ความเป็นมา รำเหย่ยเป็นการเล่นเพลงพื้นบ้านของภาคกลางในจังหวัดทางภาคตะวันตกคณะผู้เล่นที่มีชื่อเสียงคือ คณะเพลงเหย่ย จากอำเภอพนมทวน จัหวัดกาญจนบุรี
เพลงเหย่ยนี้ นิยมเล่นกันในวันนักขัตฤกษ์ประจำเทศกาล และในโอกาสบันเทิงในท้องถิ่นมีการเล่นเช่นเดียวกับเพลงปฏิพากย์ทั่วไป คือพ่อเพลง แม่เพลงเป็นต้นเสียงร้องนำแก้กันคนละสองวรรค โดยมีลูกคู่ คนอื่นที่อยู่ในวงร้องรับซ้ำคำเดิม เมื่อเริ่มเล่นผู้เล่นจะยืนเป็นครึ่งวงกลม ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอยู่คนละข้างของครึ่งวงกลม การแต่งกายนิยมแต่งแบบไทยเดิม คือนุ่งโจงกระเบนสีสดสวยทั้งชายหญิง ฝ่ายชายสวมเสื้อแขนสั้นคอกลม ตัดด้วยผ้าพื้นหรือผ้าดอกเด่น ฝ่ายหญิงจะใส่เสื้อลูกไม้มีระบายหรือเสื้อไทยพระราชนิยม แขนกระบอก ฝ่ายหญิงจะมีผ้ายาวสีสดสวยคล้องคอไว้ผืนหนึ่งเมื่อพ่อเพลงเริ่มขึ้นเพลง ฝ่ายหญิงคนแรกจะออกมารำด้วยลีลาที่งดงาม คล้องผ้าให้ฝ่ายชายที่เป็นคู่ของตนแล้วทั้งคู่จะออกไปรำตามจังหวะเพลง พ่อเพลงแม่เพลงจะร้องเพลงแก้กันไปเรื่อยๆ เมื่อเหนื่อยแล้ว ฝ่ายชายจะรำไปส่งฝ่ายหญิงยังที่เดิม คนรำอื่นจะออกไปรำเช่นนี้ต่อไปจนครบคู่ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การรำพาดผ้า การเล่นเพลงเหย่ยนี้ บางทีจะสลับให้ฝ่ายชายออกรำก่อนแล้วคล้องผ้าให้ฝ่ายหญิงบ้างก็ได้ส่วนลำดับการเล่นเพลงเหย่ย คือการร้องเกริ่นชักชวนให้ฝ่ายหญิงออกมาเล่นเพลง ด้วยคำร้องสั้นๆว่า
จะเล่นกับฉัน อย่านิ่งให้นานเลยเหย่ย
จะเล่นจะหัว อย่ามัวถือตัวเลยเหย่ย
จะเล่นกับข้า อย่ามัวรอช้าเลยเหย่ย
จะว่าจะร่อน อย่าให้อ้อนวอเลยเหย่ย.
เมื่อฝ่ายหญิงเริ่มรำออกมากลางวง พ่อเพลงก็เริ่มร้องบทไหว้ครู ต่อจากนั้น ก็เป็นกาซักถามเกี่ยวกับประวัติของการเล่นเพลง โดยแม่เพลงจะเป็นผู้ถามในประเด็นต่างๆ แล้วฝ่ายชายจะว่าเพลงบทชมนาง แล้วจึงถึงบทผูกรัก ซึ่งเป็นการเกี้ยวพาราสี อันเป็นตอนสำคัญของการร้องเพลงเหย่ย มีการโต้ตอบกัน ด้วยถ้อยคำที่คมคาย ฉับไว น่าสนใจยิ่ง จบลงด้วยบทลักหาพาหนี
ฝ่ายหญิงจะหอบผ้าตามฝ่ายชายไป ในตอนท้ายจะเป็นบทร้องลาผู้ชมในการเล่นและการร้องเพลงนั้น ผู้ร้องและผู้รำจะทำหน้าที่ของตน อันเป็นลักษณะที่แปลกแตกต่างจากเพลงปฏิพากย์อื่นๆ เพราะผู้รำจะไม่ต้องร้อง ผู้ร้องจะไม่ต้องรำ และแต่เดิมไม่มีการคล้องผ้าซึ่งต่อมามีการดัดแปลงเพิ่มการคล้องผ้า ซึ่งผู้ชมจะเพลิดเพลินไปกับลีลา ท่ารำของผู้เล่นมากกว่าจะเพลิดเพลินกับเนื้อร้องหรือทำนองเพลง
ลักษณะเด่นที่พบในการเล่นเพลงเหย่ย คือ การร้องเพลงโต้ตอบเพลงกันอย่างคมคาย ที่ฝ่ายหญิงจะต่อว่าฝ่ายชายต่างๆนานา ส่วนฝ่ายชาบก็จะแก้ตัวให้พ้นไปเปลาะหนึ่งๆและพยายามออออ้อนให้ฝ่ายหญิงเห็นใจ ยอมรับรักเสียที ต่อปากต่อคำไปเช่นนี้ จนกระทั่งฝ่ายหญิงใจอ่อนยอมหอบผ้าตามไป เป็นการสะท้อนประเพณีลักหาพาหนี แล้วกลับมาขอขมาลาโทษภายหลัง ซึ่งปรากฏในสังคมท้องถิ่นในสมัยก่อนอีกด้วย
ตัวอย่างเพลงเหย่ย
(ชาย) มาเถิดหนาแม่มา มาเล่นพาดผ้ากันเอย พี่ตั้งวงไว้ท่า อย่านิ่งรอช้าเลยเอย พี่ตั้งวงไว้คอย อย่าให้วงกร่อยเลยเอย
(หญิง) ให้พี่ยื่นแขนขวา เข้ามาพาดผ้าเถิดเอย
(ชาย) พาดเอยพาดลง พาดที่องค์น้องเอย
(หญิง) มาเถิดพวกเรา ไปรำกับเขาหน่อยเอย
(ชาย) สวยแม่คุณอย่าช้า ก็รำมาเถิดเอย
(หญิง) รำร่ายกรายวง สวยดังหงส์ทองเอย
(ชาย) รำเอยรำร่อน สวยดังกินนรนางเอย
(หญิง) รำเอยรำคู่ น่าเอ็นดูจริงเอย
(ชาย) เจ้าเขียวใบข้าว พี่รักเจ้าสาวจริงเอย
(หญิง) เจ้าเขียวใบพวง อย่ามาเป็นห่วงเลยเอย
(ชาย) รักน้องจริงจริง รักแล้วไม่ทิ้งไปเอย
(หญิง) รักน้องไม่จริง รักแล้วก็ทิ้งไปเอย
(ชาย) พี่แบกรักมาเต็มอก รักจะตกเสียแล้วเอย
(หญิง) ผู้ชายหลายใจ เชื่อไม่ได้เลยเอย
(หญิง) รักน้องไม่จริง รักแล้วก็ทิ้งไปเอย
(ชาย) พี่แบกรักมาเต็มอก รักจะตกเสียแล้วเอย
(หญิง) ผู้ชายหลายใจ เชื่อไม่ได้เลยเอย
ฯลฯ
ขอบคุณเว็บไซต์ : https://www.baanjomyut.com/library_6/folk_song/05_3_6.html
|