<< Go Back 

ที่มาของภาพ : http://www.thaigoodview.com/node/20373

ประวัติความเป็นมาของการเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว
     การแสดงเต้นกำรำเคียว  เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่เก่าแก่แบบหนึ่งของชาวชนบทในภาคกลางของไทย แถบจังหวัดนครสวรรค์  ที่อำเภอพยุหะคีรี  ซึ่งแต่เดิมประชาชนส่วนมากยึดอาชีพการทำนาเป็นหลักและด้วยนิสัยรักสนุก ประกอบกับการเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของไทยด้วย  จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้น  ซึ่งในเนื้อเพลงแต่ละตอนจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างชัดเจน  ลักษณะการรำไม่อ่อนช้อยเช่นการรำไทยทั่ว ๆ ไป  จะถือเอาความสนุกเป็นใหญ่  จะมีทั้ง “เต้น”  และ  “รำ”  ควบคู่กันไป  ส่วนมือทั้งสองของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว  อีกข้างหนึ่งถือต้นข้าวที่เกี่ยวแล้ว จึงได้ชื่อว่า  “ เต้นกำรำเคียว”
ลักษณะการแสดง
    จะแบ่งผู้เล่นเป็น  2 ฝ่ายคือ  ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  สำหรับฝ่ายชายเรียกว่า  “พ่อเพลง” ฝ่ายหญิงจะเรียกว่า  “แม่เพลง”  เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียวโดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อฝ่ายหญิง  และแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป  ซึ่งพ่อเพลงนี้อาจเปลี่ยนไปหลายๆ คน  ช่วยกันร้องจนกว่าจะจบเพลง  ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่ก็ต้องเป็น  “ลูกคู่”  ปรบมือและร้องเฮ้ เฮ้ว
ให้จังหวะ
โอกาสที่แสดง
     การเต้นกำรำเคียวจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว  ซึ่งเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวชาวนามักมีการเอาแรงกันโดยต่างฝ่ายต่างไปช่วยกันเกี่ยวข้าวจะไม่มีการว่าจ้างกัน  ขณะที่มีการเกี่ยวข้าวนั้น เขามักจะมีการร้องเพลงเกี่ยวข้าวกันไปด้วย  โดยร้องแก้กันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง และเมื่อหยุดพักการเกี่ยวข้าว  ประมาณตะวันบ่ายคล้อยแล้วการเต้นกำรำเคียวจึงเริ่มเล่น
การแต่งกาย
     ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วยและเสื้อกุยเฮงสีดำ  มีผ้าขาวม้าคาดพุง  สวมงอบและไม่สวมรองเท้า  ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนและเสื้อแขนกระบอกสีดำทั้งชุดเช่นกัน  ทัดดอกไม้ที่หูขวาและไม่สวมรองเท้าผู้แสดงทุกคนต้องถือเคียวในมือขวาและถือรวงข้าวในมือซ้ายด้วย
ดนตรีที่ใช้
     ตามแบบฉบับของชาวบ้านเดิม  ไม่มีดนตรีประกอบเพียงแต่ลูกคู่ทุกคนจะตบมือและร้องเฮ้ เฮ้วให้จังหวะ  แต่เมื่อกรมศิลปากรนำไปดัดแปลง ก็ใช้ระนาดเป็นเสียงดนคตรีประกอบในท่าเดินเข้า-ออก
สถานที่แสดง
