักร้องแล้ว เราก็มาคิดเนื้อเรื่องต่อ อาจคิดชื่อเพลงขึ้นมาก่อนก็ได้เพื่อเป็นแนวทาง (แต่ไม่เสมอไป) "ส่วนใหญ่ Concept หรือ ใจความสำคัญของเรื่องมักถูกนำมาใช้เป็นชื่อเพลงด้วย" ข้อนี้ก็ใช้หลักภาษาไทยพอสมควร คือ ต้องมีการวางโครงของเรื่องว่าแต่ละท่อนจะพูดถึงอะไร มีการลำดับความให้เป็นขั้นเป็นตอน "ท่อนฮุค (Hook)" เป็นท่อนที่อารมณ์จะพุ่งขึ้นสูงสุด การลำดับเรื่องไม่ใช่หมายความว่าจาก 1 เป็น 2 แล้วเป็น 3 เสมอไป เพราะเราจายเจอเพลงที่ท่อนแรกเป็นท่อน Hook เลยก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ เพลงต้องมี "ความเป็นเอกภาพ" ทุกท่อนต้องมีใจความที่สรุปได้ถึงเรื่องเดียวกัน อย่านอกประเด็น ไม่ควรร่างเรื่องให้มันยุ่งยากซับซ้อนนัก เพราะไม่ใช่นิยาย คนฟังจะงง โดยเฉพาะถ้ากล่าวถึงคนมากกว่าสองคนในเพลง ต้องใช้ "สรรพนาม" ให้ดี เช่น เขากันฉัน และ เธอ อย่าใช้สลับไปสลับมา ส่วนใหญ่ท่อนสุดท้ายของเพลงมักเป็น "บทสรุป" ถ้าสรุปได้น่าสนใจก็จะเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง คล้าย ๆกับหนังหรือนิยายที่จบแบบหักมุม แต่เพลงไม่จำเป็นต้องจบหักมุมก็ได้ แต่จบให้คมคายและซาบซึ้ง คุณอาจไปหาหนังสือเพลงดัง ๆมาอ่าน ศึกษาดูเพลงแต่ละเพลงว่าเขาใช้ Concept อะไร ลำดับเรื่องอย่างไร Hook เป็นอย่างไร แล้วจบอย่างไร
               ข้อที่ 6  เมื่อคุณคิด Concept หรือชื่อเพลงได้แล้ว คุณก็ทำอย่างข้อที่ 5 คือสื่อสารออกมาให้เป็น "บทเพลงที่คนอื่นเข้าใจ" ยกเว้นถ้าคุณอยากทำอัลบั้มเซอ ๆส่วนตัว นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะบทเพลงก็คือศิลปะอย่างหนึ่งเช่นกัน (ถ้าคุณไม่คำนึงถึงตลาด) คุณอาจใช้ Concept เดิม ๆแต่อาจแต่งออกมาใน "มุมมอง" ที่ต่างออกไป เพราะเพลงที่ดีและน่าสนใจก็ต้องมี "ความคิดสร้างสรรค์" คล้าย ๆกับการเขียนคำโฆษณาเหมือนกัน ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ มันอยู่ที่ตัวคุณเองแล้วล่ะ
               ข้อที่ 7 ฝึกเขียนบ่อย ๆ โดยไปเข้า workshop กับตามค่ายเพลงที่เขาเปิด หรือถ้าคุณกล้าสักหน่อยก็ลองแต่งเพลงตัวอย่างไปเสนอตามค่ายเพลง แล้วค่อย ๆ ฝากเนื้อฝากตัวขอหัดเขียนเพลงกับนักแต่งเพลงฝีมือดีที่คุณชื่นชอบ ประสบการณ์จะช่วยทำให้ฝีมือของคุณเข้าที่เข้าทางและพัฒนาขึ้นเอง
               ข้อที่ 8 ถ้าคุณได้เป็นนักแต่งเพลงสมัครเล่นหรืออาชีพแล้วก็ตาม คุณก็ควรศึกษากฎหมายลิขสิทธิ์บ้าง เพราะมันคือผลประโยชน์ของตัวคุณเอง ศึกษาสัญญาที่ทางค่ายเพลงเขียนขึ้นมาด้วยว่ายุติธรรมดีหรือไม่ เช่น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 9 "งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงาน หรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือ

    << Go Back