<< Go Back

           ละครใน หมายถึง การแสดงที่ดำเนินเป็นเรื่องราว โดยใช้ศิลปะการร่ายรำประกอบการขับร้อง และมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง ละครในเป็นละครผู้หญิงที่มีกำเนิดในราชสำนัก มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่องที่ใช้แสดงมีเพียง ๔ เรื่องเท่านั้น คือ รามเกียรติ์ อุณรุท ดาหลังและอิเหนา

                ขั้นตอนและจารีตการแสดงละครใน เริ่มต้นด้วยวงปี่พาทย์โหมโรงจนจบกระบวนเพลง เว้นเพลงวา เมื่อจะเริ่มแสดงละครจึงบรรเลงเพลงวา แล้วแสดงชุดเบิกโรงก่อนการแสดง ชุดเบิกโรงมีอยู่ ๒ แบบ คือ "เบิกโรงด้วยระบำ" ปัจจุบันที่ยังคงอยู่ คือ ชุดเบิกโรงประเลง เบิกโรงรำดอกไม้เงินทอง (ตัวแสดงเป็นตัวพระ) เบิกโรงรำฉุยฉายดอกไม้เงินทอง (ตัวแสดงเป็นตัวนาง) เบิกโรงอีกประเภทหนึ่ง คือ "เบิกโรง ด้วยการแสดงสั้นๆ" ปัจจุบันมีการสืบทอดเพียงเรื่องเดียว คือ เบิกโรงวสันตนิยาย (รามสูรเมขลา) จากนั้นจึงจับเรื่องใหญ่ แต่โบราณใช้เวลาแสดงทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๔ ชั่วโมง ปัจจุบันนิยมแสดงไม่เกินกว่า ๒ ชั่วโมง ดังนั้น การแสดงชุดเบิกโรงจึงหายไปโดยปริยาย

                การแสดงละครใน เน้นกระบวนท่าร่ายรำที่งดงามสอดประสานกับการขับร้องและเพลงดนตรีที่มีจังหวะช้า ไม่มุ่งเน้นการดำเนินเรื่อง ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น การเดินทางของตัวละครเริ่มต้นด้วย การอาบนํ้าแต่งตัว (บทลงสรง) การจัดทัพตรวจพล (บทชมทัพ) การชมความงามของพาหนะ (บทชมม้า ชมรถ) การชมความงามของธรรมชาติ (บทชมดง) ดังนั้น การแสดงละครในในสายตาของผู้ชมปัจจุบันจึงค่อนข้างช้า ยืดยาด ทำให้ละครลดความนิยมลง

                วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงละครใน โดยปกติใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า นิยมตีด้วยไม้นวม เพื่อให้มีกระแสเสียงที่นุ่มนวล เพลงร้องและหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการร่ายรำจากบทละครที่ปรากฏเป็นหลักฐาน ใช้เพลงร้องไม่มากนักโดยจะดำเนินเรื่องด้วย "เพลงร่ายใน" เป็นหลักใหญ่ การใช้เพลงร้องทำนองต่างๆ ปรากฏมากขึ้นในระยะที่มีละครดึกดำบรรพ์เกิดขึ้นแล้ว และเป็นแบบแผนสืบมาถึงปัจจุบัน

                การแต่งกาย ละครในทุกตัวแต่งกายยืนเครื่อง (แต่งเลียนแบบเครื่องต้นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์) และบุคคลชั้นสูง สวมศิราภรณ์ตามยศศักดิ์ของตัวละคร

                เรื่องราวและขั้นตอนการแสดงละครใน ล้วนแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของสังคมราชสำนักในอดีต เป็นบันทึกจารีตประเพณี อาทิ ระเบียบประเพณีของพระราชพิธีต่างๆ มหรสพสมโภช การแต่งกายของผู้คน อาหารการกิน การจัดทัพ การจัดขบวนแห่แหน การเจรจาในการทูต ถือเป็นบันทึกข้อมูล ทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ศึกษาในศาสตร์ต่างๆ สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลได้อย่างดี

ที่มา : http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/238-stage/68--m-s

<< Go Back