<< Go Back

ละครกรีกมีกำเนิดสัมพันธ์กับศาสนาของกรีก ซึ่งมีเทพเจ้าหลายองค์ การเคารพเทพเจ้ามีทั้งที่ทำประจำวันเป็นการส่วนตัว และทำเป็นนครรัฐ เป็นเทศกาลสำหรับเทพเจ้าเฉพาะองค์
ในนครรัฐเอเธนส์ มีเทศกาล 4 เทศกาลในรอบหนึ่งปี เพื่อบูชาเทพไดโอนีซุส (Dyonysus) เทพเจ้าแห่งไวน์และความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ 2 ใน 4 ของเทศกาลดังกล่าว กล่าวคือ ในเทศกาล The Great Dyonysia ในฤดูใบไม้ผลิ และ เทศกาล Lenaia ในฤดูหนาว จะมีการจัดแสดงละครแข่งขันกัน มีการประกวด ทั้งบทละครของนักแต่งบทละคร และ นักแสดง ทั้งนี้ ในการแสดงละคร จะมีแท่นบวงสรวงเทพเจ้า (altar) อยู่ในฉากเสมอ และมีที่นั่งสำหรับพวกนักบวชของวิหารไดโอนีซุส ในช่วง 200 ปีแรกที่มีการเล่นละคร มีการเล่นเฉพาะที่นครรัฐเอเธนส์เท่านั้น ต่อมา จึงได้มีกระจายไปยังนครรัฐอื่น ๆ กล่าวกันว่า ละครกรีก ก่อกำเนิดขึ้นจากบทขับร้องบูชาเทพไดโอนีซุส ที่เรียกว่า dithyramb ซึ่งเป็นการขับร้องร่วมกันหลายคน ต่อมามีผู้นำกลุ่มในการขับร้องเกิดขึ้น และเริ่มมีการเรียก dithyramb ดังกล่าวนี้ ว่า goat song ( tragos + oide ( = goat + song,ode) รวมคือ tragoidia = goat song ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า tragedy ต่อมา) ทั้งนี้ แพะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพไดโอนีซุส และในการบวงสรวงเทพองค์นี้ ผู้ขับร้องก็จะแต่งกายด้วยหนังแพะ และจะมีการให้รางวัลผู้ชนะการประกวดการขับร้องเป็นแพะ) ต่อมา กล่าวกันว่า กลาง ปีที่ 680 ก่อนคริสตกาล Thespis ได้สร้างตัวละครตัวแรกขึ้น เพื่อพูดโต้ตอบกับผู้นำกลุ่มการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นกลุ่มลูกคู่ (chorus) 10 ปีหลังจากนั้น Aeschylus ได้สร้างตัวละครตัวที่ 2 ขึ้น และ ต่อมาไม่นานนัก Sophocles (496-406 ปี ก่อนคริสตกาล) ก็เป็นผู้สร้างตัวละครตัวที่ 3 ต่อมา Euripides (480-406 ปีก่อนคริสตกาล) ได้ลดบทบาทของลูกคู่ลง ซึ่งทำให้ละครมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น
โรงละครกรีก เริ่มแรกสร้างตามความลาดลงมาของหุบเขา เป็นโรงละครกลางแจ้ง ที่จุผู้ชมได้ประมาณ 14,000 คน โรงละครกรีก มีส่วนวงกลมหน้าเวที สำหรับให้ลูกคู่เต้นรำ เรียกว่า orchestra ด้านข้างเวที เป็นทางเข้าออกของลูกคู่ เรียกว่า parodoi และด้านหลังเวที เป็นตึก 2 ขึ้น เรียกว่า skene (= scene) ไว้ใช้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวของตัวละคร ด้านหน้าของส่วนล่างของตึก มีระเบียงซึ่งมีเสาเรียงราย เรียกว่า proskenion (= proscenium) เวทีการแสดงจะอยู่หน้าส่วนนี้ มีทางเข้าออก 3 ประตู แต่ต่อมา เวทีจะถูกยกให้สูงขึ้นยังชั้นสองของตึก และมีการติดฉากไม้วาดเป็นรูประหว่างเสาระเบียงด้านล่าง ที่เวทีละคร มีเครื่องกล คือ eccyclema เป็นพื้นหรือแท่นเลื่อนได้ เพื่อแสดงให้เห็นร่างผู้ที่ถูกฆ่า (เพราะจะไม่มีการแสดงฉากที่รุนแรงบนเวที) และมี mechane เป็นปั้นจั่นยกของหรือคนให้บินเหาะลงมาบนเวที ซึ่งต่อมา ภาษาละตินเรียกว่า deus ex machina (god from the machine) เพื่อนำตัวละครที่เป็นเทพเจ้าเข้ามาคลี่คลายปัญหาของบทละครในเรื่อง
