<< Go Back

            การศึกษาประวัติความเป็นมา  รูปแบบการแสดงของละครไทย เพื่อเป็นฐานความรู้ในการอนุรักษ์และพัฒนา ให้ถูกต้องตามแบบแผน ประเภท และชนิดของการแสดงการแสดงนากศิลป์ไทยชุดใดที่เป็นแบบแผนมาตรฐาน ก็ควรคงความเป็นมาตรฐานของไทยไว้ ส่วนการที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ก็ควรอยู่บนพื้นฐานของการแสดงแต่ละประเภทด้วย ดังนั้น การศึกษาประวัติความเป็นมาของละครไทยจะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าและความสำคัญของละครไทย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการฝึกปฏิบัติต่อไป

            ละครไทยมีคุณค่าในฐานนะที่เป็น
ที่รวมศิลปะสาขาต่างๆ โดยเฉพาะศิลปะสาขาวิจิตรศิลป์และประณีตศิลป์ซึ่งเป็นศิลปะแห่งความงามที่มุ่งหมายเพื่อเสนอความต้องการทางอารมณ์ สติปัญญา ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ซึ่งแนวทางการศึกษาละครไทยประเภทละครรำ  ผู้เรียนต้องเข้าใจในบทบัญญัติของการแสดงแต่ละประเภทตลอดจนขนบธรรมเนียม เคล็ดลาง ความเชื่อ การบูชาเทพเจ้า ครู ผี  ในการละครไว้ด้วย

           จากหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก ภาพเขียน ภาพจำหลักในโบราณสถาน ภาพถ่าย ตำราและเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ สรุปได้ว่า ทุกชาติทุกภาษามีการละครมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์คู่กับมนุษยชาติ ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีอารายะธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งมีตำนานที่แสดงถึงประวัติความเป็นมาของการละครไทยที่เกี่ยวกับละครรำ  ทั้งที่เป็นละครพื้นบ้าน และละครของราชสำนักบันทึกไว้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า  ละครไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว โดยคนไทยมีนิทานเรื่องมโนราห์ ที่มีการนำมาแสดง และเล่าเป็นนิทานสืบต่อกันมาเป็นเวลาพันพันปีแต่ในบ้างช่วงก็อาจสูญหาย เสื่อมโทรมลงไปบ้าง ครั้นเมื่อบ้านเมืองสงบ มีการตั้งถิ่นฐานเป็นปึกแผ่นจึงมีการสืบสาน ฟื้นฟูและสร้างสรรค์การละครขึ้นมาใหม่

           ละครไทยได้เริ่มการฟื้นฟูและมีการแสดงที่เป็นแบบแผนทั้งที่เป็นแบบพื้นบ้านและแบบมาตรฐานราชสำนัก  โดยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา

       1. สมัยสุโขทัย สมัยนี้ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการละครนักเป็นสมัยที่เริ่มมีความสัมพันธ์กับชาติที่นิยมอารยะธรรมของอินเดียเช่น พม่า มอญ ขอม และละว้าไทยได้รู้จักเลือกเฟ้นศิลปวัฒนธรรมที่ดีของชาติที่สมาคมด้วย  แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าชาติไทยแต่โบราณจะไม่รู้จักการละครฟ้อนรำมาก่อนเรามีการแสดง ประเภทระบำรำเต้นมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้วเมื่อไทยได้รับวัฒนธรรมด้านการละครของอินเดีย  เข้าศิลปะแห่งการละเล่นพื้นเมืองของไทย คือ รำ และระบำก็ได้วิวัฒนาการขึ้นมีการกำหนดแบบแผนแห่งศิลปะการแสดงทั้ง 3 ชนิดไว้เป็นที่แน่นอนและบัญญัติคำเรียก ศิลปะแห่งการแสดงดังกล่าวแล้วขั้นต้นว่า "โขน ละครฟ้อนรำ" ส่วนเรื่องละครแก้บนกับละครยกอาจมีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้นแล้วเช่นกัน
       2. สมัยอยุธยา
         สมัยกรุงศรีอยุธยาละครไทยเริ่มจัดระเบียบแบบแผนให้รัดกุมยิ่งขึ้น มีการตั้งชื่อละครที่เคยเล่นกันอยู่ให้เป็นไปตามหลักวิชานาฏศิลป์ขึ้น มีวรรคดีหลายเรื่องเช่น อุณรุท อิเหนา รามเกียรติ์ มีการแสดงเกิดขึ้นในสมัยนี้หลายอย่าง เช่น ละครชาตรี ละครนอก ละครใน โขน การแสดงบางอย่างก็รับวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน และวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาผสมได้ ละครไทยเริ่มจัดระเบียบแบบแผนให้รัดกุมยิ่งขึ้น มีการตั้งชื่อละครที่เคยเล่นกันอยู่ให้เป็นไปตามหลักวิชานาฏศิลป์ขึ้น มีการแสดงเกิดขึ้นในสมัยนี้หลายอย่าง เช่น ละครชาตรี ละครนอก ละครใน โขน การแสดงบางอย่างก็รับวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน และวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาผสมได้

       3. สมัยกรุงธนบุรี
         สมัยกรุงธนบุรี สมัยนี้เป็นช่วงต่อเนื่องหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 เหล่าศิลปินได้กระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ เพราะผลจากสงคราม บางส่วนก็เสียชีวิต บางส่วนก็ถูกกวาดต้อนไปอยู่พม่า ครั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ปราบดาภิเษกในปีชวด พ.ศ. 2311 แล้ว ทรงส่งเสริมฟื้นฟูการละครขึ้นใหม่ และรวบรวมศิลปินตลอดทั้งบทละครเก่าๆที่กระจัดกระจายไปให้เข้ามาอยู่รวมกัน ตลอดทั้งพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นอีก 5 ตอน คือ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานริน ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกลด (เผารูปเทวดา) ตอนพระลักษณ์ถูกหอกกบิลพัท ตอนปล่อยม้าอุปการ มีคณะละครหลวง และเอกชนเกิดขึ้นหลายโรง เช่น ละครหลวงวิชิตณรงค์ ละครไทยหมื่นเสนาะภูบาล หมื่นโวหารภิรมย์ นอกจากละครไทยแล้วยังมีละครเขมรของหลวงพิพิธวาทีอีกด้วย

