ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้สถาปนาการบริหารยึดครองในออสเตรีย และเยอรมนี ออสเตรียนั้นได้กลายมาเป็นรัฐ ที่เป็นกลางทางการเมือง โดยไม่อิงกับกลุ่มการเมืองใด ๆ ส่วนเยอรมนีนั้นถูกแบ่งออกเป็นเขตยึดครองฝั่งตะวันตก และตะวันออก ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก และสหภาพโซเวียตตามลำดับ โครงการขจัดความเป็นนาซี (Denazification) ในเยอรมนีได้นำไปสู่การฟ้องอาชญากรสงครามนาซี และการปลดอดีตผู้นำนาซีลงจากอำนาจ แต่ต่อมา นโยบายนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นการนิรโทษกรรม และการยอมรับอดีตนาซี เข้ากับสังคมเยอรมนีตะวันตกอีกครั้ง เยอรมนีสูญเสียพื้นที่ไปหนึ่งในสี่จากพื้นที่ เมื่อ ค.ศ. 1937 พื้นที่ทางตะวันออก ได้แก่ ไซลีเซีย นอยมาร์ค และส่วนใหญ่ของพอเมอเรเนีย ถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์ ปรัสเซียตะวันออก ถูกแบ่งระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียต ตามด้วยการขับไล่ชาวเยอรมัน 9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ เช่นเดียวกับชาวเยอรมัน 3 ล้านคนออกจากซูเดเตนแลนด์ในเชโกสโลวาเกียไปยังเยอรมนี ภายในคริสต์ทศวรรษ 1950 ชาวเยอรมันตะวันตก หนึ่งในห้าคนเป็นผู้ลี้ภัยมาจากทางตะวันออก สหภาพโซเวียตยังได้ยึดครองจังหวัดของโปแลนด์ ที่อยู่ทางตะวันออกของเส้นเคอร์ซอน ซึ่งชาวโปแลนด์กว่า 2 ล้านคนถูกขับไล่ออกมาด้วย การยึดครองนี้รวมไปถึงโรมาเนียตะวันออก บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก และรัฐบอลติกทั้งสาม
ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ด้วยความพยายามที่จะรักษาสันติภาพทั่วโลก โดยมีผลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 และปรับใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปี ค.ศ. 1948 อันเป็นมาตรฐานสามัญซึ่งทุกชาติสมาชิกจะต้องบรรลุ ความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธมิตรตะวันตก และสหภาพโซเวียตได้เสื่อมลงตั้งแต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลงแล้ว และชาติอภิมหาอำนาจแต่ละฝ่าย ต่างก็เริ่มสร้างเขตอิทธิพลของตนเองอย่างรวดเร็ว ทวีปยุโรปได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้วยอิทธิพลของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก และสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ม่านเหล็ก" ซึ่งได้ลากผ่านประเทศเยอรมนี และประเทศออสเตรีย สหภาพโซเวียตได้สร้างค่ายตะวันออกขึ้น โดยการผนวกดินแดนหลายประเทศ ซึ่งถูกยึดครองอยู่ในลักษณะของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ซึ่งเดิมจะต้องผนวกรวมเข้ากับเยอรมนี ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ อย่างเช่น โปแลนด์ตะวันออก รัฐบอลติกทั้งสาม บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก และโรมาเนียตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนรัฐอื่นที่สหภาพโซเวียตยึดครองในระหว่างสงครามก็ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนฮังการี สาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวัก สาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย สาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนีย และเยอรมนีตะวันออกภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต
