<< Go Back 

มหรสพ คือ การแสดงที่จะต้องขออนุญาตจากฝ่ายบ้านเมืองก่อนจัดแสดง ซึ่งกำหนดเป็นพระราชบัญญัติไว้หลายอย่างคือ ละครไทย ละครชาตรี ละครแขก งิ้ว หุ่นไทย หุ่นจีน หุ่นต่างๆ หนังไทย หนังตะลุง หนังแขก หนังจีน หนังต่างๆ เพลงสักวา เสภา ลิเก กลองยาว ลาวแพน มอญรำ ทวายรำ พิณพาทย์ มโหรี กลองแขก คฤหัสถ์สวดศพ และจำอวด

ประเภทของนาฏศิลป์ (มหรสพ)
มหรสพไทย
            มหรสพไทยที่นอกเหนือไปจาก โขน ละคร ลิเก ยังมีมหรสพอื่นๆ ได้แก่ การละเล่นของหลวงหรือมหรสพหลวง กระบี่กระบอง หุ่นไทย หนังใหญ่ มหรสพไทยจะมีขึ้นเมื่อมีงานต่างๆ ส่วนมากจะเป็นงานฉลอง สมโภช และงานศพซึ่งจัดได้ทุกระดับ ในงานพระเมรุมาศใหญ่ๆ ก็เคยมีมหรสพให้ประชาชนมาดูกัน ถ้าเป็นงานของหลวงก็จะยิ่งใหญ่และมีการแสดงต่างๆ หลากหลายกว่างานของสามัญชน สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกสมบัติอันมีค่าของสังคมอันควคแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง
             มหรสพของหลวง มีมาแต่โบราณสมัยอยุธยา เป็นการเล่นในงานสมโภชของหลวง ซึ่งมีอยู่หลายอย่าง แต่ที่มีการฟ้อน การเต้น การรำ ด้วยนั้น มีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ แทงวิไสย รำโคม
            มหรสพในงานสมโภชของหลวงนี้ มีตำนานเรื่องราวสืบต่อมาจนปรากฏอยู่ในกฎมนเทียนบาลบ้าง พงศาวดารและวรรณคดีต่างๆ บ้าง แม้ในการเขียนภาพจิตรกรรมประดับผนังโบสถ์บางแห่ง ก็ยังได้เขียนภาพ การแสดงการเล่นต่างๆ ไว้ การเล่นอื่นๆ นอกเหนือจากข้างต้น ก็ยังมี หกคะเมน ไต่ลวด ลอดบ่วง นอนดาบ โยนมีด พุ่งหอก ยิงธนู รำแพน เป็นต้น ตัวอย่างการการละเล่นของหลวง ได้แก่ ระเบง กุลาตีไม้

            กระบี่กระบอง จัดเป็นการเล่นแบบกีฬาประเภทหนึ่ง ที่มักจัดให้แสดงเป็นการมหรสพในงานต่างๆ และยังเป็นการเล่นของไทยโดยแท้จริง เพราะไม่เคยปรากฏมีในประเทศใดในโลก เป็นกีฬามหรสพที่นิยมกันมาตังแต่โบราณ เป็นการฝึกหัดใช้อาวุธในยามสงบไปในตัว นับว่าเป็นการแสดงที่ทำให้ตื่นเต้น เร้าใจ มักแสดงในบริเวณที่กว้างๆ เช่น สนามหรือลานใหญ่ๆ ในวัด


