<< Go Back

เป็นการละเล่นมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การแต่งตัวของผู้เล่นเหมือนกับระเบ็ง มือถือไม้กำพด คือ กระบองสั้น แต่มีด้ามยาว มีกลองประกอบการเล่น กลองใหญ่เหมือนกลองทัด หน้ากว้างประมาณ ๕๕ เซนติเมตร ผู้เล่นแบ่งออกเป็นกลุ่ม จะมีกี่กลุ่มก็ได้ กลุ่มละ ๔ คน กลุ่มหนึ่งมีกลองโมงครุ่ม ๑ ใบ อยู่ตรงกลางด้านหน้ามีผู้เล่น ๑ คน มายืนตรงหน้าคอยตีโหม่ง บอกท่าทาง ให้ผู้เล่นทำตาม

เมื่อผู้ตีโหม่งให้สัญญาณ ผู้เล่นเข้าประจำที่แล้ว คนตีโหม่งจะร้อง "อีหลัดถัดทา" และตีโหม่ง ๒ ที แล้วบอกท่าต่างๆ ผู้เล่นจะยักเอว ซ้ายที ขวาที จะร้อง "ถัดถัดท่า ถัดท่าท่าถัด" จนกว่าคนตีโหม่งจะให้สัญญาณเปลี่ยนท่า ผู้ตีโหม่ง จะรัวสัญญาณ ให้ผู้เล่นหยุดยืนอยู่กับที่ ด้วยวิธีร้องบอกว่า "โมงครุ่ม" ตีโหม่ง ๒ ที (มงๆ) ผู้เล่นจะใช้ไม้กำพดตีหนังกลอง ซ้ายที ขวาที (ดังครุ่มๆ) ผู้ตีโหม่งจะรัวสัญญาณให้ผู้เล่นหยุด แล้วบอกท่าใหม่ ท่าที่เล่นมีมากมายหลายท่า เช่น ท่าบัวตูม ท่าบัวบาน ท่าลมพัด ท่ามังกรฟาดหาง พระจันทร์ทรงกลด เมขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน ฯลฯ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ท่ารำโบราณไว้ในสาส์นสมเด็จ การเล่นแบบนี้บางท่านเรียก "อีหลัดถัดทา" ที่เรียกว่าโมงครุ่ม สันนิษฐานว่า คงจะเรียกชื่อตามเสียงโหม่ง และเสียงกลองที่ดัง


 

ขอบคุณเว็บไซต์  : http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=13&chap=7&page=t13-7-infodetail10.html


<< Go Back