ในทวีปเอเชีย สหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดครองญี่ปุ่น และดำเนินการปกครองหมู่เกาะต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ขณะที่สหภาพโซเวียตก็เข้ายึดครองหมู่เกาะซาฮาลินและหมู่เกาะคูริล ส่วนเกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นนั้น ก็ถูกแบ่งแยกและถูกยึดครองโดยสองขั้วอำนาจ จากความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งพันธมิตรนาโต้ และทางสหภาพโซเวียตก็ได้ก่อตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้น ทั้งสององค์การทางทหารนี้อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่นาน เกิดเหตุการณ์เกาหลีเหนือบุกครองเกาหลีใต้ขึ้น ระหว่างเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยจีนและสหภาพโซเวียต กับเกาหลีใต้ภายใต้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติ ซึ่งทึ่สุดแล้วจบลงด้วยการเสมอกันและสัญญาหยุดยิง หลังจากนั้น ผู้นำเกาเหลีเหนือ คิม อิลซอง ได้สร้างรูปแบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างมาก รวมทั้งก่อให้เกิดลัทธิบูชาบุคคลอันน่าเกรงขาม
หลายประเทศซึ่งถูกชาติตะวันตกยึดครองเป็นอาณานิคม ได้ประกาศเอกราชและแยกตัวออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความสูญเสียทรัพยากรของชาติตะวันตก ทำให้อิทธิพลจากภายนอกอ่อนแอลง โดยการแยกตัวดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างสันติในหลายประเทศ ยกเว้นในเวียดนาม มาดากัสการ์ อินโดนีเซีย และแอลจีเรีย ในอีกหลายพื้นที่ในโลก ทำให้เกิดเป็นประเทศใหม่ขึ้นมามากมาย ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและศาสนา การประกาศเอกราชที่โดดเด่นมาก คือ ปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ อันนำไปสู่การก่อตั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ และในอินเดียก็เกิดการแตกออกเป็นสองประเทศ คือ อินเดียและปากีสถาน
ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองมีความแตกต่างกันในหลากหลายภูมิภาคของโลก และพบว่าในหลายประเทศมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในทางบวก เช่น เยอรมนีตะวันตก ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนอยู่ในสถานะก่อนสงครามได้ในคริสต์ทศวรรษ 1950 อิตาลี ซึ่งออกจากสงครามด้วยสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เศรษฐกิจของอิตาลีก็มีอัตราการเติบโตสูงและมีเสถียรภาพ สหราชอาณาจักรออกจากสงครามด้วยเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน แต่สภาพทางเศรษฐกิจของอังกฤษ ยังคงถดถอยอีกเป็นเวลากว่าทศวรรษ ฝรั่งเศสก็มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็วเช่นกัน และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงและมีการดำเนินตามสมัยนิยม สหภาพโซเวียตก็มีอัตราการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังสงคราม และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการเติบโจทางเศรษฐกิจสูงมาก จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จีน ซึ่งเป็นประเทศล้มละลาย จากผลของสงครามกลางเมือง แต่ในปี ค.ศ. 1953 เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว และมีอัตราการผลิตกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาที่มีผลผลิตทางอุตสาหกรรมคิดเป็นครึ่งหนึ่งของโลก แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ถดถอยอย่างหนัก
ความสูญเสียและอาชญากรรมสงคราม
ได้มีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สองไว้อย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ได้เสนอว่าคิดเป็นจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ประกอบไปด้วยทหารอย่างน้อย 22 ล้านคน และพลเรือนอย่างน้อย 40 ล้านคน สาเหตุเสียชีวิตของพลเรือนส่วนใหญ่นั้นมาจากโรคระบาด การอดอาหาร การฆ่าฟัน และการทำลายพืชพันธุ์ ด้านสหภาพโซเวียตสูญเสียประชากรราว 27 ล้านคนระหว่างช่วงสงคราม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
