Uncountable Nouns คือ คำนามนับไม่ได้ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นพวกสิ่งที่มันเล็กมาก ยากที่จะนับให้หมด อาจจะเป็นสิ่งของที่อยู่ในภาพรวมใหญ่มากหรือเป็นแนวความคิด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะมานั่งแบ่งแยกออกได้ ถึงแม้ว่าคำบางคำอาจจะเป็นนามนับได้ในภาษาอื่น แต่ในภาษาอังกฤษคำพวกนี้คือนามนับไม่ได้
โดยทั่วไปแล้ว Uncountable Nouns จะอยู่ในรูปเอกพจน์ (singular) เสมอ (ไม่สามารถเติม s, es ตามหลังคำนามนั้นๆได้) นอกจากนี้ มันจะมี uncountable nouns บางคำที่ลงท้ายด้วย s แต่จริงๆแล้วมันไม่ได้มีความหมายเป็นพหูพจน์ เช่น news, politics, economics เป็นต้น เพราะฉะนั้น อย่าสับสนกับการนำไปใช้
uncountable nouns ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มต่างๆดังต่อไปนี้
ของเหลวและก๊าซ เช่น milk (นม), water (น้ำ), coffee (กาแฟ), tea (ชา), wine (ไวน์), air (อากาศ), oxygen (อ็อกซิเจน), ink (หมึก)
ของแข็งและสสารที่เป็นพวกเม็ดเล็กๆ เช่น bread (ขนมปัง), soap (สบู่), gold (ทอง), copper (ทองแดง), metal (โลหะ), wood (ไม้), sugar (น้ำตาล), salt (เกลือ), sand (ทราย), rice (ข้าว), powder (แป้ง)
สสารที่เปลี่ยนรูปได้ เช่น cheese, butter, ice-cream
ชื่อวิชา เช่น mathematics (คณิตศาสตร์), economics (เศรษฐศาสตร์), science (วิทยาศาสตร์), biology (ชีววิทยา), French (ภาษาฝรั่งเศส), psychology (จิตวิทยา)
ชื่อภาษา เช่น Thai (ภาษาไทย), English (ภาษาอังกฤษ), Malay (ภาษามลายู), Chinese (ภาษาจีน), German (ภาษาเยอรมัน), Spanish (ภาษาสเปน), Japanese (ภาษาญี่ปุ่น)
แรงและพลังงาน เช่น heat (ความร้อน), electricity (ไฟฟ้า), sunshine (แสงแดด), radiation (รังสี), magnetism (อำนาจแม่เหล็ก)
ข้อมูลและแนวคิดที่เป็นนามธรรม เช่น information (ข้อมูล), news (ข่าวสาร), education (การศึกษา), politics (การเมือง), democracy (ประชาธิปไตย), intelligence (สติปัญญา/ความเฉลียวฉลาด), advice (คำแนะนำ), knowledge (ความรู้), research (งานวิจัย), love (ความรัก), fear (ความหวาดกลัว), anger (ความโกรธ), beauty (ความสวยงาม), safety (ความปลอดภัย)
ชื่อกีฬาและกิจกรรมต่างๆ เช่น football (ฟุตบอล), tennis (เทนนิส), basketball (บาสเก็ตบอล), fishing (ตกปลา), camping (การอยู่ค่ายพักแรม)
แนวคิดภาพรวมของสิ่งของกลุ่มใหญ่ เช่น fruit (ผลไม้), food (อาหาร), money (เงิน), furniture (เฟอร์นิเจอร์ – เป็นภาพรวมของเครื่องตกแต่งบ้านต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้), garbage (ขยะ), crockery (เครื่องถ้วยชาม-เป็นภาพรวมของจาน ชาม ถ้วยต่างๆ), luggage/baggage (กระเป๋าเดินทาง)
เราสามารถทำ uncountable nouns ให้เป็น countable nouns ได้ โดยการใส่จำนวน+ภาชนะ/น้ำหนัก/ลักษณนามให้กับคำศัพท์นั้นๆ เช่น
a cup of tea / two cups of tea ชา 1 ถ้วย /ชา 2 ถ้วย
a glass of water / two glasses of water น้ำ 1 แก้ว /น้ำ 2 แก้ว
a bottle of wine / two bottles of wine ไวน์ 1 ขวด / ไวน์ 2 ขวด
a bar of soap / two bars of soap สบู่ 1 ก้อน / สบู่ 2 ก้อน
a cone of ice-cream / two cones of ice-cream ไอศกรีม 1 โคน / ไอศกรีม 2 โคน
a spoon of salt / two spoons of salt เกลือ 1 ช้อน / เกลือ 2 ช้อน
a kilo of sugar / two kilos of sugar น้ำตาล 1 กิโล / น้ำตาล 2 กิโล
a slice of bread / two slices of bread ขนมปัง 1 ชิ้น /ขนมปัง 2 ชิ้น
จะเห็นได้ว่าเมื่อเราใส่ลักษณนามเพื่อทำให้ uncountable nouns กลายเป็น countable nouns ได้แล้ว หากเราต้องการทำให้อยู่ในรูปพหูพจน์ เราต้องเติม s หรือ es หลังลักษณนามนั้นๆ เราไม่สามารถเติม s หรือ es หลัง uncountable ได้ เพราะ uncountable nouns จะอยู่ในรูปของเอกพจน์เสมอ
*เพิ่มเติม : มีศัพท์บางคำเป็นได้ทั้ง countable nouns และ uncountable nouns เพราะศัพท์นั้นๆมีรูปเดียวกันแต่มีความหมายต่างกัน เช่น light ถ้าแปลว่า โคมไฟ จะเป็นนามนับได้ (สามารถเติม s ได้ถ้าเป็นพหูพจน์) แต่ถ้าแปลว่า แสงสว่าง จะเป็นนามนับไม่ได้ (รูปเอกพจน์เพียงอย่างเดียว)
https://jasmineisteaching.wordpress.com/2014/11/18/countable-and-uncountable-nouns-คืออะไร/
|