ละครกรีก มีการใช้หน้ากาก (personae) จะมี ผมและเครา รวมด้วย ในช่วงแรก จะเป็นหน้ากากแบบสมจริง แต่ต่อมาจะเป็นแบบมีปากกว้าง เพื่อช่วยเสริมให้เสียงพูดดังขึ้น และมีการใส่รองเท้าเสริมส้น (cothurnus) ให้ดูตัวใหญ่ขึ้น เพื่อช่วยเสริมขนาดของตัวละครบนเวที ส่วนชุดนั้น จะบ่งบอกลักษณะและสถานภาพของตัวละครชัดเจน
การแสดงละครไม่มีการหยุดพัก แต่มีลูกคู่ (chorus) มาร้องเพลงคั่นฉากระหว่างที่ตัวละครสำคัญเปลี่ยนชุด สำหรับ tragedy แต่เดิมมีลูกคู่ 50 คน ต่อมา ลดลงเหลือเพียง 15 คนในสมัยของ Sophocles ส่วน สำหรับ comedy มี 24 คน ลูกคู่จะอยู่ในฉากตลอดเวลา ทำหน้าที่โต้ตอบกับตัวละครด้วยในบางครั้ง เพื่อช่วยในการดำเนินเรื่อง
ผู้แสดงละคร สำหรับละคร tragedy จะมีผู้แสดงหลัก (ที่จะมีบทพูด) ไม่เกิน 3 คน และ สำหรับละคร comedy จะมี ไม่เกิน 5 คน สำหรับ tragedy ผู้แสดงที่เป็นตัวเด่นที่สุด จะมีเพียงคนเดียว ซึ่งผู้แต่งบทละครจะได้รับแจกมาจากรัฐโดยการจับฉลาก ผู้แสดงคนนี้ จะเป็นผู้ที่เข้าประกวดนักแสดง ส่วนผู้แสดงที่เหลืออีก 2 คน ผู้แต่งบทละครจะเลือกเอง ผู้แสดงจะมีแต่ผู้ชายเท่านั้น (เข้าใจว่า การที่มีผู้แสดงได้จำกัด เป็นเพราะต้องใช้พลังเสียงจริง ซึ่งจะหาได้ยาก (ในขณะนั้น ประชากรในนครรัฐเอเธนส์ เฉพาะผู้ชาย มีเพียงประมาณ 30,000 คนเท่านั้น) ทั้งนี้ พลเมืองที่มีฐานะดีจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดแสดงละคร
ละคร tragedy ของกรีก เป็นละครศาสนา จะมุ่งเน้นให้เกิด catharsis คือ การชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ โดยการดูละครที่ทำให้เกิดความรู้สึกสงสารและกลัว (pity and fear) ทำให้มนุษย์เคารพเชื่อฟังเทพเจ้า
บทละครกรีก มี 4 องค์ประกอบหลัก คือ
1. prologos (= prologue) – บทนำ : อาจเป็น monologue หรือ dialogue เป็นการเปิดเรื่อง แนะนำ theme และ ตัวละครบางตัว
2. parodos - การเข้ามาของลูกคู่ : เป็นการเปิดเรื่องต่อ ปูพื้นเรื่องต่อ
3. epeisodia (episode) – เนื้อเรื่อง จะอยู่ระหว่างบทร้องของลูกคู่ (stasimon) ซึ่งเป็นบทคั่นฉาก epeisodia จะมี 4-5 epeisodia และอาจมี kommos เป็นบทคร่ำครวญที่ตัวละครและลูกคู่จะร่วมกันแสดง
4. exodus (= exit) – บทสรุป : เป็นบทที่ตามหลังบทร้องของลูกคู่ (stasimon) บทสุดท้าย บทสรุปนี้ อาจเป็นคำพูดของผู้ส่งสาส์น (messenger) หรือ เทพเจ้า (deus ex machina) ก็ได้
การจัดการแสดงละคร จะจัดแสดงบทละครของนักเขียนบทละคร (poet) 1 คน ต่อ 1 วัน รวม 3-4 วัน นักเขียนบทคนหนึ่ง จะส่งบทละครชุด รวม 3 เรื่อง และ มีละคร satyr play เป็นละครตลกสั้น ๆ เล่นต่อท้าย เป็นละครล้อ tragedy นั้น ๆ (ลูกคู่จะแต่งกายเป็นตัว satyr ซึ่งมีรูปร่างครึ่งคนครึ่งแพะหรือม้า (คือใส่ชุดที่ดูเหมือนมีหาง) และในวันสุดท้ายจะมีละครประเภท comedy (มาจากคำว่า comus หรือ komos แปลว่า ความสนุกสนานเพลิดเพลิน (revel)) ซึ่งจะมีการประกวดด้วย โดยมีบทละคร comedy รวม 5 เรื่องแสดงประกวดภายใน 1 วัน เนื้อหาในละคร comedy จะมีการเสียดสีล้อเลียนการเมืองด้วย เพราะนครรัฐกรีก เป็นนครรัฐประชาธิปไตย ที่ประชากรให้ความสำคัญต่อการเมือง
นักแต่งบทละครที่สำคัญในยุคนี้ สำหรับ tragedy ได้แก่ Aeschylus, Sophocles, และ Euripides ส่วน comedy ได้แก่ Aristophanes มีบทละครของนักเขียนเหล่านี้เหลือตกมาถึงปัจจุบันจำนวนไม่มากนัก รวมแค่ 46 บท จากหลายร้อยบท


 

ขอบคุณเว็บไซต์  : http://thaigoodview.com/node/10121


<< Go Back