จากความสูญเสียร้อยละ 85 เป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร (ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวโซเวียต) และร้อยละ 15 เป็นของฝ่ายอักษะ มีการประมาณว่ามีพลเรือนราว 12 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี 1.5 ล้านคนจากการทิ้งระเบิด และสาเหตุอื่นๆ ในยุโรปอีก 7 ล้านคน รวมไปถึงอีก 7.5 ล้านคนในจีน โดยเหตุการณ์ที่โด่งดัง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่นานกิง โดยสาเหตุที่ตัวเลขความสูญเสียมีความแตกต่างกันมากนั้นมีสาเหตุมาจากว่าการตายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้
จำนวนการเสียชีวิตจำนวนมากเป็นผลมาจากการล้างชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนภายใต้การยึดครองของฝ่ายอักษะ และอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ ซึ่งถูกกระทำโดยชาวเยอรมันและชาวญี่ปุ่น โดยเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีของอาชญากรรมสงครามชาวเยอรมัน ได้แก่ ฮอโลคอสต์ ซึ่งเป็นการล้างชาติอย่างเป็นระบบในเขตยึดครองของเยอรมนีและพันธมิตร โดยนอกจากชาวยิวแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มความคิดอื่น ๆ ถูกสังหารอีกเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านคน และด้านทหารญี่ปุ่นก็ได้สังหารพลเรือนราว 3 - 10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ระหว่างสงครามโลกครั้งทีสอง
นอกจากนั้น เรื่องของการใช้อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมียังได้ถูกนำมาตัดสินด้วย ทหารอิตาลีได้ใช้แก๊สมัสตาร์ดในการบุกครองเอธิโอเปีย ส่วนญี่ปุ่นได้ใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง และในสงครามชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น โดยทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นได้มีการทดลองอาวุธกับพลเรือนและเชลยสงครามจำนวนมาก
ขณะที่การตัดสินคดีความอาชญากรรมสงครามของฝ่ายอักษะถูกชำระความในศาลชำระความระหว่างประเทศแห่งแรก แต่ว่าอาชญากรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับตรงกันข้าม ตัวอย่างอาชญากรรมสงคราม เช่น การถ่ายเทพลเรือนในสหภาพโซเวียต ค่ายใช้แรงงานของโซเวียต การกักกันชาวญี่ปุ่น-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการคีลฮาล (Operation Keelhaul) การขับไล่ชาวเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การข่มขืนระหว่างการยึดครองเยอรมนี การสังหารหมู่คาตินของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ ในสงครามยังมีผู้เสียชีวิตเป็นอันมากจากทุพภิกขภัย เช่น ทุพภิกขภัยแคว้นเบงกอล ค.ศ. 1943 และทุพภิกขภัยเวียดนาม ค.ศ. 1944-45
นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอว่า การทิ้งระเบิดขนานใหญ่ในเขตพลเรือนในดินแดนข้าศึกของสัมพันธมิตรตะวันตก รวมทั้งโตเกียว และที่โดดเด่นที่สุดคือ นครเดรสเดิน ฮัมบูร์ก และโคโลญของเยอรมนี อันเป็นผลให้นครกว่า 160 แห่งถูกทำลายล้าง และพลเรือนชาวเยอรมันเสียชีวิตกว่า 600,000 คน ควรถูกพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมสงครามด้วย
ค่ายกักกันและการใช้แรงงานทาส
นักโทษผู้ทรมานในค่ายกักกันเมาน์ธิวเซน-กูเซน ประเทศออสเตรีย ในปี ค.ศ. 1945
ฮอโลคอสต์ได้สังหารชาวยิวในทวีปยุโรปเป็นจำนวนอย่างน้อย 6 ล้านคน รวมไปถึงเชื้อชาติอื่น ๆ อีกที่ถูกพวกนาซีลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ "ไม่คู่ควร" หรือ "ต่ำกว่ามนุษย์" (รวมไปถึงผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต เชลยสงครามโซเวียต พวกรักร่วมเพศ สมาคมฟรีเมสัน ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์และชาวยิปซี) โดยเป็นส่วนหนึ่งของถอนรากถอนโคนอย่างจงใจ และได้รับการดำเนินการโดยรัฐบาลฟาสซิสต์นาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีกรรมกรและคนงานราว 12 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก ได้ถูกว่าจ้างให้มาทำงานให้เศรษฐกิจสงครามของนาซีเยอรมนี
