<< Go Back

               ลักษณะทางชีวภาพที่บ่งบอกถึงการเป็นมนุษย์ คือ ลักษณะทางกายและชีวภาพ ซึ่งมีโครงสร้างซับซ้อน โดยเริ่มจากระดับโมเลกุล เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะ โครงสร้างทุกระดับรวมกันเรียกว่าระบบอวัยวะ ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายล้วนเป็นเรื่องน่าพิศวง โดยธรรมชาติได้มีการจัดระบบต่างๆขึ้นอย่างมีระเบียบ ได้แก่ ระบบห่อหุ้มร่างกาย ระบบโครงกระดูก ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหายใจ ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ มีการทำงานประสานกันอย่างอัตโนมัติ ดังนั้นจึงควรเรียนรู้ให้เข้าใจเพื่อรู้วิธีดูแลรักษาให้ดำรงประสิทธิภาพ การทำงานของอวัยวะต่างๆเหล่านั้นให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างสูงแก่ชีวิตของเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

               1. การจัดระบบของร่างกาย ร่างกายของคนเรา ประกอบด้วยส่วนเล็กที่สุด คือ อะตอม ยึดกันเป็นโมเลกุล และโมเลกุลมีการจัดโครงสร้างเรียกว่าเซลล์ (Cell) เซลล์เหล่านี้ประกอบขึ้นจากการรวมของแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งมักมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น รูปร่างแตกต่างกัน รูปทรงของเซลล์จะเหมาะกับลักษณะของงานที่ทำ เช่น เซลล์ประสาทมีแขนงมากมายซึ่งจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างเซลล์ เซลล์ชนิดเดียวกันเมื่อรวมกันเข้าเป็นกลุ่มและทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เราเรียกว่าเนื้อเยื่อ (Tissue) และเนื้อเยื่อต่างๆ ยังประกอบกันเข้าเป็นกล้ามเนื้อและอวัยวะอื่นๆได้อีกมากมาย

              2. การทำงานของร่างกาย คุณสมบัติที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตคือการเคลื่อนไหว ดังนั้น ร่างกายของคนเรา จะต้องมีอำนาจหรือพลังอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถทำหใเกิดการเคลื่อนไหว พลังงานหรือกำลังงานนี้ร่างกายได้มาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ภายในร่างกายของคนเรานั้นย่อมมีการเคลื่อนไหวหรือมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้แต่อยู่เฉยๆ ปอดก็จะต้องทำหน้าที่หายใจ และหัวใจก็จะต้องทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต หรือเมื่อเวลาคนเรารับประทานอาหารเข้าไปนั้นการย่อยก็คือการเคลื่อนไหวหรือการทำงานเช่นเดียวกัน พลังงานทั้งหลายเหล่านี้ เซลล์ต่างๆทำหน้าที่เป็นผู้จัดการผลิตและขนส่งไปให้ได้ใช้กันทั่งร่างกาย
               พลังงาน คือ ความสามารถในการทำงาน(พลังงานเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่มีน้ำหนักและมองไม่เห็น เราจะทราบว่าสิ่งใดมีพลังงานเท่าไร่นั้นหาได้จากผลงานสิ่งนั้นทำ) ร่างกายของคนเราทุกคนจำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อเคลื่อไหวหรือทำงานหรืออย่างน้อยก็เพื่อการที่จะดำรงชีวิตอยู่ เช่น ในการหายใจของปอดหรือการเต้นของหัวใจดังได้กล่าวมาแล้วเป็นต้น พลังงานต่างๆ เหล่านี้ ร่างกายได้รับมาจากการเผาผลาญอาหารภายในเซลล์ของร่างกายโดยตลอดเวลา การเผาผลาญอาหารภายในเซลล์เหล่านี้ แม้จะไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับการเผาไหม้เศษกระดาษ แต่ก็จัดว่าเป็นการเผาผลาญได้ ทุกๆเซลล์ของร่างกายจึงเปรียบเสมือนเตาไฟเล็กๆ ซึ่งเผาไหม้อาหารเพื่อความต้องการหลายอย่าง และความต้องการที่สำคัญอันหนึ่งก็คือความร้อน (Heat) ความร้อนนับได้ว่าต้องการใช้พลังงานหลายๆ อย่าง เพื่อให้เหมาะสมแก่การทำงานแต่ละชนิดหรือแต่ละประเภท เช่น ร่างกายของเราต้องการพลังงานบางอย่างเพื่อใช้รวมวัตถุหรือแร่ธาตุ ซึ่งจะช่วยทำให้เซลล์เจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของเซลล์ให้มีมากขึ้นต่อไปอีก  หรือร่างกายของเราต้องการพลังงานบางอย่างเพื่อช่วยให้หัวใจเต้นได้อยู่ตลอดเวลา

