<< Go Back

สมุทัย คือ  ความจริงว่าด้วยเหตุแห่งทุกข์ ความทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนนั้นย่อมเกิดจากสาเหตุบางอย่าง มิใช่เกิดขึ้นลอย ๆ ดังพุทธดำรัสว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจึงเกิด   ตัวอย่างเช่นนี้ นักเรียนที่สอบตกอาจเป็นเพราะเกียจคร้านในการอ่านหนังสือ เศรษฐีที่หาเงินได้ยังไม่มากพอตามที่ตนต้องการ อาจเป็นเพราะมีความโลภจนเกินไปเป็นต้น ซึ่งสาเหตุของความทุกข์นั้น คือความอยากที่เกินพอดี ซึ่งเรียกว่า ตัณหา มี 3 อย่างคือ   กามตัณหา   ภวตัณหา  วิภวตัณหา
            หมวดธรรมที่ว่าด้วย สมุทัย ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท, นิวรณ์ 5 และอุปาทาน 4
                1.ฏิจจสมุปบาท สภาพที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น หรืออิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น กล่าวโดยหลักการ คือ เมื่อสิ่งเหล่านี้มี สิ่งเหล่านั้นจึงมีเพราะสิ่งเหล่านี้เกิด สิ่งเหล่านั้นจึงเกิดเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี สิ่งเหล่านั้นจึงไม่มี   เพราะสิ่งเหล่านี้ดับ สิ่งเหล่านั้นจึงดับ   
                สรุป ความทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท เกิดจากการกระทำเหตุหรือปัจจัยที่ไม่เหมาะสม เช่น ความไม่ดี ความประมาท ความเกียจคร้าน  เป็นต้น  ผลก็เป็นความทุกข์  เช่น ความเดือดร้อน   ความไม่เจริญก้าวหน้า ความวิบัติ เป็นต้น
                2. นิวรณ์ 5  ได้แก่  1. กามฉันทะ 2. พยาบาท  3. ถีนมิทธะ 4. อุทธัจจกุกกุจจะ  5. วิจิกิจฉา
                นิวรณ์ 5 แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องขัดขวาง เป็นเครื่องห้ามมิให้บรรลุธรรมเกิดขึ้น มิให้ฌาน อภิญญา สมาบัติ มรรค ผล เกิดขึ้นได้ เป็นเครื่องกีดขวาง ปิดกั้นการกระทำความดี คือ
                    1.กามฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ในกามคุณ 5 มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นิวรณ์นี้ เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ย่อมทำให้เกิดความหมกมุ่นครุ่นคิด หาแต่กามคุณที่ตนปรารถนา ทำให้จิตใจไม่เป็นสมาธิในการทำความดี ในการปฏิบัติธรรม ขัดขวางมิให้บรรลุกุศลธรรมได้
                    2.พยาบาท คือ ความปองร้าย ความคิดอาฆาตมาดร้าย ความไม่พอใจในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา นิวรณ์ข้อนี้ เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ย่อมทำให้เกิดความขุ่นเคือง ความหม่นหมองใจ ทำให้จิตใจไม่มีปีติปราโมทย์ในการทำความดี ในการปฏิบัติ ขัดขวางมิให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้
                    3.ถีนมิทธิะ คือ ความหอหู่ท้อแท้ใจและความง่วงเหงาหาวนอน นิวรณ์ข้อนี้เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ย่อมทำให้จิตใจหอหู่ท้อแท้ ท้อถอย ง่วงเหงาหาวนอน ทำให้จิตปราศจากกุศลจิต คือทำให้จิตไม่มีแก่ใจที่จะทำความดี ไม่คิดปฏิบัติธรรม ขัดขวางมิให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้
                    4.อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ ได้แก่ ความคิดฟุ้งซ่าน แลบไหลไปในอารมณ์ต่างๆ คิดเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ และเกิดความรำคาญใจ ร้อนใจ กลุ้มใจในความผิดพลั้งพลาดต่างๆ เช่น มัวคิดไปว่า ตนเองได้ทำความชั่ว ความผิดพลาดไว้มาก ไม่ได้ทำความดีไว้เลย แล้วเกิดความร้อนใจ รำคาญใจในภายหลัง นิวรณ์ข้อนี้เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว ย่อมทำให้จิตไม่มีความสุข ไม่สบายใจในการทำความดี ในการปฏิบัติธรรม ขัดขวางมิให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้