นอกเหนือจากค่ายกักกันของนาซีแล้ว ยังมีค่ายกูลักหรือค่ายแรงงานของสหภาพโซเวียต ซึ่งได้นำไปสู่ความตายของพลเรือนจำนวนมากในดินแดนยึดครองของฝ่ายนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ได้แก่ โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย รวมไปถึงเชลยสงครามของเยอรมนี และยังมีชาวโซเวียตบางส่วนที่คาดว่าเป็นผู้สนับสนุนของฝ่ายนาซี จากหลักฐานพบว่าเชลยสงครามของโซเวียตกว่า 60% ของทั้งหมดได้เสียชีวิตระหว่างสงคราม ริชาร์ด โอเวรีได้บันทึกตัวเลขเชลยศึกชาวโซเวียตไว้ 5.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 57% เสียชีวิต คิดเป็น 3.6 ล้านคน เชลยศึกโซเวียตที่รอดชีวิตและหลบหนีเข้าสู่มาตุภูมิจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ
ศพคนตายกองทับซ้อนกันในค่าย 731 ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยพัฒนาอาวุธชีวภาพของญี่ปุ่น
ค่ายเชลยสงครามของญี่ปุ่นเองก็มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังมีการตั้งเป็นค่ายแรงงาน ภายหลังจากการตัดสินของศาลทหารพิเศษนานาชาติแห่งภาคพื้นตะวันออกไกล (เดิมชื่อ ศาลพิเศษโตเกียว) ได้ลงมติว่าอัตราการเสียชีวิตของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรคิดเป็น 27.1% (ในจำนวนนี้เป็นทหารสหรัฐอเมริกา 37%) คิดเป็นเจ็ดเท่าของอัตราเดียวกันของค่ายแรงงานของนาซีเยอรมนีและอิตาลี แต่จำนวนดังกล่าวนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชลยศึกชาวจีน ซึ่งจากคำสั่งที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1937 โดยจักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ระบุว่า ชาวจีนไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหราชอาณาจักรได้รับการปล่อยตัว 37,853 นาย ทหารเนเธอร์แลนด์ 28,500 นาย ทหารสหรัฐอเมริกา 14,473 นาย แต่พบว่าทหารจีนถูกพบว่าได้รับการปล่อยตัวเพียง 56 นาย
อ้างอิงจากการศึกษาร่วมกันของนักประวัติศาสตร์ ได้สรุปว่า มีชาวจีนมากกว่า 10 ล้านคนถูกเกณฑ์โดยกองทัพญี่ปุ่น และถูกใช้แรงงานอย่างทาส เพื่อวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ทั้งในแมนจูกัวและทางภาคเหนือของประเทศจีน ห้องสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณว่าในเกาะชวาว่าชาวอินโดนีเซียกว่า 4 ถึง 10 ล้านคนต้องถูกบังคับให้ทำงานแก่กองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ชาวอินโดนีเซียบนเกาะชวากว่า 270,000 คนได้ถูกส่งไปทำงานในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีเพียง 52,000 คนเท่านั้นที่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นเดิมได้
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้ลงนามในแผนการหมายเลข 9066 ซึ่งได้ทำการกักตัวชาวญี่ปุ่น ชาวอิตาลี ชาวเยอรมัน และผู้อพยพบางส่วนจากหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งหลบหนีหลังจากการโจมตีที่ฐานทัพเรือเพิร์ลในช่วงเวลาระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันถูกกักตัวโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นจำนวนกว่า 150,000 คน รวมไปถึงชาวเยอรมันและชาวอิตาลีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 11,000 คน
ขณะเดียวกัน ก็การใช้แรงงานโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออก อย่างเช่นในโปแลนด์ แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกกว่าล้านคนในตะวันตก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 หลักฐานของฝรั่งเศสได้ระบุว่ามีเชลยสงครามชาวเยอรมันกว่า 2,000 คน ตายหรือพิการทุกเดือนในอุบัติเหตุการเก็บกวาดทุ่นระเบิด
แนวหลังและอุตสาหกรรม
ในทวีปยุโรป ช่วงสงครามเริ่มขึ้นใหม่ ๆ นั้นฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมีความได้เปรียบทั้งทางด้านจำนวนประชากรและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปี 1938 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีประชากรมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% และอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบทางยุทธศาสตร์มากกว่า 5:1 ในด้านจำนวนประชากรและอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 2:1