       4. สมัยรัตนโกสินทร์
  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์การละครต่างๆ ล้วนได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์สืบเนื่องต่อกันมาเป็นลำดับตั้งแต่ การละครต่างๆ ล้วนได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์สืบเนื่องต่อกันมาเป็นลำดับ
     1) สมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงฟื้นฟูรวบรวมสิ่งต่างๆที่สูญเสีย และกระจัดกระจายให้สมบูรณ์ ในรัชสมัยนี้ได้มีการรวบรวมตำราฟ้อนรำขึ้นไว้เป็นหลักฐานสำคัญที่สุดในประวัติการละครไทย มีบทละครที่ปรากฎตามหลักฐานอยู่ 4 เรื่อง คือ บทละครเรื่องอุณรุท  บทละครเรื่องรามเกียรติ์ บทละครเรื่องดาหลังและบทละครเรื่องอิเหนา
     2) สมัยรัชกาลที่2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นสมัยที่วรรณคดีเจริญรุ่งเรือง เป็นยุคทองแห่งศิลปะการละคร มีนักปราชญ์ราชกวีที่ปรึกษา 3 ท่าน คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี และสุนทรภู่ มีบทละครในที่เกิดขึ้น ได้แก่ เรื่องอิเหนา ซึ่งวรรณคดีสโมสรยกย่องว่าเป็นยอดของบทละครรำและเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนบทละครนอก ได้แก่ เรื่องไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง และมณีพิชัยในสมัยรัชกาลที่ 2 นับว่าเป็นยุคทองแห่งนาฏศิลป์ การละคร และวรรณคดี       ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้เทิดพระเกียรติ์และประกาศยกย่อง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลศหล้านภาลัยว่า ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ. 2510

           กล่าวโดยสรุปคือนาฏศิลป์และการละครไทย ในสมัยนี้มีการฝึกหัดทั้งละครใน ละครนอก โขน ฉะนั้นลีลาท่ารำจึงฝึกปฏิบัติครบถ้วนทั้งพระ นาง ยักษ์ ลิง ซึ่งมีลีลาสืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 1 และมางดงามเฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 2

      3) สมัยรัชกาลที่3
           พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่ละครหลวงซบเซาเนื่องจากพระองค์ไม่สนับสนุน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกละครหลวงเสีย แต่มิได้ขัดขวางผู้จะจัดแสดงละคร ทำให้เกิดคณะละครของเจ้านาย และขุนนางขึ้นแพร่หลาย หลายคณะ หลายโรง และมีบทละครเกิดขึ้นมากมาย
      4) สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยนี้ได้เริ่มมีการติดต่อกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรปบ้างแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูละครหลวงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งออกประกาศสำคัญเป็นผลให้การละครไทยขยายตัวอย่างกว้างขวาง ดังมีความโดยย่อ คือ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้คนทั่วไปมีละครชาย และหญิงเพื่อบ้านเมืองจะได้ครึกครื้นขึ้นเป็นเกียรติยศแก่แผ่นดินแม้จะมีละครหลวง แต่คนที่เคยเล่นละครก็ขอให้เล่นต่อไป
      ห้ามบังคับผู้คนมาฝึกละคร ถ้าจะมาขอให้มาด้วยความสมัครใจสำหรับละครที่มิใช่ของหลวง มีข้อยกเว้นคือ
      - ห้ามใช้รัดเกล้ายอด เครื่องแต่งตัวลงยา และพานทองหีบทองเป็นเครื่องยก
      - บททำขวัญห้ามใช้แตรสังข์
      - หัวช้างห้ามทำสีเผือก ยกเว้นหัวช้างเอราวัณ
         มีประกาศกฎหมายภาษีมหรสพ พ.ศ. 2402 เก็บจากเจ้าของคณะละครตามประเภทการแสดง และเรื่องที่แสดง

      5) สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การละครในยุคนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการละครแบบตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่วงการนาฏศิลป์ทำให้เกิดละครประเภทต่างๆขึ้นมากมาย เช่น ละครพันทาง  ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้อง ละครพูด และลิเกทรงส่งเสริมการละครโดยเลิกกฎหมายการเก็บอากรมหรสพเมื่อ พ.ศ. 2450 ทำให้กิจการละครเฟื่องฟูขึ้นกลายเป็นอาชีพได้ เจ้าของโรงละครทางฝ่ายเอกชนมีหลายราย นับตั้งแต่เจ้านายมาถึงคนธรรมดา
      6) สมัยรัชกาลที่ 6พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยนี้ได้ชื่อว่าเป็นสมัยที่การละคร และการดนตรีทั้งหลายได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด นับได้ว่าเป็นยุคทองแห่งศิลปะการละครยุคที่ 2 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น เพื่อบำรุงวิชาการนาฏศิลป์และการดนตรีและยังทรงเป็นบรมครูของเหล่าศิลปินทรงพระราชนิพนธ์บทโขน ละคร ฟ้อนรำไว้เป็นจำนวนมาก


     7) สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การเมืองเกิดภาวะคับขัน และเศรษฐกิจของประเทศทรุดโทรม เสนาบดีสภาได้ตกลงประชุมกันเลิกกรมมหรสพ เพื่อให้มีส่วนช่วยกู้การเศรษฐกิจของประเทศ และต่อมาจึงกลับฐานะมาเป็นกองขึ้นอีก จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2478 กองมหรสพจึงอยู่ในสังกัดกรมศิลปากร ข้าราชการศิลปินจึงย้ายสังกัดมาอยู่ในกรมศิลปากร ในสมัยนี้มีละครแนวใหม่เกิดขึ้นคือ ละครเพลง หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า "ละครจันทโรภาส" ตลอดทั้งมี ละครหลวงวิจิตรวาทการ  เกิดขึ้น
     8) สมัยรัชกาลที่ 8 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล การแสดงนากศิลป์ โขน ละคร อยู่ในการกำกับดูแลของกรมศิลปากรในสมัยนี้ หลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันการเรียนการสอนศิลปะการแสดง  โขน  ละคร   ดนตรี

ปี่พาทย์ มีการแสดงละครปลุกใจให้รักชาติ เช่นเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง    เจ้าหญิงแสนหวี  พระเจ้ากรุงธน อานุภาพแห่งความรัก  อานุภาพแห่งความเสียสละ เลือดสุพรรณ เป็นต้น และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ประชาชนนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งกรมศิลปากรได้นำมาปรับปรุงเป็นรำวงมาตรฐาน
     9) สมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้บันทึกภาพยนตร์ส่วนพระองค์  บันทึกท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ  ท่ารำเพลงหน้าพาทย์ของพระ นาง ยักษ์ ลิง ได้โปรดเกล้าให้จัดพิธีไหว้ครู มอบท่ารำองค์พระพิราพและปรานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูให้แก่ศิลปินกรมศิลปากรในมัยนี้ การละครเฟื่องฟูมาก มีการจัดแสดงละครกันอย่างแพร่หลาย   ทั้งละครเวที ละครที่แพร่ภาพผ่านสื่อต่างๆ มีผู้ยึดอาชีพการแสดงละครเป็นจำนวนมาก  นอกจากละครไทยแล้ว  ยังมีการแสดงละครตามแนวละครของชาติอื่นๆด้วย ทั้งนี้ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมและเชิดชูเกียรติบุคคลที่อยู่ในแวดวงศิลปะการแสดง โดยกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ

               ละคร หมายถึง  การแสดงที่ผูกเป็นเรื่องแม้จะใช้ท่ารำก็ต้องดำเนินเรื่องจึงแยกการละครไทออกเป็น ละครรำและละครที่ไม่ใช้ท่ารำ
องค์ประกอบสำคัญของละครไทย การละครทุกประเภทจะต้องมีองค์ประกอบดังนี้
              1) ต้องมีเรื่อง ตัวละครจะเจรจาไปตามเนื้อเรื่องของบทละคร ผู้เขียนบทจะต้องมีความสามรถในการบรรยายบุคลิกลักษณะของตัวละครได้ชัดเจน
              2) มีเนื้อหาสรุป หรือแนวคิดของเรื่องเช่น บ่งบอกความรัก ความเสียสละ ความกล้าหาญหรือมุ่งสอนคติธรรมเป็นต้น
              3) ต้องสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละคร โดยนิสัย บุคลิกลักษณะ กิริยาท่าทางของตัวละครต้องสอดรับกับเนื้อหาสรุป
              4) ต้องมีบรรยากาศ ละครต้องสร้างบรรยากาศให้กลมกลืนกับการแสดงของตัวละคร ซึ่งบรรยากาศจะช่วยให้ผู้ชมละคร มีความรู้สึกคล้อยตามไปกับเนื้อเรื่องได้ สิ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศเช่น ฉาก  แสง สี เสียงเป็นต้น
              สำหรับประเภทของละครไทย ถ้ายึดถือลักษณะการแสดงเป็นสำคัญ จะแบบ ออกเป็นละครรำและละครที่ไม่ใช้ท่ารำ
               1. ละครรำหมายถึง ละครที่ใช้ศิลปะการรำในการดำเนินเรื่องประกอบด้วยดนตรีที่บรรเลง
               จากเครื่องดนตรีไทยเนื้อเรื่องที่นำมาเล่นจะเป็นวรรณคดีไทย ละครรำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือละครรำแบบดั้งเดิม และละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่
               ละครรำแบบดั้งเดิมได้แก่
                   1) ละครชาตรี
                   2) ละครนอก
                   3) ละครใน
               ละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่
                   1) ละครดึกดำบรรพ์
                   2) ละครพันทาง
                   3) ละครเสภา

          1. ละครชาตรี  นับเป็นละครที่มีมาแต่สมัยโบราณและมีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่นๆมีลักษณะเป็นละครเร่คล้ายของอินเดียที่เรียกว่า "ยาตรี" หรือ "ยาตราซึ่งแปลว่าเดินทางท่องเที่ยวละครยาตรานี้คือละครพื้นเมืองของชาวเบงคลีในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นละครเร่นิยมเล่นเรื่อง "คีตโควินท์" เป็นเรื่องอวตารของพระวิษณุ ตัวละครมีเพียง 3 ตัว คือ พระกฤษณะ นางราธะ และนางโคปี ละครยาตราเกิดขึ้นในอินเดียนานแล้วส่วนละครรำของไทยเพิ่งจะเริ่มเล่นในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยาจึงอาจเป็นได้ที่ละครไทย  อาจได้แบบอย่างจากละครอินเดียเนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของอินเดียแพร่หลายมายังประเทศต่างๆ ในแหลมอินโดจีนเช่น พม่า มาเลเซีย เขมร และไทยจึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกันอยู่มาก

          ในสมัยโบราณละครชาตรีเป็นที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทยเรื่องที่แสดงคงจะนิยมเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า "โนห์ราชาตรี" เพราะชาวใต้ชอบพูดตัดพยางค์หน้าสันนิษฐานว่าละครชาตรีได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ 3 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2312เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชและพาขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพวกละคร
ใน พ.ศ. 2323 ในวานฉลองพระแก้วมรกต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวงผู้หญิงของหลวง
ใน พ.ศ. 2375 สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)สมัยที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้ลงไปปราบและระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ พวกชาวใต้จึงอพยพติดตามขึ้นมาด้วยรวมทั้งพวกที่มีความสามารถในการแสดงละครชาตรี
นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดละครชาตรีมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเดิมนั้นพระเทพสิงขร บุตรของนางศรีคงคา ได้หัดละครที่กรุงศรีอยุธยาขุนสัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงขรได้นำแบบแผนละครลงไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นปฐม  จึงได้เล่นละครสืบต่อกันมา โดยมากในเวลานี้เราเข้าใจว่า "โนห์รา"เป็นแบบแผนการละครของชาวปักษ์ใต้แต่ความจริงโนห์ราเป็นแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ เป็นแต่เสียงร้องเพี้ยนไปอย่างเสียงคนปักษ์ใต้เท่านั้น  ในสมัยต่อมาการละครของกรุงศรีอยุธยาได้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปมากแต่ทางปักษ์ใต้คงแสดงตามแบบเดิมอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้  ดังนั้นถ้าเราใคร่จะดูละครเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาในสมัยต้นๆ อย่างแท้จริงก็ต้องดูโนห์รา
            ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน เรียกว่า "ละครชาตรีเข้าเครื่อง" หรือ "ละครชาตรีเครื่องใหญ่"การแสดงแบบนี้บางทีก็มีฉากแบบละครนอก แต่บางครั้งก็ไม่มีฉากอย่างละครชาตรีดนตรีที่ใช้ประกอบก็ใช้แบบผสมคือ  ใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์  ของละครนอกการแสดงเริ่มด้วยการรำซัดชาตรี แล้วลงโรง จับเรื่องด้วย "เพลงวา" แบบละครนอก ส่วนเพลง และวิธีการแสดงก็ใช้ทั้งละครชาตรี และละครนอก  ปนกันการแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบันและนิยมมาแสดงเป็นละครแก้บนตามสถานที่ต่าง ๆ
            ผู้แสดงในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน มีตัวละครเพียง 3 ตัว คือ ตัวนายโรง ตัวนางและตัวตลก แต่มาถึงยุคปัจจุบันมักนิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงเสียส่วนใหญ่
            การแต่งกายละครชาตรีแต่โบราณไม่สวมเสื้อ เพราะทุกตัวใช้ผู้ชายแสดงตัวยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่นก็นุ่งสนับเพลานุ่งผ้าคาดเจียระบาดมีห้อยหน้า ห้อยข้าง สวมสังวาล ทับทรวงกรองคอกับตัวเปล่า บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้นการผัดหน้าในสมัยโบราณใช้ขมิ้นลงพื้นสีหน้าจนนวลปนเหลืองไม่ใช่ปนแดงอย่างเดี๋ยวนี้  ส่วนการแต่งกายในสมัยปัจจุบันมักนิยมแต่งเครื่องละครสวยงามเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "เข้าเครื่องหรือยืนเครื่อง"
            เรื่องที่แสดงในสมัยโบราณละครชาตรีนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ โดยเฉพาะเรื่องพระสุธนนางมโนห์รากับรถเสน (นางสิบสอง) นอกจากนี้ยังมี บทละครชาตรีที่นำมาจากบทละครนอก (สำนวนชาวบ้าน) ได้แก่ ลักษณวงศ์ ตอนถวายพราหมณ์ถึงฆ่าพราหมณ์เกสรแก้วหน้าม้า ตะเพียนทอง สังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์ วงษ์สวรรค์ - จันทวาทตอนตรีสุริยาพบจินดาสมุทร โม่งป่า พระพิมพ์สวรรค์ สุวรรณหงส์ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า โกมินทร์ พิกุลทอง พระทิณวงศ์ กายเพชร กายสุวรรณ อุณรุฑพระประจงเลขา จำปาสี่ต้น ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัย 60ปีมาแล้ว ต้นฉบับบางเรื่องยังหาไม่พบก็มี
            การแสดงเริ่มต้นจะต้องทำพิธีบูชาครูเบิกโรง หลังจากนั้นปี่พาทย์ก็โหมโรงชาตรีตัวยืนเครื่องออกมารำซัดหน้าบทตามเพลงการรำซัดนี้สมัยโบราณ  ขณะร่ายรำผู้แสดงจะต้องว่าอาคมไปด้วยเพื่อป้องกันเสนียดจัญไร และการกระทำย่ำยีต่างๆวิธีเดินวนรำซัดก่อนแสดงนี้จะรำเวียนซ้าย เรียกว่า "ชักใยแมงมุม" หรือ "ชักยันต์" ต่อจากรำซัดหน้าบทเวียนซ้ายแล้วก็เริ่มจับเรื่องตัวแสดงขึ้นนั่งเตียงแสดงต่อไป  การแสดงละครชาตรีตัวละครร้องเองไม่ต้องมีต้นเสียงตัวละครที่นั่งอยู่ที่นั้นก็เป็นลูกคู่ไปในตัวและเมื่อเลิกการแสดงจะรำซัดอีกครั้งหนึ่ง ว่าอาคมถอยหลังรำเวียนขวาเรียกว่า "คลายยันต์" เป็นการถอนอาถรรพ์ทั้งปวง
            ดนตรี    วงดนตรีปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงมี ปี่ สำหรับทำทำนอง 1 โทน 2 กลองเล็ก (เรียกว่า "กลองชาตรี") 2 และฆ้อง 1 คู่แต่ละครชาตรีที่มาแสดงกันในกรุงเทพฯ นี้ มักตัดเอาฆ้องคู่ออกใช้ม้าล่อแทนซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย
            เพลงร้องในสมัยโบราณตัวละครมักเป็นผู้ด้นกลอน และร้องเป็นทำนองเพลงร่ายและปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า "ชาตรี" อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรีร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี รำชาตรี ชาตรีตะลุง
            สถานที่แสดงใช้บริเวณบ้านที่กลางแจ้ง หรือศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมายแม้ฉากก็ไม่ต้องมี บริเวณที่แสดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดาโบราณใช้เสา 4 ต้น ปัก 4 มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง 1 เตียงจะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัย อีก 1 เสา เสานี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์)  เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตรายจึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางดรง เสานี้ในภายหลังใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่างๆ)เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว

2. ละครนอก  ละครนอก มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานีแต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง และร้องแก้กันแล้วต่อมาภายหลังจับเป็นเรื่องเป็นตอนขึ้นเป็นละครที่ดัดแปลงวิวัฒนาการมาจากละคร "โนห์รา" หรือ "ชาตรี"โดยปรับปรุงวิธีแสดงต่างๆ ตลอดจนเพลงร้อง และดนตรีประกอบให้แปลกออกไป
            ผู้แสดงในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน ผู้แสดงจะต้องมีความคล่องแคล่วในการรำและร้องมีความสามารถที่จะหาคำพูดมาใช้ในการแสดงได้อย่างทันท่วงทีกับเหตุการณ์  เพราะขณะแสดงต้องเจรจาเอง
            การแต่งกาย  ในขั้นแรกตัวละครแต่งตัวอย่างคนธรรมดาสามัญเป็นเพียงแต่งให้รัดกุมเพื่อแสดงบทบาทได้สะดวก  ตัวแสดงบทเป็นตัวนางก็นำเอาผ้าขาวม้ามาห่มสไบเฉียงให้ผู้ชมละครทราบว่าผู้แสดงคนนั้นกำลังแสดงเป็นตัวนาง  ถ้าแสดงบทเป็นตัวยักษ์ก็เขียนหน้าหรือใส่หน้ากากต่อมามีการแต่งกายให้ดูงดงามมากขึ้น วิจิตรพิสดารขึ้นเพราะเลียนแบบมาจากละครใน บางครั้งเรียกการแต่งกายลักษณะนี้ว่า "ยืนเครื่อง"
            เรื่องที่แสดง    แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น 3 เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ สมัยโบราณ มีบทละครนอกอยู่มากมายแต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง 14 เรื่อง คือ การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัยสุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัตสมัยรัตนโกสินทร์ มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอกในรัชกาลที่ 2 อีก 6 เรื่อง คือสังข์ทอง ไชยเชษฐ์ ไกรทอง มณีพิชัย คาวี และสังข์ศิลป์ชัย (สังข์ศิลป์ชัยเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยรัชกาลที่ 2 ทรงแก้ไข)
การแสดงมีความมุ่งหมายในการแสดงเรื่องมากกว่าความประณีตในการร่ายรำฉะนั้นในการดำเนินเรื่องจะรวดเร็ว ตลกขบขันไม่พิถีพิถันในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี การใช้ถ้อยคำของผู้แสดงมักใช้ถ้อยคำ "ตลาด" เป็นละครที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นภาษาธรรมดาว่า "ละครตลาด" ทั้งนี้เพื่อให้ทันอกทันใจผู้ชมละคร
            ดนตรีมักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ก่อนการแสดงละครนอกปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเย็น เป็นการเรียกคนดู เพลงโหมโรงเย็นประกอบด้วยเพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม และเพลงลา
เพลงร้องมักเป็นเพลงชั้นเดียว หรือเพลง 2 ชั้น ที่มีจังหวะรวดเร็ว มักจะมีคำว่า "นอก" ติดกับชื่อเพลง เช่น เพลงช้าปี่นอก โอ้โลมนอก ปีนตลิ่งนอกขึ้นพลับพลานอก เป็นต้น มีต้นเสียง และลูกคู่ บางทีตัวละครจะร้องเองโดยมีลูกคู่รับทวน มีคนบอกบทอีก 1 คน
            สถานที่แสดงโรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ 3 ด้าน (เดิม) กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง มีประตูเข้าออก 2 ทางหน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำหรับตัวละครนั่งด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับตัวละครพักหรือแต่งตัว
            3. ละครในละครใน ละครในมีหลายชื่อ เช่น ละครใน ละครข้างใน ละครนางในและละครในพระราชฐาน เป็นต้น สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศละครในแสดงมาจนถึงสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ หลังสมัยรัชกาลที่ 6 มิได้มีละครในในเมืองหลวงอีก เนื่องจากระยะหลังมีละครสมัยใหม่เข้ามามากจนต่อมามีผู้คิดฟื้นฟูละครในขึ้นอีก เพื่อแสดงบ้างในบางโอกาส แต่แบบแผนและลักษณะการแสดงเปลี่ยนไปมาก
            ผู้แสดงเป็นหญิงฝ่ายใน เดิมห้ามบุคคลภายนอกหัดละครในจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเลิกข้อห้ามนั้น ต่อมาภายหลังอนุญาตให้ผู้ชายแสดงได้ด้วยผู้แสดงละครในต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถตีบทให้แตก และมีลักษณะทีท้าวทีพญา
            การแต่งกาย พิถีพิถันตามแบบแผนกษัตริย์จริงๆ เรียกว่า "ยืนเครื่อง  " ทั้งตัวพระและตัวนาง
            เรื่องที่แสดง มักนิยมแสดงเพียง3 เรื่อง คือ อุณรุท อิเหนา และรามเกียรติ์
            การแสดง ละครในมีความมุ่งหมายอยู่ที่ศิลปะของการร่ายรำต้องให้แช่มช้อยมีลีลารักษาแบบแผน และจารีตประเพณี
            ดนตรีใช้วงปี่พาทย์เหมือนละครนอก แต่เทียบเสียงไม่เหมือนกันจะต้องบรรเลงให้เหมาะสมกับเสียงของผู้หญิงที่เรียกว่า "ทางใน"
            เพลงร้อง  ปรับปรุงให้มีทำนอง และจังหวะนิ่มนวล สละสลวย ตัวละครไม่ร้องเอง มีต้นเสียงและลูกคู่ มักมีคำว่า "ใน" อยู่ท้ายเพลง เช่น ช้าปี่ใน โอ้โลมใน

