<< Go Back

ชักนาคดึกดำบรรพ์ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการแสดงเรื่องการชักนาคเพื่อเอาน้ำอมฤตจากเกษียรสมุทร ตามคติของฮินดู มักจะแสดงในงานมหรสพหลวง การละเล่นชักมีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกว่า มีการตั้งเขาพระสุเมรุและภูเขาอื่น ๆ ที่กลางสนาม แล้วให้ตำรวจเล็กแต่งตัวเป็นอสูร 100 ตน มหาดเล็กแต่งตัวเป็นเทวดา และวานรอย่างละ 100 และแต่งเป็นสุครีพ พาลี และมหาชมพูอย่างละหนึ่งตัว เข้าร่วมแห่ทำพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์ โดยให้อสูรชักหัว เทวดาและวานรชักหาง ของ พญานาค เพื่อให้มหาสมุทร ถูกกวนจนเกิดแผ่นดิน และ น้ำอมฤต แต่เทวดาและอสูรกลับมาทำสงครามแย่งชิงน้ำอมฤตกัน จนสุดท้าย ฝ่ายเทวดาและวานร ได้ใช้กลอุบายหลอกพวกอสูร จนได้น้ำอมฤตไป เหล่าเทวดาจึงได้เป็นใหญ่บนสวรรค์จนทุกวันนี้
พิธีชักนาคดำบรรพ์ ในกฎมณเฑียรบาลเป็นพระราชพิธีจำลองการกวนเกษียรสมุทร มีการเกณฑ์เจ้าพนักงานฝ่ายต่างๆ มาแต่งกายเป็นยักษ์ เป็นเทวดา ตามเทพปกรณ์ เหมือนอย่างเป็นการแสดงละคร (คำว่า ‘ละคร’ นี้ชวาเรียก ‘เลกอง’ เขมรเรียก ‘ละโคน’ หรือ ‘ละโคนพระกรุณา’ ไทยเรียก ‘ละคร’ หรือ ‘โขน’ ทั้งหมดหมายถึง การแสดง) ดังนั้นจึงต้อง มีการตั้งเขาพระสุเมรุ และมีนาคสำหรับให้ตัวละครชัก เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘น้ำอมฤต’ ที่กษัตริย์ผู้ทรงประกอบพิธีนั้นจะเสวยเพื่อเป็นอมตะ พร้อมกับที่ประทับเป็นผู้ปกครองเหนือเหล่าเทวดาทั้งหลาย ในฐานะของ ‘พระอินทร์’ พระราชพิธีนี้จึงรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งด้วยว่า ‘อินทราภิเษก’

 


 

ขอบคุณเว็บไซต์  :      https://th.wikipedia.org/wiki/ชักนาคดึกดำบรรพ์
https://thematter.co/thinkers/royal-funeral-pyre/37182


<< Go Back