ในทวีปเอเชีย จีนนั้นมีประชากรเป็นหกเท่าของญี่ปุ่น และมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าญี่ปุ่นไป 89% แต่ถ้าหากรวมเอาอาณานิคมของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ความแตกต่างของจำนวนประชากรจะลดลงเหลือเพียงสามเท่าและความก้าวหน้าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงเหลือ 38%
แม้ความแตกต่างระหว่างทั้งสองฝ่ายจะมีมาก แต่ฝ่ายอักษะก็สามารถตัดกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้ด้วยบลิทซครีกของเยอรมนีและญี่ปุ่นหลายครั้ง ทว่าความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและประชากรของฝ่ายสัมพันธมิตรได้กลายมาเป็นปัจจัยแตกหักจนถึง ค.ศ. 1942 หลังสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเข้าสู่สงคราม โดยสงครามได้เปลี่ยนไปเป็นสงครามแห่งความสูญเสีย ช่วงปลายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจได้ด้วยการเข้ายึดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ความไม่เต็มใจของเยอรมนีและญี่ปุ่นที่จะเกณฑ์แรงงานสตรี และการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสงครามในตอนปลาย เยอรมนีและญี่ปุ่นนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เตรียมการอย่างเหมาะสมสำหรับสงครามยืดเยื้อและไม่มีขีดความสามารถใด ๆ เลยที่จะทำเช่นนั้น เพื่อที่จะเพิ่มการผลิต เยอรมนีและญี่ปุ่นจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศที่ตนเองสามารถยึดครองได้มาใช้แรงงานนับล้าน โดยพบว่าเยอรมนีได้มีการใช้แรงงานทาสกว่า 12 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันออก และญี่ปุ่นได้มีการใช้แรงงานทาสเอเชียตะวันออกไกลกว่า 18 ล้านคน
ดินแดนที่ถูกยึดครองระหว่างสงคราม
ในทวีปยุโรป การยึดครองแบ่งออกเป็นสองประเภท สำหรับยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และยุโรปกลาง เยอรมนีได้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งได้ผลตอบแทนกว่า 69.5 ล้านล้านไรช์มาร์กจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ซึ่งยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยุทโธปกรณ์ทางทหาร วัตถุดิบและสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเรียกกันว่า การปล้นของนาซี (Nazi plunder) รายได้ของนาซีเยอรมนีในดินแดนยึดครองนั้นคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของรายได้จากภาษีในแผ่นดินเยอรมนี และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดของเยอรมนีในช่วงระหว่างสงคราม
ส่วนทางยุโรปตะวันออก ซึ่งคนทั้งหลายต่างก็หวังต่อผลประโยชน์จากนโยบายแสวงหาพื้นที่อยู่อาศัยไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแนวรบซึ่งไม่แน่นอน และผลจากนโยบาย "Scorched earth" ของโซเวียต ซึ่งเป็นการปฏิเสธมิให้ทรัพยากรทั้งหลายตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวเยอรมัน ไม่เหมือนกับทางยุโรปตะวันตก นโยบายเชื้อชาติของพรรคนาซีนั้นได้ก่อให้เกิดความเลวร้ายต่าง ๆ กับ "ชนชั้นต่ำกว่ามนุษย์" ในแนวรบด้านตะวันออก จึงเต็มไปด้วยการฆาตกรรมและการสังหารหมู่ และถึงแม้ว่าจะมีขบวนการกู้ขาติเกิดขึ้นมากมายในประเทศที่ถูกยึดครอง แต่ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบโดยรวมต่อการขยายตัวของนาซีเยอรมนีได้ กระทั่งปลาย ค.ศ. 1943