สถานที่แสดงแต่เดิมแสดงในพระราชฐานเท่านั้น ต่อมาไม่จำกัดสถานที่

            4. ละครดึกดำบรรพ์ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กำเนิดขึ้น ณบ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว. หลาน กุญชร ) โดยแสดง ณโรงละครของท่านที่ตั้งชื่อว่า "โรงละครดึกดำบรรพ์"เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ได้เดินทางไปยุโรปเมื่อปี พ.ศ. 2434 และมีโอกาสได้ชมละครโอเปร่า (Opera) ซึ่งท่านชื่นชมการแสดงมากเมื่อกลับมาจึงคิดทำละครโอเปร่าให้เป็นแบบไทย จึงเล่าถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็โปรดเห็นว่าดีในการสร้างละครดึกดำบรรพ์ครั้งนี้นอกจากท่านจะเป็นผู้สร้างโรงละครดึกดำบรรพ์ สร้างเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การแสดงแล้ว ท่านยังได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่สำคัญได้แก่
            - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บทและทรงเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉาก และกำกับการแสดง
            - หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันท์) เป็นผู้จัดทำนองเพลงควบคุมวงดนตรีและปี่พาทย์
            - หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เป็นผู้ปรับปรุง ประดิษฐ์ท่ารำ และฝึกสอนให้เข้ากับบท และลำนำทำนองเพลง
            ละครดึกดำบรรพ์ได้ออกแสดงครั้งแรกปี พ.ศ. 2442 เนื่องในโอกาสต้อนรับเจ้าชายเฮนรี่ พระอนุชาสมเด็จพระเจ้ากรุงปรัสเซียซึ่งเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ละครดึกดำบรรพ์ได้รับความนิยมตลอดมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เกิดอาการเจ็บป่วยถวายบังคมลาออกจากราชการทำให้ต้องเลิกการแสดงละครดึกดำบรรพ์ไป  นับแต่เริ่มแสดงละครดึกดำบรรพ์จนเลิกการแสดงรวมระยะเวลา 10 ปี

ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วนผู้ที่จะได้รับคัดเลือกให้แสดงละครดึกดำบรรพ์จะต้องมีความสามารถพิเศษ

ด้วยคุณสมบัติ คือ
            - เป็นผู้ที่มีเสียงดี ขับร้องเพลงไทยได้ไพเราะ
            - เป็นผู้ที่มีรูปร่างงาม รำสวยยิ่งผู้ที่จะแสดงเป็นตัวเอกของเรื่องด้วยแล้วต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์อย่างมาก
การแต่งกายเหมือนอย่างละครในที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง"นอกจากบางเรื่องที่ดัดแปลงเพื่อความเหมาะสม และให้ตรงกับความเป็นจริง

เรื่องที่แสดงที่เป็นบทละครบางเรื่อง และบางตอน พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้แก่ เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี ตอนสามหึงเรื่องอิเหนา ตอนไหว้พระ เรื่องสังข์ศิลป์ชัยภาคต้น เรื่องกรุงพานชมทวีปเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุฑ เรื่องมณีพิชัย
          - บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่เรื่องศกุนตลา เรื่องท้าวแสนปม เรื่องพระเกียรติรถ
          - บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจฑาธุชธราดิลกกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ได้แก่ เรื่องสองกรวรวิก เรื่องจันทกินรีเรื่องพระยศเกตุ
การแสดงจะผิดแปลกจากละครแบบดั้งเดิม เพราะผู้แสดงต้องร้องเองรำเองไม่มีบรรยายกิริยาของตัวละคร  ได้มีการปรับปรุงการแสดงความเป็นไปในเนื้อเรื่องของละครดึกดำบรรพ์พยายามแสดงให้สมจริงสมจังมากที่สุด มีการตกแต่งฉาก และสถานที่ ใช้แสง สีเสียง ประกอบฉาก นับเป็นต้นแบบในการจัดฉากประกอบการแสดงของโขน
          - ละครต่อมาการแสดงมักแสดงตอนสั้นๆ ให้ผู้ชมละครชมแล้วอยากชมต่ออีก
ดนตรี  ใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เพื่อความไพเราะนุ่มนวลโดย การผสมวงดนตรี  ขึ้นใหม่และคัดเอาสิ่งที่มีเสียงแหลมเล็กหรือดังมากๆ ออกเหลือไว้แต่เสียงทุ้มทั้งเพิ่มเติมสิ่งที่เหมาะสมเข้ามา เช่น ฆ้องหุ่ยมี 7 ลูก 7 เสียงต่อมาเรียกว่า "วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์  "

เพลงร้องนำมาจากบทละคร โดยปรับปรุงหลายอย่าง คือ
          - ตัดคำว่า "เมื่อนั้น" "บัดนั้น" เมื่อจะกล่าวถึงใครออกโดยให้ตัวละครรำใช้บทเพื่อให้เข้าใจว่าใครเป็นผู้พูด
          - คัดเอาแต่บทเจรจาไว้ โดยยกบทเจรจามาร้องรำ ให้ตัวละครร้องโต้ตอบกันเอง
          - ไม่มีบทที่กล่าวถึงกิริยาของตัวละครว่า จะนั่ง จะเดินซ้ำอีกทำให้ผู้แสดงไม่เคอะเขิน
          - บรรยายภาพไว้ในบทร้อง ประกอบศิลปะการรำ
          - ไม่มีคำบรรยาย