               3. วิธีการที่เซลล์ได้รับอาหาร เมื่อคนเรารับประทานอาหารเข้าไปแล้ว อวัยวะสำหรับย่อยจะทำการย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กลงจนในที่สุดเป็นอณู (Molecule) และหลังจากนั้นเลือดก็จะพาอณูของอาหารเหล่านี้ไปให้เซลล์ต่างๆ จนทั่งร่างกาย เนื่องจากอณูของอาหารมีการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา อณูของอาหารจะเคลื่อนตัวเร็วขึ้นตามอุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้น (เช่นเดียวกันกับเมื่อเวลาที่เราต้มน้ำ ความร้อนจะทำให้อณูของน้ำเคลื่อนไหวไปมา แล้วก็จะมีฟองปุดๆขึ้นมา และอณูของน้ำจำนวนมากมายจะกลายเป็นไอน้ำลอยหนีขึ้นไปสู่อากาศ ซึ่งเป็นวิธีที่อณูของน้ำแทรกเข้าไปในอากาศ ) อณูของอาหารประเภทต่างๆ ที่เลือดพาไปจะเคลื่อนที่ชนกันไปชนกันมา ครั้นแล้วอณูของอาหารก็จะเคลื่อนตัวออกจากเส้นเลือดฝอย และแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ของร่างกายที่อยู่ใกล้เคียง การที่อณูของอาหารถูกผลักดันแทรกผ่านผนังของเส้นเลือดฝอยและผนังของเซลล์เข้าไปได้ ก็เพราะว่าทั้งผนังของเส้นเลือดฝอยและผนังเซลล์นั้น ประกอบด้วยอณูซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบางมากเรียงรายกันอยู่ทุกอณูของผนัง จะเปิดช่องเพียงแค่พอให้อณูของอาหารกระจายและแทรกผ่านเข้าไปในเซลล์ได้นี้เรียกว่า Diffusion และโดยวิธีการเดียวกันนี้เองก็จะทำให้อณูของน้ำและอณูของก๊าซอ็อกซิเจนผ่านเข้าไปในเซลล์ รวมทั้งอณูของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอณูของเสียอื่นๆผ่านออกมาจากเซลล์

              4. ระบบอวัยวะของร่างกาย ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยโครงสร้างที่สลับซับซ้อน โดยโครงสร้างต่างๆจะมีหน้าที่ของตนเอง และในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างอื่นๆด้วย สามารถจำแนกโครงสร้างต่างๆภายในร่างกายเป็นระบบอวัยวะ ดังนี้
               1. ระบบผิวหนัง (Intergumentary System) ทำหน้าที่ห่อหุ้มปกคลุมร่างกาย ประกอบด้วยผิวหนัง (Skin) และอวัยวะที่เปลี่ยนแปลงมาจากผิวหนัง เช่น ขน ผม เล็บ ต่อมเหงื่อ ต่อมน้ำมัน


ระบบผิวหนัง
ที่มาภาพ : http://bodysystemm.wikispaces.com/ระบบผิวหนังหรือระบบห่อหุ้มร่างกาย

               2. ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular System) ทำหน้าที่ช่วยทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว


ระบบกล้ามเนื้อ
ที่มาภาพ : https://sites.google.com/site/suwaneescience/bth-thi-2-rangkay-khxng-rea/1-rabb-xwaywa-ni-rangkay-khxng-rea

               3. ระบบโครงกระดูก (Skeletal System) ทำหน้าที่ทำงานร่วมกับระบบกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นโครงร่างของร่างกายอีกด้วย