ในเอเชีย ญี่ปุ่นพยายามสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาขึ้น และมีจุดประสงค์ที่จะครองความเป็นใหญ่ โดยอ้างการปลดปล่อยชาติที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติอภิมหาอำนาจในทวีปยุโรป ถึงแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นนั้นจะได้รับการต้อนรับจากนักต่อสู้เพื่อเอกราชในหลายดินแดน แต่ว่าเนื่องจากการกระทำที่โหดร้ายได้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อญี่ปุ่นไปเสียภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงแรกนั้นได้รับน้ำมันกว่า 4 ล้านแกลลอนจากการล่าถอยของฝ่ายสัมพันธมิตร และใน ค.ศ. 1943 ญี่ปุ่นได้ผลผลิตจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์กว่า 50 ล้านแกลลอน กว่าร้อยละ 76 ของอัตราการผลิตของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1940
การพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบการทำสงคราม
ระหว่างสงคราม อากาศยานยังคงดำรงบทบาทของตนทั้งในการลาดตระเวนสำรวจ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด และการสนับสนุนภาคพื้นดินมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าอากาศยานทั้งหลายจะได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากแล้ว บทบาทที่สำคัญของอากาศยานอีกสองประการนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ เป็นความสามารถที่จะเคลื่อนย้ายเสบียง เครื่องยุทธภัณฑ์และหน่วยทหารได้อย่างรวดเร็วตามลำดับความสำคัญ ถึงแม้ว่าจะยังมีปริมาณที่รองรับได้ต่ำอยู่ก็ตาม และการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายพลเรือนด้วยความหวังที่จะทำลายอุตสาหกรรมและขวัญกำลังใจของข้าศึก อาวุธต่อสู้อากาศยานเองก็มีการพัฒนาขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันภัยที่สำคัญ เช่น เรดาร์ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างสูง อย่างเช่น ปืนใหญ่ 88 มม. ของเยอรมนี อากาศยานเจตก็ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในการออกปฏิบัติการจำนวนหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และถึงแม้ว่าอากาศยานเจตจะถูกนำเข้าสู่สงครามในตอนปลาย และปรากฏให้เห็นเพียงจำนวนน้อย หมายความว่าพวกมันไม่มีผลกระทบต่อสงครามโดยตรงด้วยตัวเอง และจำนวนน้อยถูกพบเห็นในการบริการขนส่งขนาดใหญ่หลังจากสงคราม
ส่วนในทะเล ในขณะที่การพัฒนาเกิดขึ้นในการทำสงครามทางทะเลในเกือบทุกรูปแบบ แต่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำ ถึงแม้ว่าในตอนต้นของสงคราม การทำสงครามการบินประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ปฏิบัติการในตารันโต อ่าวเพิร์ล ทะเลจีนใต้ และทะเลคอรัล ได้ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินก้าวขึ้นมากมีบทบาทสำคัญแทนที่เรือประจัญบาน ในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือบรรทุกเครื่องบินถูกพิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบกองเรือคุ้มกันฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประสิทธิภาพรัศมีในการป้องกันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีส่วนช่วยในการอุดช่องว่างแอตแลนติกตอนกลาง นอกเหนือจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินยังประหยัดกว่าเรือประจัญบานเนื่องจากเครื่องบินมีราคาต่ำ และลำเรือไม่จำเป็นจะต้องหุ้มเกราะหนา เรือดำน่ำ ซึ่งถูกพิสูจน์ว่าเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยทุกฝ่ายว่าจะมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายอังกฤษมุ่งเน้นไปยังอุปกรณ์และยุทธวิธีในการต่อสู้เรือดำน้ำ อย่างเช่น โซนาร์ และระบบกองเรือคุ้มกัน ในขณะที่เยอรมนีมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาความสามารถในการรุก ด้วยการออกแบบเรือดำน้ำไทป์ 7 และยุทธวิธีฝูงหมาป่า และการพัฒนาเทคโนโลยีของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างช้า ๆ ก็ได้พิสูจน์ถึงชัยชนะ