บทโต้ตอบ ทุ่มเถียง วิวาท ใช้บทเจรจาเป็นกลอนแทน และเจรจาเหมือนจริง
          - มีการนำทำนองเสนาะในการอ่านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้
          - มีการนำเพลงพื้นเมือง เพลงชาวบ้าน การละเล่นของเด็กมาใช้
          - มีการเจรจาแทรกบทร้องโดยรักษาจังหวะตะโพนให้เข้ากับบทร้อง และอื่นๆ
สถานที่แสดง  มักแสดงตามโรงละครทั่วไป เพราะต้องมีการจัดฉากประกอบให้ดูสมจริงมากที่สุด
            5. ละครพันทาง     ละครพันทาง เป็นละครแบบผสมผู้ให้กำเนิดละครพันทางคือเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ท่านเป็นเจ้าของคณะละครมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่เพิ่งมาเป็นหลักฐานมั่นคงในรัชกาลที่ 5 ซึ่งแต่เดิมก็แสดงละครนอก ละครในต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านไปยุโรปจึงนำแบบละครยุโรปมาปรับปรุงละครนอกของท่านให้มีแนวทางที่แปลกออกไป ละครของท่านได้รับความนิยมมากในปลายรัชกาลที่ 5 และสิ่งที่ท่านได้สร้างให้เกิดในวงการละครของไทย คือ
          - ตั้งชื่อโรงละครแบบฝรั่งเป็นครั้งแรก เรียกว่า "ปรินซ์เทียเตอร์"
          - ริเริ่มแสดงละครเก็บเงิน (ตีตั๋ว) ที่โรงละครเป็นครั้งแรก
          - การแสดงของท่านก่อให้เกิดคำขึ้นคำหนึ่ง คือ "วิก" เหตุที่เกิดคำนี้คือละครของท่านแสดงสัปดาห์ละครั้ง คนที่ไปดูก็ไปกันทุกๆสัปดาห์ คือไปดูทุกๆวิก มักจะพูดกันว่าไปวิก คือไปสุดสัปดาห์ด้วยการไปดูละครของท่านเจ้าพระยา
          เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม โรงละครของท่านตกเป็นของบุตร คือเจ้าหมื่นไวยวรนาถ (บุศย์) ท่านผู้นี้เรียกละครของท่านว่า "ละครบุศย์มหินทร์" ละครโรงนี้ได้ไปแสดงในยุโรปเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยไปแสดงที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้มีคณะละครต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครบทละครเรื่อง "พระลอ (ตอนกลาง)" นำเข้าไปแสดงถวายรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตร ณพระที่นั่งอภิเษกดุสิตเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ทรงตั้งคณะละครขึ้นชื่อว่า  "คณะละครหลวงนฤมิตร"ได้ทรงนำพระราชพงศาวดารไทยมาทรงพระนิพนธ์เป็นบทละคร เช่น เรื่องวีรสตรีถลางคุณหญิงโม ขบถธรรมเถียร ฯลฯ ทรงใช้พระนามแฝงว่า "ประเสริฐอักษร" ปรับปรุงละครขึ้นแสดง โดยใช้ท่ารำของไทยบ้างและท่าของสามัญชนบ้างผสมผสานกันเปลี่ยนฉากไปตามเนื้อเรื่อง เรียกว่า "บทละครพระราชพงศาวดาร"และเรียกละครชนิดนี้ว่า "ละครพันทาง"

ผู้แสดง  มักนิยมใช้ผู้แสดงชาย และหญิงแสดงตามบทบาทตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง
การแต่งกาย   ไม่แต่งกายตามแบบละครรำทั่วไปแต่จะแต่งกายตามลักษณะเชื้อชาติ เช่น การแสดงเกี่ยวกับเรื่องมอญ ก็จะแต่งแบบมอญ แสดงเกี่ยวกับเรื่องพม่าก็จะแต่งแบบพม่า เป็นต้น

เรื่องที่แสดงส่วนมากดัดแปลงมาจากบทละครนอก เรื่องที่แต่งขึ้นในระยะหลังก็มี เช่นพระอภัยมณี เรื่องที่แต่งขึ้นจากพงศาวดารของไทยเอง และของชาติต่างๆ เช่นจีน แขก มอญ ลาว ได้แก่ เรื่องห้องสิน ตั้งฮั่น สามก๊ก ซุยถัง ราชาธิราชเป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่ปรับปรุงจากวรรณคดีเก่าแก่ของภาคเหนือเช่น พระลอ
การแสดง ดำเนินเรื่องด้วยคำร้อง เนื่องจากเป็นละครแบบผสมดังกล่าวแล้วประกอบกับเป็นละครที่ไม่แน่นอนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ดังนั้นบางแบบต้นเสียง และคู่ร้องทั้งหมดเหมือนละครนอก ละครในบางแบบต้นเสียงลูกคู่ร้องแต่บทบรรยายกิริยา ส่วนบทที่เป็นคำพูดตัวละครจะร้องเองเหมือนละครร้อง มีบทเจรจาเป็นคำพูดธรรมดาแทรกอยู่บ้างดังนั้นการที่จะทำให้ผู้ชมรู้เรื่องราว และเกิดอารมณ์ต่างๆจึงอยู่ที่ถ้อยคำและทำนองเพลงทั้งสิ้นส่วนท่าทีการร่ายรำมีทั้งดัดแปลงมาจากชาติต่างๆ ผสมเข้ากับท่ารำของไทย
ดนตรี  มักนิยมใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม   เรื่องใดที่มีท่ารำ เพลงร้องและเพลงดนตรีของต่างชาติผสมอยู่ด้วยก็จะเพิ่มเครื่องดนตรี  อันเป็นสัญลักษณ์ของภาษานั้นๆ เรียกว่า "เครื่องภาษา"เข้าไปด้วยเช่น ภาษาจีนก็มีกลองจีน กลองต๊อก แต๋ว ฉาบใหญ่ส่วนพม่าก็มีกลองยาวเพิ่มเติมเป็นต้น

