<< Go Back

แคโรทีนอยด์ (Carotenoids)
           แคโรทีนอยด์ เป็นสารพฤกษเคมีที่ทรงพลัง มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านมะเร็งที่ยอดเยี่ยม แคโรทีนอยด์ คือ เม็ดสีชนิดละลายในไขมัน พบมากในผักและผลไม้ที่มีสีส้ม เหลือง แดง และเขียว ทำหน้าที่ปกป้องพืชจาก รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดด และสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อม ช่วยป้องกันการก่อตัวของอนุมูลอิสระที่เป็นอันตราย ในปัจจุบันมีการค้นพบแคโรทีนอยด์ถึง 600 ชนิด และประมาณ 50 ชนิด พบได้ในผักและผลไม้ ที่เรารับประทาน แคโรทีนอยด์ 6 ชนิดที่กลายมาเป็นสารต้านอนุมูลอิสระดาวเด่นแห่งศตวรรษที่ 21 คือ
           1. แอลฟาแคโรทีน ร่างกายสามารถเปลี่ยนแปลงเป็น วิตามินเอ เพื่อนำไปใช้ได้ มีการศึกษาพบว่า แครอท และ ฟักทอง มีสารแอลฟาแคโรทีนสามารถลดขนาดของเนื้องอกในสัตว์ได้ชัดเจน และยังมีประสิทธิภาพมากกว่า เบต้าแคโรทีน ถึง 10 เท่า ในการปกป้องผิว ดวงตา ตับ และเนื้อเยื่อปอด จากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ
           2. เบต้าแคโรทีน ได้จากผักที่มีสีสันสดใส เช่น บรอกโคลี แคนตาลูป ฟักทอง แครอท มะม่วง พีช มันเทศ และผักขม เบต้าแคโรทีน ถูกเปลี่ยน เป็นวิตามินเอ ได้ในยามที่ร่างกายต้องการ และส่วนที่ไม่ถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ จะทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาพบว่าเบต้าแคโรทีน มีบทบาทสำคัญใน การป้องกันมะเร็ง โดยยับยั้งสารสร้างอนุมูลอิสระ และยังพบว่าเบต้าแคโรทีน ยังช่วย เสริมสร้างความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เส้นโลหิตในสมองตีบ และยังช่วยปัองกันโรคต้อกระจกได้อีกด้วย
           3. คริบโตแซนทิน พบมากใน ลูกพีช มะละกอ และส้ม คริบโตแซนทินจะถูกเปลี่ยนเป็น วิตามินเอ ได้ในยามที่ร่างกายต้องการ มีการศึกษาเปรียบเทียบระดับแคโรทีนอยด์ในเลือดของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูก กับผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูกพบว่า ผู้หญิงที่ไม่เป็นมะเร็งมีระดับของคริบโตแซนทิน ในเลือดสูงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า คริบโตแซนทิน อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง ชนิดนี้ได้ และการสูบบุหรี่จะทำให้ระดับของคริบโตแซนทินต่ำลง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ ได้ทำการเปรียบเทียบระดับของคริบโตแซนทิน ในผู้ที่สูบบุหรี่กับผู้ที่ไม่สูบ
           4. ไลโคปีน เป็นสารที่ทำให้ มะเขือเทศ แตงโม องุ่น และ ผลไม้อีกหลายชนิดมีสีแดง ไลโคปีน ไม่มีคุณสมบัติเป็น “โปรวิตามินเอ” หมายถึง ร่างกายของเราไม่สามารถเปลี่ยนให้เป็นวิตามินเอได้ ไลโคปีน มีความสามารถในการ ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าเบต้าแคโรทีนมาก ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย ช่วยปกป้องเราจากสารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่ และต้านอนุมูลอิสระจากรังสียูวี (UV) ในแสงแดด จากงานวิจัยใหม่ๆ ยังพบว่าไลโคปีน ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
           5. ลูทีน พบมากในผักขม กะหล่ำใบ และดอกดาวเรือง ไม่มีคุณสมบัติเป็น “โปรวิตามินเอ” เหมือนไลโคปีน แต่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่น่าประทับใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณประโยชน์ในการปกป้องดวงตา พบว่า ลูทีนช่วยจัดการกับอนุมูลอิสระที่เกิดจากรังสียูวี (UV) ที่เป็นอันตรายต่อดวงตา และช่วยชะลอการเสื่อมของศูนย์กลางจอประสาทตา อันเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการ ตาบอดในในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
           6. ซีแซนทิน เช่นเดียวกับ ลูทีน แคโรทีนอยด์ชนิดนี้ ช่วยปกป้องดวงตาจากโรคจอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากถูกอนุมูลอิสระทำลาย ซีแซนทิน ยังช่วยป้องกันมะเร็งอีกหลายชนิด ช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้าย ซีแซนทิน พบมากใน ผักขม และกระเจี๊ยบเขียว

บทบาทหน้าที่ของแคโรทีนอยด์
           บทบาทหน้าที่ของแคโรทีนอยด์มีหลายอย่างคือ นอกจากจะที่เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอแล้ว ยังทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ป้องกันเนื้องอก และมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพด้านอื่นๆ ได้แก่ ลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการเสื่อมของตาเนื่องจากสูงอายุ และต้อกระจก ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งบางชนิด และโรคหัวใจและหลอดเลีอด

สรุปประโยชน์ที่ได้รับจาก แคโรทีนอยด์ มีดังต่อไปนี้

  • เบต้าแคโรทีนช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน
  • สารอาหารเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยในการรวมตัวเองเข้ากับเยื่อบุเซลล์เหมือนกับวิตามินอี
  • เบต้าแคโรทีน มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งคอมดลูก, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งมดลูก, มะเร็งในช่องปาก และมะเร็งลำไส้
  • เบต้าแคโรทีน ในปริมาณสูงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 40%
  • เบต้าแคโรทีนในระดับสูง สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
  • ลูทิน และซีแซนทิน เป็นแคโรทีนอยด์ที่สะสมอยู่บริเวณเรตินาของดวงตา เม็ดสี จะทำหน้าที่ปกป้องเรตินา และจอประสาทตา จากกระบวนการ Oxidative Stress ซึ่งนั่นหมายความว่า มันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้
  • เบต้าแคโรทีน และแคโรทีนอยด์ อีกหลายประเภทจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ หากร่างกายต้องการ ดังนั้น พวกมันจึงมีความปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งจะสามารถช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินเอ ได้อย่างเพียงพอในยามที่ต้องการ
  • แคโรทีนอยด์รวม สามารถเพิ่มการต่อต้านไม่ให้เกิดปฏิกิริยา Oxidation กับคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอบคุณที่มา
    http://www.greenclinic.in.th/component/content/article/1-phytochemecals/1-carotenoid.html
    http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1228/carotenoid-แคโรทีนอย
ด์

<< Go Back