<< Go Back 

        ภาษาไทยถิ่นอีสาน หรือ ภาษาลาวอีสาน เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้พูดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นภาษาลาวสำเนียงหนึ่ง ในสำเนียงภาษาถิ่นของภาษาลาวซึ่งแบ่งเป็น 6 สำเนียงใหญ่ คือ
     1. ภาษาลาวเวียงจันทน์ ใช้ในประเทศลาวท้องที่ เมืองเวียงจันทน์ บอลิคำไซ และในประเทศไทยท้องที่ จ.ชัยภูมิ หนองบัวลำภู หนองคาย (อ.เมือง ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย) ขอนแก่น (อ.ภูเวียง ชุมแพ สีชมพู ภูผาม่าน หนองนาคำ เวียงเก่า หนองเรือบางหมู่บ้าน) ยโสธร (อ.เมือง ทรายมูล กุดชุม บางหมู่บ้าน) อุดรธานี (อ.บ้านผือ เพ็ญ บางหมู่บ้าน) ศรีสะเกษ (ในบางหมู่บ้านของ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอขุขันธ์ และ อำเภอขุนหาญ)
     2. ภาษาลาวเหนือ ใช้ในประเทศลาวท้องที่ เมืองหลวงพระบาง ไซยะบูลี อุดมไซ ในประเทศไทยท้องที่ จ.เลย อุตรดิตถ์ (อ.บ้านโคก น้ำปาด ฟากท่า) เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก หล่มเก่า น้ำหนาว) ขอนแก่น (อ.ภูผาม่าน และบางหมู่บ้านของ อ.สีชมพู ชุมแพ) ชัยภูมิ (อ.คอนสาร) พิษณุโลก (อ.ชาติตระการ และนครไทยบางหมู่บ้าน) หนองคาย (อ.สังคม) อุดรธานี (อ.น้ำโสม นายูง บางหมู่บ้าน)
     3. ภาษาลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้ในประเทศลาวท้องที่เมืองเซียงขวาง หัวพัน ในประเทศไทยท้องที่บ้านเชียง อ.หนองหาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี และบางหมู่บ้าน ใน จ.สกลนคร หนองคาย และยังมีชุมชนลาวพวนในภาคเหนือบางแห่งในจังหวัด สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ ไม่กี่หมู่บ้านเท่านั้น
     4. ภาษาลาวกลาง แยกออกเป็นสำเนียงถิ่น 2 สำเนียงใหญ่ คือ ภาษาลาวกลางถิ่นคำม่วน และถิ่นสะหวันนะเขด ถิ่นคำม่วน จังหวัดที่พูดในประเทศไทย เช่น จ.นครพนม สกลนคร หนองคาย (อ.เซกา บึงโขงหลง บางหมู่บ้าน) ถิ่นสะหวันนะเขด จังหวัดที่พูดมีจังหวัดเดียว คือ จ.มุกดาหาร
     5. ภาษาลาวใต้    ใช้ในประเทศลาวท้องที่แขวงจำปาสัก สาละวัน เซกองอัตตะปือ          จังหวัดที่พูดในประเทศไทย จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร
     6. ภาษาลาวตะวันตก     ไม่มีใช้ในประเทศลาว  เป็นภาษาที่ใช้ในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย    ท้องที่ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และบริเวณใกล้เคียงมลฑลร้อยเอ็ด ของประเทศสยาม
        ส่วนภาษาเขียนในอดีตใช้อักษรธรรมล้านช้างหรือตัวธรรม สำหรับบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะหรือพระพุทธศาสนา และเขียนด้วยอักษรไทน้อยหรือตัวลาว(เป็นอักษรลาวล้านช้างโบราณมีความแตกต่างกับอักษรลาวในสปป.ลาวในปัจจุบันเล็กน้อย)สำหรับเรื่องราวทางโลก อักษรลาวล้านช้าง(ตัวลาวหรืออักษรไทน้อย)มีพยัญชนะ 20 เสียง สระเดี่ยว 18 เสียง สระประสม 2-3 เสียง บางท้องถิ่นไม่มีเสียงสระเอือ ในปัจจุบันนิยมใช้อักษรไทยสำหรับเขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในทางโลกและทางธรรม เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านตัวอักษรธรรมและอักษรลาวออก แต่ความนิยมในการเขียนบันทึกเป็นภาษาถิ่นไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก โดยส่วนใหญ่ภาษาเขียนในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย(อีสาน)จะใช้อักษรไทยและบันทึกเป็นภาษาไทยกลางเป็นหลักแทน

ตัวอย่างประโยคภาษาไทยถิ่นอีสาน
              มาแต่ไส - ไปไหนมา
              กินเข่าแล้วบ่ - กินข้าวหรือยัง
              บ่ผ้อกันโดนเนาะ - ไม่ได้เจอกันนานนะ
              งึดแฮง งึดหลาย - ประหลาดใจเหลือเกิน ประหลาดใจมาก
              สวยเติบแล้ว - สายมากแล้ว
              ผู้ฮ้ายหลาย - ขี้เหร่มาก
              จบหลาย งามหลาย - สวยมาก
              เซาเว้า เซาปาก - หยุดพูด
              พออยู่พอเซา - พอกินพออยู่
              สูนแฮง - โมโหมาก
              กี่ซี้นงัว - เนื้อวัวย่าง
ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาไทยถิ่นอีสาน

    << Go Back