ประวัติผ้าไหม
ที่มีหลักฐาน และการค้นพบเก่าแก่ที่สุด คือ มีการพบที่ประเทศจีน ประมาณ 4,700 กว่าปีที่แล้ว โดยมีหลักฐานที่สามารถอ้างถึงได้ อาทิ หนังสือจีนโบราณชื่อ ไคเภ็ก ที่กล่าวถึงพระนางง่วนฮุย พระมเหสีของพระเจ้าอึ้งตี่ ที่เป็นผู้ริเริ่มการทอผ้าไหมจากหนอนไหมที่พระองค์สังเกตเห็นโดยบังเอิญ และได้เผยแพร่ไปสู่เขตต่างๆ รวมไปถึงอาณาจักรใกล้เคียง
สำหรับประเทศไทย พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้าไหมที่เก่าแก่ที่สุดประมาณ 3,000 กว่าปีที่แล้ว โดยพบเศษผ้าไหมของวัฒนธรรมบ้านเชียง ณ บ้านนาดี อำเภอหนองหาญ จังหวัดอุดร และบริเวณพื้นที่อื่นๆในภาคอีสาน ซึ่งจากการสันนิษฐาน พบว่า มีการเลี้ยง และการทอผ้าไหมเป็นเครื่องนุ่งหุ่มกระจายทั่วไปในแถบภาคอีสาน และสายพันธุ์ไหมที่ใช้เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีการฟักตัวได้ตลอดทั้งปี มีลักษณะรูปร่างเรียวเล็กสีเหลือง ในส่วนภาคอื่นๆ ของประเทศมีหลักฐานตรวจพบถึงการทอผ้าไหมเป็นเครื่องนุ่งห่มปรากฏตามจารึกของพงศาวดารต่างๆ จนถึงสมัยอยุธยา กรุงธนบุรี ถึงรัชสมัยปัจจุบัน
ในสมัยราชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ 2411-2453) ถือเป็นยุคแรกของการส่งเสริมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหมของไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาชีพรองจากการทำนาเลยทีเดียว บริเวณพื้นที่อีสานถือเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหม่อนไหม และทอผ้าไหมมากที่สุด โดยสมัยนั้นเทคโนโลยีเกี่ยวกับผ้าไหมยังไม่เจริญก้าวหน้า ชาวบ้านยังทำได้เป็นเส้นไหมหยาบใช้เป็นเส้นพุงได้อย่างเดียว ส่วนไหมเส้นยืนต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งกรมช่างไหม และโรงเรียนสอนเกี่ยวกับการปลูก และการทอผ้าไหมโดยเฉพาะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญประเทศญี่ปุ่น จนทำให้เกิดการพัฒนาวิทยาการการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเทคโนโลยีการทอผ้าไหมมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้เครื่องทอผ้าไหมแทนมือ เป็นต้น แต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนลง การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหมก็ซบเซาลง
จนกระทั่ง พ.ศ. 2479 จึงมีการกลับมาส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอีกครั้ง โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริม และพัฒนาตามจังหวัดหลักๆที่มีทอผ้าไหมกันมาก ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดหนองคาย เป็นต้น พร้อมกันกับ พ.ศ. 2491 มีนักลงทุนชาวอเมริกัน จิม ทอมสัน จัดตั้งบริษัท จิมทอมสันไหมไทย จำกัด ทำให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหมของไทยพัฒนามาเป็นแบบอุตสาหกรรม และธุรกิจมากขึ้น โดยการส่งจำหน่ายที่ประเทศอเมริกา และประเทศอื่นๆ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก
การทอผ้าไหม และการตลาดในปัจจุบันถูกพัฒนาในรูปการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อส่งออกต่างประเทศ และจำหน่ายภายในประเทศ แต่ก็ยังมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น เช่น บริษัทจุลไหมไทย จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด เป็นต้น
สำหรับการผลิตผ้าไหมในภาคครัวเรือนพบมากเกือบทุกภาค โดยเฉพาะในภาคอีสาน และภาคเหนือที่มีการผลิตในระดับครัวเรือน และการจัดตั้งกลุ่มผู้ทอผ้าขึ้น ปัจจุบันมีมากกว่า 200 รายทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และการส่งออก
http://thaiphamai.blogspot.com/2013/04/blog-post.html
|