รำ
รำ หมายถึง ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ 1-2 คน เช่น การรำเดี่ยว การรำคู่ การรำอาวุธ เป็นต้น มีลักษณะการแต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ไม่เล่นเป็นเรื่องราวอาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้ากับทำนองเพลงดนตรี มีกระบวนท่ารำ โดยเฉพาะการรำคู่จะต่างกับระบำ เนื่องจากท่ารำจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องต่อเนื่องกัน และเป็นบทเฉพาะสำหรับผู้แสดงนั้นๆ เช่น รำเพลงช้า – เพลงเร็ว รำแม่บท รำเมขลา – รามสูร เป็นต้น
รํา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) รำเดี่ยว หมายถึง การรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว เช่น รำฉุยฉาย รำพลายชุมพล รำมโนราห์บูชายัญ เป็นต้น
2) รำคู่ หมายถึง การรำที่ใช้ผู้แสดง 2 คน การรำคู่ แบ่งลักษณะการรำออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
2.1 รำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ เช่น กระบี่กระบอง ดาบสองมือ โล่ เขน ดั้ง ทวน เป็นต้น
2.2 รำคู่ในชุดสวยงาม เช่น หนุมานจับนางเบญจกาย พระรามตามกวาง พระลอตามไก่ รามสูรเมขลา รจนาเสี่ยงพวงมาลัย เป็นต้น
3) รำหมู่ หมายถึง การรำที่ใช้ผู้แสดงมากกว่า 2 คน โดยนับเอาลักษณะของจำนวนคน ส่วนระบำนั้นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของรำหมู่เช่นเดียวกัน เช่น รำโคม รำพัด รำวง เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีการแสดงพื้นเมืองของชาวบ้านก็ถือว่าเป็นการรำหมู่ ได้แก่ รำกลองยาว เซิ้งกระติบข้าว ฟ้อนเล็บ เป็นต้น
ตัวอย่าง การแสดงรำไทย
รำฉุยฉายพราหมณ์
เป็นส่วนหนึ่งของการร่ายรำที่งดงามของตัวละครประเภทพระ จากบทพระราชนิพนธ์เบิกโรงดึกดำบรรพ์ เรื่องพระคเณศเสียงา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า ปรศุรามเจ้าแห่งพราหมณ์ทะนงตัวว่าเป็นที่โปรดปรานของพระอิศวร คิดจะเข้าเฝ้าในโอกาสที่ไม่สมควรพระคเณศได้ห้ามปราม ในที่สุดเกิดการวิวาท ปรศุราม ขว้างขวานโดนงาซ้ายพระคเณศหักสะบั้นไป พระอุมากริ้วปรศุรามจึงสาปให้หมดกำลังล้มกลิ้งดั่งท่อนไม้พระนารายณ์ทรงเล็งเห็นและเกรงว่าคณะพราหมณ์จะขาดผู้ปกป้อง อีกทั้งทรงทราบว่าพระอุมา ทรงเมตตาต่อเด็ก จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์น้อย ซึ่งเป็นปฐมเหตุให้เกิดการรำฉุยฉายพราหมณ์ขึ้น เนื้อเรื่องต่อไปพระอุมาประทานพรให้พราหมณ์ และสามารถแก้ไขคำสาปให้กลับกลายเป็นดีได้ในที่สุด
การรำฉุยฉายพราหมณ์มีกำเนิดขึ้นในครั้งนั้น และเชื่อกันว่าเป็นศิลปะการร่ายรำที่งดงาม เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ลีลาท่ารำนั้นเชื่อกันว่าเป็นผลงานของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) สืบทอดผ่านมา แต่รูปแบบท่าร่ายรำในปัจจุบันของกรมศิลปากร เป็นผลงานการปรับปรุงของนางลมุล ยมะคุปต์ อดีตผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร โดยเป็นลีลาท่ารำของตัวพระที่มีลักษณะของความเป็นหนุ่มน้อยที่มีความงดงามและท่าที่นวยนาดกรีดกราย