     เดิมแสดงกลางแจ้งบริเวณท้องนาที่เกี่ยวข้าวกัน ปัจจุบันมีผู้สนใจการแสดงชนิดนี้มากขึ้นจึงนำมาแสดงบนเวที
จำนวนผู้แสดง
     ชายหญิงจับคู่กันเล่นเป็นคู่  ซึ่งเดิมนั้นไม่จำกัดคู่ผู้เล่น  แต่กรมศิลปากรได้จำกัดผู้เล่นเพียง 5 คู่  เพื่อให้ครบทำนองและเนื้อเพลงที่เล่นและไม่เต็มเวที
บทร้องเพลงเต้นกำรำเคียว
เพลงมา
     ชาย  มากันเถิดนางเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่มา  มารึมา   แม่มา (ซ้ำ)  มาเถิดแม่นุชน้อง  พี่จะเป็นฆ้องให้น้อง เป็นปี่ ต้อยตะริดติ๊ดตอด  น้ำแห้งน้ำหยอดที่ตรงลิ้นปี่  มาเถิดนะแม่มามารึมาแม่มา  มาเต้นกำย่ำหญ้ากันใน นานี้เอย  (ลูกคู่รับท้าย)
     หญิง  มากันเถิดนายเอย (กรู้...)   เอ๋ยรา พ่อมา มารึมาพ่อมา  ฝนกระจายปลายนา  แล้วน้องจะ มาอย่างไรเอย (ลูกคู่รับท้าย)
เพลงไป
     ชาย  ไปกันเถิดนางเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่ไป  ไปรึไปแม่ไป  ไปชมนกกันที่ในป่า  ไปชมพฤกษากันที่ในไพร  ไปชม ชะนีผีไพร กันเล่นที่ในดงเอย  (ลูกคู่รับท้าย)
     หญิง  ไปกันเถิดนายเอย(กรู้...) เอ๋ยรา พ่อไป ไปรึไปพ่อไป  น้องเดินขยิกจิกไหล่ตามก้น
 พี่ชายไปเอย(ลูกคู่ รับท้าย)
เพลงเดิน
     ชาย  เดินกันเถิดนางเอย(กรู้...)   เอ๋ยรา  แม่เดิน  เดินรึเดิน แม่เดิน  ย่างเท้าขึ้นโคกเสียงนกโพระดกมันร้องเกริ่น(ซ้ำ)จะชวนหมู่น้องไปท้องพะเนิน  ชมเล่นให้เพลินใจเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  เดินกันเถิดนายเอย(กรู้...)   เอ๋ยรา พ่อเดิน เดินรึเดิน พ่อเดิน หนทางก็รกระหกระเหิน  แล้วน้องจะเดินอย่างไรเอย(ลูกคู่ รับท้าย)
เพลงรำ
     ชาย  รำกันเถิดนางเอย(กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่รำ รำรึรำ แม่รำ ใส่เสื้อเนื้อดีแม่ห่มแต่สีดอกขำ (ซ้ำ)  น้อยหรือแน่แม่ช่างรำ แม่เชื้อระบำเก่าเอย(ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  รำกันเถิดนายเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  พ่อรำ รำรึรำ พ่อรำ มหาหงส์ลงต่ำ ต่างคนต่างรำไปเอย
เพลงร่อน
     ชาย  ร่อนกันเถิดนางเอย(กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่ร่อน  ร่อนรึร่อน แม่ร่อน  (ชะฉ่า ชะฉ่า  ชา ชา ๆ ๆ)  ร่อนหรือร่อนแม่ร่อน รูปร่างเหมือนนางระบำ แม่เอ๋ยช่างรำ แม่คุณช่างร่อน(ซ้ำ...รูปร่าง) อ้อนแอ้นแขนอ่อนรูปร่างเหมือนมอญรำเอย(ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  ร่อนกันเถิดนายเอย  (กรู้...)  เอ๋ยรา พ่อร่อน ร่อนรึร่อน พ่อร่อน สีนวลอ่อนอ่อนร่อน  แต่ลมบนเอย(ลูกคู่ รับท้าย)
เพลงบิน
     ชาย  บินกันเถิดนางเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่บิน  บินรึบิน แม่บิน  สองตีนกระทืบดินใคร  เลยจะบินไปได้อย่างเจ้า (ซ้ำ...สองตีน) ใส่งอบขาว ๆ รำกันงามเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  บินกันเถิดนายเอย (กรู้...)   เอ๋ยรา  พ่อบิน บินรึบิน พ่อบิน  มหาหงส์ทรงศีลบินไปตามลมเอย(ลูกคู่ รับท้าย)