ระบบโครงกระดูก
ที่มาภาพ : https://sites.google.com/site/suwaneescience/bth-thi-2-rangkay-khxng-rea/1-rabb-xwaywa-ni-rangkay-khxng-rea

               4. ระบบหมุนเวียนโลหิต (Circulatory System) ทำหน้าที่นำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซด์กับของเสียจากเซลล์มาขับทิ้ง นอกจากนี้ ยังนำฮอร์โมนที่ผลิตได้จากต่อมไร้ท่อเพื่อส่งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย


ระบบหมุนเวียนโลหิต
ที่มาภาพ : http://school.obec.go.th/msp/body4.htm

               5. ระบบหายใจ (Respiratory System) ทำหน้าที่รับออกซิเจนจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายและนำคาร์บอนไดออกไซด์จากภายใน ออกมาขับทิ้งสู่ภายนอกร่างกาย โดยอาศัยระบบไหลเวียนโลหิตเป็นตัวกลางในการลำเลียงแก๊ส


ระบบหายใจ
ที่มาภาพ : https://sites.google.com/site/suwaneescience/bth-thi-2-rangkay-khxng-rea/1-rabb-xwaywa-ni-rangkay-khxng-rea

               6. ระบบประสาท (Nervous System) เป็นระบบที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของทุกระบบในร่างกาย ให้สัมพันธ์กันโดยทำงานร่วมกับระบบต่อมไร้ท่อนอกจากนี้ยังทำหน้าที่รับและตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก


ระบบประสาท
ที่มาภาพ : http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/lesson/lesson5.php

              ระบบประสาท ระบบประสาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system หรือ CNS) ประกอบด้วยสมองและไขสันหลังและระบบประสาทส่วนปลาย หรือระบบประสาทรอบนอก ( peripheral nervous system หรือ PNS) ประกอบด้วยเส้นประสาทสมอง (cranial nerve) และเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve) และระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system หรือ ANS) ระบบประสาทรอบนอกหรือระบบประสาทส่วนปลาย ระบบประสาทรอบนอกประกอบด้วยหน่วยรับความรู้สึกทั้งหมด เส้นประสาทที่ติดต่อระหว่างหน่วย รับความรู้สึกกับระบบประสาทส่วนกลาง และเส้นประสาทที่เชื่อมโยงระหว่างระบบประสาทส่วนกลางกับหน่วยปฏิบัติงาน

              7. ระบบต่อมต่าง ๆ (glands System) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน (hormone) ซึ่งเป็นสารเคมีและของเหลว โดยทำงานร่วมกับระบบประสาทในการควบคุมปฏิกริยาการเผาผลาญต่าง ๆ ในร่างกาย


ระบบต่อมต่าง ๆ
ที่มาภาพ : http://body-system.blogspot.com/2011/05/blog-post_8401.html

              8. ระบบย่อยอาหาร (Digestive System) ทำหน้าที่ย่อยสลายอาหารที่รับประทานเข้าไปให้เป็นสารอาหาร และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย


ระบบย่อยอาหาร
ที่มาภาพ : http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/bk521/007sanong/__6.html

              9. ระบบขับถ่าย (Excretory System) ทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการให้ออกจากร่างกาย


ระบบขับถ่าย
ที่มาภาพ : https://sites.google.com/site/suwaneescience/bth-thi-2-rangkay-khxng-rea/1-rabb-xwaywa-ni-rangkay-khxng-rea

              10. ระบบสืบพันธุ์ (Reproductive System) ทำหน้าที่สืบทอด ดำรงและขยายเผ่าพันธุ์ ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อไม่ให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์

  
ระบบสืบพันธุ์
ที่มาภาพ : https://sites.google.com/site/suwaneescience/bth-thi-2-rangkay-khxng-rea/1-rabb-xwaywa-ni-rangkay-khxng-rea


http://www.oknation.net/blog/print.php?id=788717
https://sites.google.com/site/suwaneescience/bth-thi-2-rangkay-khxng-rea/1-rabb-xwaywa-ni-rangkay-khxng-rea

<< Go Back