ที่มาภาพ : http://th.wikipedia.org/wiki/กระบี่กระบอง

            หุ่นไทย การแสดงอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งมีมาแต่โบราณนั้น มีมหรสพอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หุ่น ประกอบด้วย "หุ่นใหญ่" และ "หุ่นกระบอก" ซึ่งเป็นการแสดงที่ใช้หุ่นแทนคน โดยคนที่เชิดหุ่นจะเป็นผู้สร้างสรรค์ความมีชีวิตชีวาให้กับหุ่น เพราะการแสดงนั้นใช้เรื่องที่แสดงเช่นเดียวกับละครหรือโขนนั่นเอง
            หุ่นรุ่นแรกๆ เรียกกันว่า "หุ่นหลวง" เพราะมีขนาดใหญ่ ต่อมามีการประดิษฐ์หุ่นอีกแบบหนึ่งเล็กว่าเดิม จึงเรียกของเดิมว่า "หุ่นใหญ่" และเรียกหุ่นที่ประดิษฐ์ใหม่ว่า "หุ่นเล็ก" ซึ่งต่อมาก็มีการประดิษฐ์หุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็กขึ้นอีกด้วย
                        - หุ่นหลวง หุ่นรุ่นเก่าเรียกกันตามขนาดว่า "หุ่นใหญ่" ซึ่งเป็นชื่อภายหลังที่เกิดหุ่นขนาดเล็ก ที่เรียกว่า "หุ่นหลวง" เพราะเป็นของเจ้านายหรือในวังหลวง หุ่นหลวงมีขนาดสูงราว ๑ เมตร มีลำตัว แขน ขา และแต่งตัวเช่นเดียวกับละคร ภายในตัวหุ่นทำสายโยงติดกับอวัยวะของตัวหุ่น และปล่อยเชือกลงมารวมกันที่แกนไม้ส่วนล่าง เพื่อใช้ดึงบังคับให้เคลื่อนไหวได้แม้กระทั่งลูกตา หุ่นรุ่นเก่าสุดมีปรากฏหลักฐานว่า อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากนั้นยังเล่ากันสืบต่อมาว่า ทรงฝากฝีพระหัตถ์การทำหน้าหุ่นหลวงไว้คู่หนึ่ง เรียกกันว่า "พระยารักน้อย พระยารักใหญ่"
                        หุ่นหลวงนั้นแสดงเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับละครในที่ให้นางในเป็นผู้แสดงทั้งตัวพระตัวนาง มีเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุทธ เป็นต้น ลีลาการแสดงก็ไม่แตกต่างจากละคร ในการเล่นหุ่นมีการขับร้องและการบรรเลงดนตรีประกอบ คือ มีวงปี่พาทย์อันประกอบด้วยระนาด ฆ้องวง เปิงมาง กลองใหญ่ กลองกลาง กลองเล็ก ฉิ่ง ฉาบ ตะโพน บางแห่งมีวงปี่พาทย์ถึง ๒ วง คนเจรจา ๔ คน หรือ ๕ คน ต่างคนต่างฟังต่างดูกัน จึงเข้าใจเรื่องราวและชักหุ่นออกท่าทางพร้อมการเจรจาไปด้วยกันได้ดี
                        - หุ่นเล็ก เป็นหุ่นซึ่งประดิษฐ์ใหม่โดย กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น ๒ ชนิด คือ หุ่นไทย กับ หุ่นจีน ขนาดของตัวหุ่นสูง ๑ ฟุต ซึ่งเล็กกว่าหุ่นหลวงมาก แต่มีความประณีตงดงามเช่นกัน
                        - หุ่นจีน เป็นตัวละครของเรื่องซวยงัก และเคยเล่นเรื่องหลวงจีนเจ้าชู้ มีลักษณะเป็นหุ่นมือ โดยมีลำคอใหญ่ เพื่อให้สามารถสอดนิ้วชี้เข้าไปภายในได้ หน้าหุ่นเขียนสีต่างๆ ตามลักษณะของหน้างิ้ว ครั้งที่สร้างหุ่นจีนนี้ขึ้น คงจะมีจำนวนมาก เพราะจะต้องใช้เป็นตัวละครต่างๆ พร้อมทั้งพวกพลทหารด้วย แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คือ ๑๓๗ ตัว ยังรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และคงเคยเล่นมาหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องสามก๊กด้วย สำหรับเรื่องหลวงจีนเจ้าชู้นี้ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงพระราชนิพนธ์บทด้วยพระองค์เองเป็นภาษาไทย
                        - หุ่นไทย มีขนาดเท่าหุ่นจีน แต่แต่งเครื่องแบบไทย โดยมากเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ทั้งหมด ลักษณะของหุ่น เป็นสายใยชักได้ จีงมีทั้งศีรษะ แขน ขา สมบูรณ์ทุกอย่าง สายใยจะโยงไปตามอวัยวะต่างๆ และมีก้านไม้อยู่ตรงกันของตัวหุ่นเพื่อใช้มือถือเชิด และยังมีถุงคลุมก้านไม้นั้นไว้พร้อมทั้งสายใยด้วย
                        หุ่นไทยเท่าที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพียง ๕๓ ตัว โรงหุ่นก็จะคล้ายโรงหุ่นใหญ่ มีวงปี่พาทย์ประกอบ
                        - หุ่นละครเล็ก หรือเรียกว่า ละครเล็ก มีขนาดเล็กกว่าหุ่นหลวง เดิมเป็นของนายแกร ศัพทวานิช คณะหนึ่ง กับของนายเปียก ประเสริฐกุล อีกคณะหนึ่ง
                        ละครเล็กของนายแกร มีมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๖๕ นิยมเล่นเรื่องพระอภัยมณีและเรื่องอื่นๆ บ้าง ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๓๐ กว่าตัว และได้รับการรักษาไว้ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ใช้คนเชิด ๓ คน เพราะใช้ส่วนขาเคลื่อนไหวด้วย โดยเฉพาะตัวยักษ์ พระ ลิง แต่ตัวนางใช้คนเชิด ๒ คน แสดงทั้งตัว โดยใช้ขาประกอบการร่ายรำด้วย จึงต้องมีกลไกสายใยมาก ทำให้สามารถขยับคอ นิ้วมือ และยกขาได้ แต่ก็ไม่แนบเนียนและซับซ้อนเท่าหุ่นหลวง
                        ละครเล็กของนายเปียก เริ่มเล่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เดิมนายเปียกมีโรงหุ่นกระบอกก่อน ต่อมาอีก ๑๕ ปี จึงได้คิดสร้างหุ่นละครเล็กขึ้น โดยอาศัยแบบอย่างของหุ่นกระบอก แต่ว่าตัวใหญ่กว่าหุ่นกระบอก จะมีแต่ลำตัว ศีรษะ แขน มือเท่านั้น ไม่มีขา ใช้คนเชิดคนเดียวและมีวิธีการเชิดเช่นเดียวกับหุ่นกระบอก
                        - หุ่นกระบอก มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยหม่อมราชวงศ์เถาะพยัคฆเสนา มีประวัติกล่าวไว้ว่า ได้แนวความคิดมาจากหุ่นของช่างแกะชื่อ เหน่ง ซึ่งทำเล่นอยู่ก่อนที่เมืองอุตรดิตถ์ และนายเหน่งก็ลอกแบบมาจากหุ่นไหหลำ แต่ประดิษฐ์ใหม่ให้เป็นแบบไทย กระบวนร้องในการเชิดหุ่นใช้ทำนอง สังขารา การเล่นหุ่นกระบอก ก็คล้ายละคร แต่ใช้หุ่นแทนคนจริง ผู้เชิดหุ่นจะต้องรู้วิธีบังคับตัวหุ่น โดยมือหนึ่งจับกระบอกไม้ไผ่ อีกมือหนึ่งจับไม้ที่ตรึงไว้กับข้อมือหุ่น เรียกว่า "ไม้ตะเกียบ" เวลาเชิด ผู้เชิดมักจะขยับตัวตามจังหวะดนตรีไปด้วย พร้อมกันนั้นก็บังคับหุ่นให้อ่อนไหวกล่อมตัวตามไปด้วย การทำท่าอ่อนช้อยเลียนแบบละครรำอย่างแนบเนียน ย่อมเกิดจากความสามารถของคนเชิดหุ่น ไม่ว่าจะกล่อมตัว กระทบตัว เชิดย้อนมือ โยกตัว และรำเพลง หุ่นกระบอกจะมีผ้าคลุมตัวลงมาจากช่วงไหล่ ยาวเลยปลายไม้กระบอกด้านล่าง ผู้เชิหุ่นจึงสามารถซ่อนมือไว้ภายในได้


ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=312360

                    

   การร้องและเจรจา ผู้เชิดหุ่นที่เป็นสตรีมักจะร้องและเจรจาด้วย นอกจากตัวตลกหรือตัวอื่นๆ มักใช้ผู้ชาย แต่การขับร้องดำเนินเรื่องแล้วจะใช้เสียงผู้หญิงทั้งหมด พร้อมกันนั้นลูกคู่ก็จะรับกันให้เสียงแน่นและเป็นช่วงๆ
                       - หนังใหญ่ เป็นมหรสพที่ใหญ่และสำคัญ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๑ ตามหลักฐานที่กล่าวไว้ ในกฎมฯเทียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และในเรื่องสมุทรโฆษชาดคำฉันท์
                       หนังใหญ่มีการเล่นตลอดมา จนสุดสิ้นสมัยอยุธยา ในพ.ศ. ๒๓๐๑ จึงยุติการเล่นหนังใหญ่ไปโดยปริยาย แต่เมื่อกรุงธนบุรีขึ้นมามีศักดิ์ศรีราชธานีใหม่ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การเล่นหนังใหญ่ก็ฟื้นคืนชีพใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังคงยืนยาวต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้น มหรสพใดๆ ก็ไม่อาจเทียบหนังใหญ่ได้ เพราะเป็นมหรสพที่ค่อนข้างมโหฬาร คล้ายภาพยนตร์จอยักษ์ในสมัยปัจจุบัน
                       หนังใหญ่มีขนาดโตกว่าหนังตะลุงเกือบ ๕ เท่า การทำหนังใหญ่นั้น ใช้แผ่นหนังวัวหรือหนังควายดิบ ที่ตากแห้งโดยวิธีขึงลงในกรอบให้ตึง แล้วเขียนภาพลงบนแผ่นหนัง จากนั้นจึงฉลุด้วยเครื่องมือ ตอกฉลุให้เป็นช่องหลุดขาดออกไป จะใช้เครื่องมืออย่างเดียวกับหนังตะลุงก็ได้ แต่ในปัจจุบันการทำตัวหนังใหญ่อาจน้อยลงหรือเกือบไม่มีใครทำกันแล้ว เพราะไม่ได้ทำขาย แต่ทำเพื่อใช้แสดงเท่านั้น ไม่เหมือนหนังตะลุงที่ทำขายเป็นของที่ระลึก

    << Go Back