เพลงยัก
     ชาย  ยักกันเถิดนางเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่ยัก  ยักรึยัก แม่ยัก  (เอาวา โจ๊ะ ติง  ติงทั่ง ติง ติง ๆ ๆ วัวขี่ควาย กระต่ายขี่ลิง)  ยักรึยัก  แม่ยัก  ยักตื้นติดกึก เอาละว่ายักลึกติดกัก ยักตื้นยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก  หงส์ทองน้องรักยักให้หมดวงเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  ยักกันเถิดนายเอย (กรู้...)   เอ๋ยรา  พ่อยัก ยักรึยัก พ่อยัก อย่าเข้ามาใกล้น้องนักจะโดนเคียวควักตาเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
เพลงย่อง
     ชาย  ย่องกันเถิดนางเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่ย่อง  ย่องรึย่อง  แม่ย่อง  บุกดงอะไร แกรก แกรกสองมือก็แหวกนัยน์ตาก็มอง บุกดงอะไร แกรก แกรกสองมือก็แหวกนัยน์ตาก็มองพบฝูงอีก้อง พวกเราก็ย่องยิงเอย   (ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  ย่องกันเถิดนายเอย (กรู้...)   เอ๋ยรา  พ่อย่อง ย่องรึย่อง พ่อย่อง  ฝูงละมั่งกวางทองย่อง  มากินถั่วเอย   (ลูกคู่ รับท้าย)
เพลงย่าง
     ชาย  ย่างกันเถิดนางเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่ย่าง  ย่างรึย่าง  แม่ย่าง  ย่างเถิด ย่างเถิด แม่ย่างย่าง  รึย่างแม่ย่าง  เจอะเสือพี่ก็จะยิง  เจอะกระทิงพี่ก็จะย่าง เจอะเสือพี่ก็จะยิง  เจอะกระทิง  พี่ก็จะย่าง  ไม่ว่าเนื้อเสือเนื้อช้างย่างมาฝากน้อยเอย   (ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  ย่างกันเถิดนายเอย (กรู้...)   เอ๋ยรา  พ่อย่าง ย่างรึย่าง พ่อย่าง  ไม่ว่าเนื้อเสือเนื้อช้างย่างไปฝากเมียเอย  (ลูกคู่ รับท้าย)
เพลงแถ
     ชาย  แถกันเถิดนางเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่แถ  แถรึแถ  แม่แถ  จะลงที่หนองไหน  พี่จะไปหนองนั้นแน่ (ซ้ำ..จะลง) นกกระสา  ปลากระแห  แถให้ติดดินเอย   (ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  แถกันเถิดนายเอย (กรู้...)   เอ๋ยรา  พ่อแถ   แถรึแถ  พ่อแถ  นกกระสา  ปลากระแห  แถมาลงหนองเอย  (ลูกคู่ รับท้าย)
เพลงถอง
     ชาย  ถองกันเถิดนางเอย (กรู้...)  เอ๋ยรา  แม่ถอง  ถองรึถอง  แม่ถอง   ถองเถิดถองเถิด  แม่ถอง ถองรึถอง  แม่ถอง   ค่อยขยับจับจ้อง  ถองให้ถูกนางเอย   (ลูกคู่ รับท้าย)
     หญิง  ถองกันเถิดนายเอย (กรู้...)   เอ๋ยรา  พ่อถอง   ถองรึถอง  พ่อถอง  (ชะฉ่า  ชะฉ่า  ชา ชา ๆ ๆ)  ถองรึถอง พ่อถอง กล้าดีก็เข้ามาลอง จะโดนกระบองตีเอย  (ลูกคู่ รับท้าย)

ที่มา : http://guru.sanook.com/pedia/topic/เต้นกำรำเคียว/

    << Go Back