|
1. เกมการแข่งขันขันบาสเกตบอล (Basketball game)
บาสเกตบอลเป็นการเล่นที่ประกอบด้วยผู้เล่น 2 ทีม แต่ละทีมมีผู้เล่น 5 คน จุดมุ่งหมายของแต่ละทีมคือ ทำคะแนนโดย การโยนลูกบอลให้ลงห่วงประตูของฝ่ายตรงข้าม และป้องกันอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้ครอบครองบอลหรือทำคะแนน
2. ห่วงประตูฝ่ายตนเอง/ฝ่ายตรงข้าม (Basket : own/opponents’)
ฝ่ายรุกทำคะแนนโดยนำลูกบอลโยนให้ลงห่วงประตูของฝ่ายตรงข้ามและป้องกันห่วงประตูของฝ่ายตนเอง
3. การเคลื่อนที่ของลูกบอล (Ball movement)
ลูกบอลอาจจะถูกส่ง โยน ปัด กลิ้ง หรือเลี้ยงในทิศทางใดๆ ก็ได้ ภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในกติกา
4. ผู้ชนะของเกมการแข่งกัน (Winner of a game)
เมื่อสิ้นสุดเวลาการแข่งขันของช่วงการเล่นที่ 4 หรือถ้าจำเป็นต้องต่อเวลาพิเศษ ทีมที่มีคะแนนมากกว่าจะเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขัน
1. ประวัติบาสเกตบอลในต่างประเทศ
กีฬาบาสเกตบอลได้กำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจาก ดร. เจมส์ เอ เนสมิท (James A. Naismith) ได้คิดขึ้นเพื่อเล่นในโรงพลศึกษาของโรงเรียนฝึกอบรมสมาคม Y.M.C.A. นานาชาติ (International Young Men’s Christian Association Training School) ที่เมืองสปริงฟิลด์ มลรัฐเมสซาชูเซตส์ ในช่วงที่หิมะตก เมื่อปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) ใช้ตะกร้าลูกพีช 2 ใบแขวนเป็นประตู จึงทำให้กีฬานี้ได้ชื่อว่า “บาสเกตบอล” (Basketball) การเล่นครั้งนั้นใช้ลูกฟุตบอลเล่น มีผู้เล่นทั้งหมด 18 คน แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายๆ ละ 9 คน และตัวของ ดร.เนสมิท เป็นกรรมการ มีกฎการเล่น 4 ข้อ คือ
- ห้ามถือลูกเคลื่อนที่
- ห้ามผู้เล่นปะทะตัวกัน
- ประตูอยู่ระดับศีรษะและขนานกับพื้น
- ผู้เล่นจะถือลูกบอลนานเท่าไรก็ได้ และผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องไม่ถูกตัวผู้เล่น
ต่อมาได้มีการปรับปรุงกติกาการเล่นเป็น 13 ข้อ ดังนี้
1. ผู้เล่นห้ามถือลูกบอลแล้ววิ่ง
2. ผู้เล่นจะส่งบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
3. ผู้เล่นจะเลี้ยงบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
4. ผู้เล่นต้องใช้มือทั้งสองเข้าครอบครองบอล ห้ามใช้ร่างกายช่วยในการครอบครองบอล
5. ในการเล่นจะใช้ไหล่กระแทก หรือใช้มือดึง ผลัก ตี หรือทำการใดๆให้ฝ่ายตรงข้ามล้มลงไม่ได้ ถ้าผู้เล่นฝ่าฝืนถือเป็นการฟาล์ว 1 ครั้ง ถ้า ฟาล์ว 2 ครั้ง หมดสิทธิ์เล่น จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำประตูกันได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก ถ้าเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น
6. ห้ามใช้ขาหรือเท้าแตะลูก ถือเป็นการฟาล์ว 1 ครั้ง
7. ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำฟาล์วติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
8. ประตูที่ทำได้หรือนับว่าได้ประตูนั้น ต้องเป็นการโยนบอลให้ลงตะกร้า ฝ่ายป้องกันจะไปยุ่งเกี่ยวกับประตูไม่ได้เด็ดขาด
9. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลูกบอลออกนอกสนาม ให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งลูกเข้ามาจากขอบสนามภายใน 5 วินาที ถ้าเกิน 5 วินาที ให้เปลี่ยนส่ง และถ้าผู้เล่นฝ่ายใดพยายามถ่วงเวลาอยู่เสมอให้ปรับเป็นฟาล์ว
10. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าผู้เล่นคนใดฟาล์ว และลงโทษให้ผู้เล่นหมดสิทธิ์
11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกใดออกนอกสนาม และฝ่ายใดเป็นฝ่ายส่งลูกเข้าเล่น และจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลาบันทึกจำนวนประตูที่ทำได้ และทำหน้าที่ทั่วไปตามวิสัยของผู้ตัดสิน
12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่งๆ ละ 20 นาที
13. ฝ่ายที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ ในกรณีคะแนนเท่ากันให้ต่อเวลาออกไป และถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ
สหรัฐอเมริกายอมรับการเล่นบาสเกตบอลเป็นกีฬาประจำชาติเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1892 ซึ่งได้มีการเล่นบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก จึงมีวิวัฒนาการเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอลหลายอย่าง ได้แก่ ในปี ค.ศ. 1893 ได้มีการลดจำนวนผู้เล่นเหลือ 5 คน ต่อมาในปี ค.ศ. 1894 ได้มีการพัฒนาลูกบอลขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการเล่นและการแข่งขันโดยเฉพาะ ในปี ค.ศ. 1898 มีการเปลี่ยนประตูที่ทำด้วยตะกร้าเป็นห่วงเหล็กเพื่อความแข็งแรง และเริ่มใช้ตาข่ายติดกับห่วงเหล็ก ในปี ค.ศ. 1908 และในปี ค.ศ. 1915 สมาคม Y.M.C.A. สมาคมกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ และสมาพันธ์กีฬาสมัครเล่น ได้ร่วมประชุมเพื่อร่างกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน กติกานี้ได้ใช้สืบมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1938 และได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นผู้พิจารณา
ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่ควบคุมและดำเนินงานเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอล ระดับนานาชาติ ได้แก่ สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (The International Basketball Federation) ใช้ชื่อย่อว่า FIBA
2. ประวัติบาสเกตบอลในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มเล่นบาสเกตบอลมากว่า 60 ปีแล้ว มีหลักฐานยืนยันว่า ใน พ.ศ. 2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ ครูสอนภาษาจีน โรงเรียนมัธยมบพิตรพิมุข ได้ช่วยเหลือกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาบาสเกตบอลขึ้นเป็นครั้งแรก และทางกรมพลศึกษาได้จัดอบรมครูพลศึกษาทั่วประเทศ ประมาณ 100 คน ใช้เวลา 1 เดือน วิทยากรสำคัญในการอบรมครั้งนั้น ได้แก่ หลวงชาติตระการโกศล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเล่นกีฬาบาสเกตบอล ทั้งยังเคยเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันบาสเกตบอล เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นกีฬาบาสเกตบอลก็แพร่หลายทั่วประเทศไทย นิยมเล่นกันมากในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามหัวเมือง ในตลาดเขตอำเภอของจังหวัดต่างๆ
ปัจจุบันกีฬาบาสเกตบอลถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแทบทุกระดับการศึกษา คือ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา องค์กรสำคัญที่ส่งเสริมและจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ขอบคุณเว็บไซต์ : www.mwit.ac.th/~t2090107/link/Media_HEP40201/History.doc
|