ส่วนรูปแบบการรบภาคพื้นดินได้เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากแนวรบอยู่กับที่ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นการรบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแนวคิดมาจากรูปแบบการทำสงครามระหว่างเหล่าทัพ ซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างคุณสมบัติของกองกำลังทหารที่หลากหลาย รถถัง ซึ่งถูกใช้สนับสนุนทหารราบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานของกองกำลังทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 การออกแบบรถถังได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในทุกด้าน เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และยังได้มีการพัฒนาความเร็ว เกราะและกำลังยิงที่เพิ่มมากขึ้น ยังได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระหว่างสงคราม ในช่วงแรกของสงคราม กองทัพส่วนใหญ่พิจารณาว่ารถถังเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้รถถังด้วยกัน จึงได้พัฒนารถถังที่มีจุดประสงค์พิเศษขึ้นเพื่อบรรลุผลนั้น แต่แนวคิดดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่าผิดในการปฏิบัติของรถถังค่อนข้างเบาในช่วงแรกในการต่อกรกับรถถัง และหลักนิยมของเยอรมันในการหลีกเลี่ยงการรบแบบรถถังต่อรถถัง และอีกปัจจัยนหนึ่ง จากการใช้กองกำลังผสมของเยอรมนี อันเป็นปัจจัยหลักของยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในโปแลนด์และฝรั่งเศส และปรากฏหลายวิธีในการทำลายรถถัง รวมทั้งปืนใหญ่ทางอ้อม ปืนต่อสู้รถถัง ทุ่นระเบิด อาวุธพิสัยใกล้ต่อสู้รถถังสำหรับทหารราบ และการใช้รถถังได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ แม้กระทั่งในหลายกองทัพจะได้มีการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอย่างกว้างขวาง แต่ทหารราบก็ยังคงเป็นกระดูกสันหลังสำหรับกองกำลังทั้งหมด และตลอดช่วงเวลาของสงคราม ยุทธภัณฑ์ของทหารราบส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับที่เคยใช้ประโยชน์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่มีการใช้ปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติเป็นประเทศแรก ซึ่งก็คือ เอ็ม-1 กาแรนด์ นอกจากนี้ การพัฒนาบางประการยังเกี่ยวกับปืนกลพกพาได้ ตัวอย่างที่โดดเด่นเช่น เอ็มจี 42 ของเยอรมนี และปืนกลมืออีกหลายประเภท ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับการรบในเมืองและในป่า ปืนเล็กยาวจู่โจม ซึ่งเป็นพัฒนาการในตอนปลายของสงคราม เป็นการรวมข้อดีของปืนเล็กยาวและปืนกลมือเข้าไว้ด้วยกัน และได้กลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานสำหรับทหารราบในเกือบทุกกองทัพหลังสงคราม
ในแง่ของการติดต่อสื่อสาร ผู้เข้าร่วมสงครามส่วนใหญ่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาของความซับซ้อนและการรักษาความปลอดภัย โดยการใช้ประโยชน์จากคู่มือลงรหัสขนาดใหญ่สำหรับวิทยาการเข้ารหัส ประกอบกับการสร้างเครื่องรหัสขึ้นมาหลายแบบ ซึ่งที่เป็นรู้จักกันกว้างขวางที่สุด ได้แก่ เครื่องอินิกมาของเยอรมนี ข่าวกรองทางสัญญาณ ซึ่งเป็นกระบวนการตอบโต้เครื่องถอดรหัส ซึ่งตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ อัลตราของอังกฤษ และการถอดรหัสกองทัพเรือญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนอีกทิศทางหนึ่งที่สำคัญของข่าวกรองทางทหาร ได้แก่ การใช้ปฏิบัติการการหลอกลวง ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้ประสบความสำเร็จในหลายโอกาสจนได้ผลดี อย่างเช่น ปฏิบัติการเนื้อสับและปฏิบัติการบอดีการ์ด นอกจากนี้ ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมยังได้แก่ คอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถโปรแกรมได้เป็นครั้งแรก (แซด 3 คอมพิวเตอร์โคลอสซัสและอีนิแอก) ขีปนาวุธนำวิถี และจรวดสมัยใหม่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นผลมาจากโครงการแมนฮัตตัน การสร้างท่าเรือประดิษฐ์ และการสร้างท่อน้ำมันลอดผ่านช่องแคบอังกฤษ
http://th.wikipedia.org/wiki/สงครามโลกครั้งที่สอง
|