โอกาสที่ใช้แสดง ใช้เป็นการรำเบิกโรงและการแสดงในงานเบ็ดเตล็ดทั่วไป
ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์บรรเลง การบรรเลงดนตรีในเพลงฉุยฉาย ฉุยฉายเป็นเพลงในอัตราจังหวะ ๒ ชั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมการร้องเพลงฉุยฉาย ใช้ดนตรีรับ ๑ - ๒ เที่ยวทุกๆท่อน แต่ปัจจุบันนิยมใช้ปี่รับเพียงเที่ยวเดียว ตามปกติเพลงฉุยฉายจะมีเพลง ๒ เพลงรวมอยู่ด้วยกัน คือเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรี โดยที่ในตอนแรกจะร้องเพลงฉุยฉายก่อน ร้องหมดท่อนหนึ่งก็มีปี่เป่าเลียนทำนอง และเสียงร้องเพียงชิ้นเดียวก่อน แล้วจึงบรรเลงรับต่อด้วยเพลงแม่ศรีติดต่อกันไป การที่ต้องร้องเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรีติดต่อกันนั้น เพราะถือว่า เพลงฉุยฉายเป็นเพลงช้า เพลงแม่ศรีเป็นเพลงเร็วซึ่งเป็นเพลง ๒ ชั้น เรียกตามหน้าทับว่า "สองไม้" การบรรเลงดนตรีจะเริ่มด้วยเพลงรัว ร้องเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรี จบด้วยเพลงเร็ว - ลา ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมโดยทั่วไป
โดยมีบทร้องดังนี้
...ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
ร้องฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย
ช่างงามขำช่างรำโยกย้าย
สะเอวแสนอ่อนอรชรช่วงกาย
วิจิตรยิ่งลายที่คนประดิษฐ์
สองเนตรคมขำแสงดำมันขลับ
ชม้อยเนตรจับช่างสวยสุดพิศ
สุดสวยเอย
ยิ่งพิศยิ่งเพลินเชิญให้งงงวย
งามหัตถ์งามกรช่างอ่อนระทวย
ช่างนาดช่างนวยสวยยั่วนัยนา
ทั้งหัตถ์ทั้งกรก็ฟ้อนถูกแบบ
ดูยลดูแยบสวยยิ่งเทวา
ร้องแม่ศรี
น่าชมเอย น่าชมเจ้าพราหมณ์
ดูทั่วตัวงาม ไม่ทรามจนนิด
ดูผุดดูผ่อง เหมือนทองทาติด
ยิ่งเพ่งยิ่งพิศ ยิ่งคิดชมเอย
น่ารักเอย น่ารักดรุณ
เหมือนแรกจะรุ่น จะรู้เดียงสา
เจ้ายิ้มเจ้าแย้ม แก้มเหมือนมาลา
จ่อจิตติดตา เสียจริงเจ้าเอย
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว-ลา
หมายเหตุ
การรำฉุยฉายพราหมณ์นี้สามารถตัดทอนให้สั้นลงได้ตามความเหมาะสม เช่น ร้องฉุยฉายบทแรกต่อด้วยแม่ศรีบทใดบทหนึ่ง เนื้อร้องในหนังสืออธิบายนาฏศิลป์ไทยของนายธนิต อยู่โพธิ์ ในบทสุดสวยเอย มีที่แตกต่างจากปัจจุบัน คือใช้ว่า "งามหัตถ์งามกรช่างฟ้อนระทวย" การแต่งกายของผู้แสดงนั้น แต่งยืนเครื่องพระสีขาว สวมกระบังหน้า ไว้ผมมวย มีเกี้ยวครอบ ความยาวของชุดการแสดงนั้นแตกต่างกัน คือ ฉุยฉายพราหมณ์แบบเต็ม ใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๒ นาที ฉุยฉายพราหมณ์แบบตัดใช้เวลาแสดงประมาณ ๗ นาที
ขอบคุณเว็บไซต์ : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=banrakthai&group=6
|