เพลงร้อง    ที่ใช้ร้องจะเป็นเพลงภาษาสำหรับเพลงภาษานั้นหมายถึงเพลงประเภทหนึ่งที่คณาจารย์ดุริยางคศิลปได้ประดิษฐ์ขึ้นจากการสังเกต และการศึกษาเพลงของชาติต่างๆ ว่ามีสำเนียงเช่นใดแล้วจึงแต่งเพลงภาษาขึ้นโดยใช้ทำนองอย่างไทยๆ แต่ดัดแปลงให้มีสำเนียงของภาษาของชาตินั้นๆ หรืออาจจะนำสำเนียงของภาษานั้นๆ มาแทรกไว้บ้างเพื่อนำทางให้ผู้ฟังทราบว่า เป็นเพลงสำเนียงอะไรและได้ตั้งชื่อเพลงบอกภาษานั้นๆ เช่น มอญดูดาว จีนเก็บบุปผา ลาวชมดงลาวรำดาบ แขกลพบุรี เป็นต้น คนร้องซึ่งมีตัวละคร ต้นเสียง และลูกคู่จะต้องเข้าใจในการแสดงของละคร เพลงร้อง และเพลงดนตรีเป็นอย่างดี

สถานที่แสดงแสดงบนเวที มีการจัดฉากไปตามท้องเรื่องเช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์

          6. ละครเสภา      มีกำเนิดมาจากการเล่านิทานเมื่อการเล่านิทานเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทำให้เกิดการปรับปรุงแข่งขันกันขึ้นผู้เล่าบางท่านจึงคิดแต่งเป็นกลอน ใส่ทำนองมีเครื่องประกอบจังหวะ คือ "กรับ" จนกลายเป็นขับเสภาขึ้น
          เสภามีมาแต่โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาสันนิษฐานว่ามีขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตโลกนาถราว พ.ศ. 2011 เสภาในสมัยโบราณไม่มีดนตรีประกอบจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีปี่พาทย์บรรเลงประกอบเสภา
          สมัยรัชกาลที่ 3 นิยมเพลงอัตรา 3 ชั้น เพลงที่ร้องและบรรเลงในการขับเสภาซึ่งเคยขับเพลง 2 ชั้น ก็เปลี่ยนเป็น 3 ชั้นบ้างและใช้กันมาจนปัจจุบันนี้
          สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีผู้คิดเอาตัวละครเข้ามาแสดงการรำและทำบทบาทตามคำขับเสภา และร้องเพลง เรียกว่า "เสภารำ"สมัยนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กวีช่วยกันแต่งเสภาเรื่อง "นิทราชาคริต"เพื่อใช้ขับเสภาในเวลาทรงเครื่องใหญ่ มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงคือพวกขับเสภาสำนวนแบบนอก คือใช้ภาษาพื้นบ้านหันมาสนใจสำนวนหลวง
          สมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ช่วยกันชำระเสภาขุนช้างขุนแผนแก้ไขกลอนให้เชื่อมติดต่อกัน และพิมพ์เป็นฉบับหอสมุดแห่งชาติขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นแบบแผนของการแสดงขับเสภา ซึ่งต่อมากลายเป็น "ละครเสภา"
ผู้แสดง มักนิยมใช้ผู้แสดงชาย และหญิง ตามบทเสภาของเรื่อง
การแต่งกาย แต่งกายตามท้องเรื่องคล้ายกับละครพันทาง
เรื่องที่แสดงมักจะนำมาจากนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ไกรทองหรือจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เช่น พญาราชวังสัน สามัคคีเสวก
การ แสดงละครเสภาจำแนกตามลักษณะการแสดง ไว้ดังนี้ คือ
          เสภาทรงเครื่อง สมัยรัชกาลที่ 4 วงปี่พาทย์ได้ขยายตัวเป็นเครื่องใหญ่เมื่อปี่พาทย์โหมโรงจะเริ่มด้วย "เพลงรัวประลองเสภา" ต่อด้วย "เพลงโหมโรง"เช่น เพลงไอยเรศ เพลงสะบัดสะบิ้ง หรือบรรเลงเป็นชุดสั้นๆ เช่นเพลงครอบจักรวาล แล้วออกด้วยเพลงม้าย่องก็ได้ข้อสำคัญเพลงโหมโรงจะต้องลงด้วยเพลงวา จึงจะเป็น "โหมโรงเสภา"เมื่อปี่พาทย์โหมโรงแล้ว คนขับก็ขับเสภาไหว้ครูดำเนินเรื่องถัดจากนั้นร้องส่งเพลงพม่าห้าท่อนแล้วขับเสภาคั่นร้องส่งเพลงจระเข้หางยาวแล้วขับเสภาคั่น ร้องเพลงสี่บทแล้วขับเสภาคั่นร้องส่งเพลงบุหลันแล้วขับเสภาคั่น ต่อจากนี้ไปไม่มีกำหนดเพลงแต่คงมีสลับกันเช่นนี้ตลอดไปจนจวนจะหมดเวลาจึงส่งเพลงส่งท้ายอีกเพลงหนึ่งเพลงส่งท้ายนี้  แต่เดิมใช้เพลงกราวรำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นอกทะเลเต่ากินผักบุ้งหรือพระอาทิตย์ชิงดวง เดิมบรรเลงเพลง 2 ชั้นต่อมาประดิษฐ์เป็นเพลง 3 ชั้น ที่เรียกว่า "เสภาทรงเครื่อง" คือการขับเสภาแล้วมีร้องส่งให้ปี่พาทย์รับนั่นเอง

เสภารำเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กระบวนการเล่นมีการขับเสภาและเครื่องปี่พาทย์ บางครั้งก็ใช้มโหรีแทน มีตัวละครออกแสดงบทตามคำขับเสภาและมีเจรจาตามเนื้อร้อง เสภารำมีแบบสุภาพ และแบบตลกเสภารำแบบตลกนี้ผู้ริเริ่มชื่อขุนรามเดชะ (ห่วง) บางท่านว่าขุนราม (โพ)กำนันตำบลบ้านสาย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเล่าลือกันว่าขับเสภาดีนักผู้แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา สมัยรัชกาลที่6 ขุนสำเนียงวิเวกวอน (น่วม บุญยเกียรติ) ร่วมกับนายเกริ่น และนายพันคิดเสภาตลกขึ้นอีกชุดหนึ่งเลียนแบบขุนช้างขุนแผน โดยแสดงเรื่องพระรถเสนตอนฤาษีแปลงสาร
ดนตรีมักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าบรรเลง และมีกรับขยับประกอบการขับเสภา

เพลงร้องมีลักษณะคล้ายละครพันทางแต่จะมีการขับเสภาซึ่งเป็นบทกลอนสุภาพแทรกอยู่ในเรื่องตลอดเวลา

สถานที่แสดงเหมือนกับการแสดงละครพันทาง

          7.  โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยมีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวถึงการเล่นโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทางเข้ากับเสียงซอและเครื่องดนตรีอื่นๆผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ  โขนเป็นที่รวมของศิลปะหลายแขนงคือ โขนนำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์  โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง และโขนนำศิลปะการพากย์การเจรจาหน้าพาทย์เพลงดนตรี การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขน ปิดหน้าหมด ยกเว้น เทวดามนุษย์ และมเหสี ธิดาพระยายักษ์  มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย  เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ  ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์

             7.1 ประเภทของโขนแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

1)  โขนกลางแปลง
2)  โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว
3)  โขนหน้าจอ
4)  โขนโรงใน
5)  โขนฉาก

1. โขนกลางแปลงคือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่นนิยมแสดงตอนยกทัพรบกันโขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤตเรื่องมีอยู่ว่าเทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤตโดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขาเทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมาพระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา พระนารายณ์เชิญให้พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสียพระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้ ครั้นกวนต่อไป เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลกพระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคิรีไว้ ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม  พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสียพวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมากเทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์ พระนารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้วก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่มพระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา  แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็นอสูร ราหูเห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดาจึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย พระอาทิตย์และพระจันทร์จึงแอบบอกพระนารายณ์พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะแต่ร่างกายท่อนล่างตายไป ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มากพบที่ไหนก็อมทันที เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยะคราส ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวรราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก
การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา  โขนกลางแปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพการเต้นประกอบหน้าพาทย์ มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน  จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง
2. โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคาไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน) มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียงมีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ มีปี่พาทย์2 วง เพราะต้องบรรเลงมาก ตั้งหัวโรงท้ายโรง จึงเรียกว่าวงหัวและวงท้าย หรือวงซ้ายและวงขวา วันก่อนแสดงโขนนั่งราวจะมีการโหมโรงและให้พวกโขนออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลง พอจบโหมโรงก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่าจับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพิราพ แล้วก็หยุดแสดง พักนอนค้างคืนที่โรงโขนรุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่เตรียมไว้ จึงเรียกว่า "โขนนอนโรง"
3. โขนหน้าจอ คือโขนที่เล่นตรงหน้าจอซึ่งเดิมเขาขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่ ในการเล่นหนังใหญ่นั้น มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว การแสดงหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญ คือการพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังต้องเต้นตามลีลาและจังหวะดนตรีนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงหนังจอ แทนการเชิดหนังในบางตอนเรียกว่า "หนังติดตัวโขน" มีผู้นิยมมากขึ้น เลยปล่อยตัวโขนออกมาแสดงหน้าจอตลอดไม่มีการเชิดหนังเลย จึงกลายเป็นโขนหน้าจอ และต้องแขวะจอเป็นประตูออก 2 ข้าง เรียกว่า "จอแขวะ"
4. โขนโรงใน คือโขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม โขนโรงในมีปี่พาทย์บรรเลง 2 วงผลัดกัน การแสดงก็มีทั้งออกท่ารำเต้นมีพากย์และเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการ ของดนตรีแบบละครในและมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย เป็นการปรับปรุงให้วิวัฒนาการขึ้นอีก การผสมผสานระหว่างโขนกับละครในสมัยรัชกาลที่1 รัชกาลที่ 2 ทั้งมีราชกวีภายในราชสำนักช่วยปรับปรุงขัดเกลา และประพันธ์บทพากย์บทเจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก
โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันนี้ก็ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงใน ไม่ว่าจะแสดงกลางแจ้งหรือแสดงหน้าจอก็ตาม
5. โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่5 เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวที คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงในแต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมาเพื่อสะดวกในการจัดฉาก กรมศิลปากรได้ทำบทเป็นชุดๆ ไว้หลายชุด เช่น ชุดปราบกากนาสูรชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดง ชุดพระรามครองเมือง
การแสดงโขนโดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่อง "รามเกียรติ์"กรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุทแต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องรามเกียรติ์ที่นำมาแสดงโขนนั้นมีหลายสำนวนทั้งที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบทในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมแสดงตามสำนวนของรัชกาลที่ 2 ที่กรมศิลปากรปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอน เพื่อแสดงโขนฉากก็เดินเรื่องตามสำนวนของรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 6 ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง 6 ชุด คือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา และชุดนาคบาศ

7.2 การแต่งกาย แต่งแบบยืนเครื่องเหมือนละครใน เน้นความประณีต วิจิตรพิสดาร โดยเลียนแบบมาจากเครื่องต้นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ ตามลักษณะของตะละครประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ พระ นาง

ยักษ์ ลิง และตัวประกอบ มีเครื่องสวมศีรษะ  ได้แก่ ศีรษะเทพเจ้า ชฎาพระ ชฎานาง หัวโขนยักษ์ ลิง และสัตว์ต่างๆ เรื่องที่แสดงคือเรื่อง รามเกียรติ์

7.3 ดนตรีประกอบการแสดงใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า  เครื่องคู่    เครื่องใหญ่
     1) วงปี่พาทย์เครื่องห้า เป็นวงหลักที่เกิดขึ้นก่อนวงปี่พาทย์ประเภทอื่นประกอบ ไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้ปี่ใน 1 เลา ตะโพน 1 ลูก ระนาดเอก 1 ราง ฉิ่ง 1 คู่ ฆ้องวงใหญ่ 1 วง กลองทัด 2 ลูก

     2) วงปี่พาทย์เครื่องคู่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชการที่ 3 ได้ มีผู้คิดประดิษฐ์ ระนาดทุ้ม และ ฆ้องวงเล็ก ขึ้นจึงเกิดการประสมวงใหม่โดยนำระนาดทุ้ม และฆ้องวงเล็กรวมเข้ากับวงปี่พาทย์เครื่องห้าเดิมและเพิ่มเติม ปี่นอก ซึ่งใช้ในการบรรเลง วงปี่พาทย์สำหรับการแสดง หนังใหญ่ เพื่อให้เครื่องดนตรีดำเนินทำนองทุกชนิดในวงมีจำนวนเป็นคู่จึงประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีดังนี้ปี่ใน 1 เลา ปี่นอก 1 เลา ระนาดเอก 1 ราง ระนาดทุ้ม 1 ราง ฆ้องวงใหญ่ 1 วง ฆ้องวงเล็ก 1 วง กลองทัด 1 คู่ตะโพน 1 ลูก ฉิ่ง 1 คู่ ฉาบเล็ก 1 คู่ โหม่ง 1 ใบ กลองสองหน้า 1 ลูก หรือ กลองแขก 1 คู่

     3) วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เกิดขึ้นในสมัยรัชการที่ 3 และ 4 โดยเพิ่ม ระนาดเอกเหล็ก และ ระนาดทุ้มเหล็ก เข้าไว้กับวงปี่พาทย์เครื่องคู่โดยตั้งระนาดเอกเหล็ก ไว้ทางริมด้านขวามือและระนาดทุ้มเหล็กไว้ที่ริมด้านซ้ายมือซึ่งนักดนตรีทั่ว ไปนิยมเรียก ว่า "เพิ่มหัวท้าย" ดังแผนภูมิต่อไปนี้

วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชการที่ 4 บางวงได้ เพิ่มเติมจำนวนกลองทัดเป็น 3 ถึง 4 ใบ ส่วนฉาบใหญ่นั้นมีการนำมาใช้ในสมัยพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชการที่ 5



<< Go Back