ความหมาย ประเภท และองค์ประกอบของละคร
1. ความหมายของละคร
ละคร หมายถึง ศิลปะการแสดงที่เกิดขึ้นจากการนำภาพ ประสบการณ์ และจินตนาการของมนุษย์มาผูกเป็นเรื่องราว แล้วนำเสนอแก่ผู้ชม โดยมีผู้แสดงเป็นสื่อความหมาย นอกจากนี้ ยังนักปราชญ์ นักการศึกษา ท่านผู้รู้ ได้ให้นิยามความหมายของละครแตกต่างกันออกไป
2. ประเภทของละคร ละครแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
2.1. ละครแนวเหมือนจริง (Representational Drama) คือ ละครที่ให้ภาพชีวิตความเป็นจริงสะท้อนชีวิตในสังคมและความเป็นอยู่ของชุมชนออกมาเป็นเรื่องราว ดังคำกล่าวที่ว่า "ละครคือชีวิต"
2.2. ละครแนวไม่เหมือนจริง (Presentational Drama) คือ ละครที่ให้ภาพของการแสดงหลุดออกไปจากชีวิตประจำวัน โดยยึดคนดูเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้คนดูเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ตื่นเต้น และผู้ดูจะเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ชีวิตจริง เช่น การแสดงโขน ละครรำ ซึ่งฉากและเครื่องแต่งกายจะหรูหราเกินจริงแต่ก็สวยงาม ประณีตวิจิตรบรรจง มีเสน่ห์ประทับใจคนดู
3. องค์ประกอบของละคร การแสดงที่เป็นละครจะต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ ดังนี้
3.1. ต้องมีเรื่อง (Story) ตัวละครเจรจาไปตามเนื้อเรื่องของบทละครผู้ประพันธ์บทจะต้องมีความสามารถในการบรรยายบุคลิกลักษณะและนิสัยของตัวละครได้ชัดเจน
3.2. ต้องมีเนื้อหาสรุป (Subject) หรือแนวคิด (Theme) เช่น ต้องการให้เกิดความรักชาติ ความกตัญญูกตเวที หรือมุ่งสอนจริยธรรม
3.3. นิสัยตัวละคร (Characterization) บุคลิกลักษณะ นิสัยของตัวละครต้องตรงกับเนื้อหาสรุป
3.4. บรรยากาศ (Atmosphere) หมายถึง การสร้างบรรยากาศรอบ ๆ ที่เกี่ยวกับตัวละคร เพื่อช่วยให้ผู้ชมละครมีความรู้สึกคล้อยตามไปกับละคร
ความสัมพันธ์ของละครกับชีวิตมนุษย์
ละครเป็นศิลปะที่สะท้อนภาพชีวิต โดยอาศัยสื่อแบบต่าง ๆ ในการนำเสนอภาพเรื่องราวของชีวิตฉะนั้น "มนุษย์" คือ สาระอย่างหนึ่งของละคร ศิลปะการละคร เป็นการแสดงอย่างหนึ่งที่มนุษย์นำประสบการณ์ในชีวิตจริงผนวกกับจินตนาการสร้างสรรค์เป็นเรื่องขึ้นมา แล้วถ่ายทอดเป็นการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีนักแสดงเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้สึกและสิ่งอื่น ๆ ต่อผู้ชม ทั้งนี้เพื่อสร้างความบันเทิง ความประทับใจ หรือจะมีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วก็ได้ ซึ่งเราสามารถสรุปความสัมพันธ์ของละครกับชีวิตมนุษย์ได้ ดังนี้
1. ละครช่วยตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ศิลปะการละคร มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ 3 ระดับ ดังนี้
1.1. อารมณ์ การละคร มีจุดมุ่งหมาย ให้ความบันเทิงแก่มนุษย์ได้ผ่อนคลายความเครียดหรือบางครั้งก็กระตุ้นอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ทำให้มนุษย์มีความสุข กระตือรือร้นในการดำเนินชีวิต
1.2. สมอง ให้คุณค่าทางสติปัญญา โดยการดูละครแล้วกลับมาพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับมนุษยชาติและเกี่ยวกับสังคมส่วนรวม
1.3. จิตใจ ความสัมพันธ์ของศิลปะการละครกับจิตใจของมนุษย์มีมาแต่โบราณ จะเห็นได้ว่าการละครตะวันออกและตะวันตก ล้วนถือกำเนิดจากพิธีบวงสรวงเทพเจ้าเพื่อขอพระ และให้เทพเจ้าบันดาลสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์ปรารถนา หรือถ้าจะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็พิจารณาได้จากละครเวที ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในละครเวที มีลักษณะเหมือนชีวิตจริง ๆ ของมนุษย์ คือเหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้วก็ผ่านเลยไป ผู้ชมไม่สามารถหยุดพักเหมือนการอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์ เช่น เมื่อรู้สึกเบื่อก็สามารถปิดหนังสือโทรทัศน์ได้ แต่ผู้ชมละครจะต้องนั่งอยู่ในโรงละคร เพื่อร่วมรู้เห็นการกระทำ (Action) ของตัวละครจนจบเรื่อง จะให้ละครหยุดพักการแสดงเมื่อเราไม่อยากชมและถ้าจะชมต่อ ก็จะให้เริ่มแสดงตรงช่วงนั้น ๆ ต่อเนื่องไปย่อมไม่สามารถจะกระทำได้ เพราะละครแม้จะเป็นผู้แสดงชุดเดียว บทเดียวกัน แต่ต่างช่วงเวลา การแสดงย่อมจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวทั้งหมด ละครเวทีจึงมีลักษณะเหมือนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ๆ
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าละครสามารถให้ได้ทั้งความบันเทิง กระตุ้นเร้าความคิด ให้การศึกษา ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน สอนบทเรียน ให้ความฝันที่คนดูปรารถนาและเป็นเสมือนโลกที่งดงาม ให้ผู้คนหลีกหนีจากชีวิตที่สับสน ได้มาพักสมองผ่อนคลายความเครียดได้ชั่วขณะหนึ่ง
ขอบคุณเว็บไซต์ : http://www.eschool.su.ac.th/school12/M4_2546/4-6/6-003/title%202.html
|