                    5. วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ความลังเลใจ อันได้แก่ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นต้น นิวรณ์ข้อนี้เมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจแล้ว จะทำให้ขาดวิจารณ์ ไม่สามารถพินิจพิจารณาตัดสินใจทำความดี ตัดสินใจปฏิบัติธรรมได้ ย่อมขัดขวางมิให้กุศลธรรมเกิดขึ้นได้
                    สรุป นิวรณ์ 5 เมื่อเกิดขึ้นอยู่ในใจของผู้ใดแล้ว ย่อมขัดขวาง หรือขวางกั้นในการทำความดีหรือการปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งทางโลกและทางธรรม มิให้เกิดความเจริญก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จ
                3. อุปาทาน4 กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม (กามคุณ 5 = รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)  ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยทิฏฐิ (ความเห็น)  สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยศีลวัตร (ข้อปฏิบัติ)  อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่าตน (การแบ่งเราแบ่งเขา)  อุปาทาน เป็นชื่อของกิเลสกลุ่มหนึ่ง ที่แสดงออกมาในลักษณะที่ยึดมั่น ถือมั่น  ด้วยอำนาจของกิเลสนั้น ๆ โดยความหมายทั่วไป อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น   แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
                    1.กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาม  คือการที่จิตเข้าไปยึดถือในวัตถุกามทั้ง 5  คือ  รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันตนกำหนดว่าน่าใคร่  น่าปรารถนา  น่าพอใจ ความยึดถือของจิตนั้นมีความรู้สึกว่า "นั่นเป็นของเรา" เช่นเห็นรูปสวยงามเข้า ก็อยากได้มาเป็นของตนด้วย อำนาจตัณหา เมื่อได้มาว้ในครอบครองแล้ว จะยึดมั่นถือมั่นว่า  รูปนั่นของเรา ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะยึดถือรูปเป็นต้น อย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ความทุกข์ในชีวิตจะเกิดขึ้น  เพราะการแสวงหา การครอบครอง การเปลี่ยนแปลง  หรือพลัดพรากไปของวัตถุกามเหล่านั้น
                    2.ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด เช่นยึดถือในลัทธิธรรมเนียม ความเชื่อถือต่าง ๆ ขาดการใช้ปัญญา พิจารณาหาเหตุผล เช่น  ถือว่าการกระทำดี ชั่วไม่มี ความสุขความทุกข์ในชีวิตของคนไม่ได้เกิดมาจากเหตุอะไรทั้งสิ้น ไม่มีบุญบาป บิดา มารดา พระอริยบุคคลเป็นต้น  ความยึดถือบางอย่างนอกจากจะละได้อยากแล้ว ยังนำไปสู่การถกเถียง การแตกแยกกัน จนต้องประสบทุกข์ในอบายเพราะทิฏฐุปาทานบางอย่าง
                    3. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตร และข้อปฏิบัติต่าง ๆ  ที่ตนประพฤติมาจนชินด้วยความเข้าใจว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ถูกต้องเป็นต้น โดยทั่วไปเช่นการยึดติดในธรรมเนียมบางอย่าง พิธีกรรมบางประเภท ถือฤกษ์ผานาที ทิศดีทิศไม่ดี วันดีวันร้าย  จนถึงการถือวัตรปฏิบัติที่งมงายต่างๆ เช่น การทำตนเลียนแบบสุนัขบ้าง  โคบ้าง  โดยเข้าใจว่า จากการทำเช่นนั้นทำให้ตนได้ประสบบุญ  เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า   จนถึงละสิ้นทุกข์   เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นต้น
                    4. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่าตน โดยความหมายทั่วไป หมายถึงยึดถือในทำนองแบ่งเป็นเรา เป็นเขา เป็นพวกเราพวกเขา จนถึงการยึดถือว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่  ตนนั่นเองเป็นผู้มี ผู้รับ ผู้ไปในภพต่าง ๆ เสวยผลบุญบาปต่าง ๆ ที่ตนทำไว้  โดยขาดการมองตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น    ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะการประชุมพร้อมแห่งปัจจัยทั้งหลายเท่านั้น
                    อุปาทานทั้ง 4 ประการนี้   ที่ทรงแสดงไว้ในปฏิจสมุปบาทนั้น   อุปาทานอยู่ในฐานะเป็นปัจจุบันเหตุ  ร่วมกับตัณหา และด้วยอำนาจแห่งอุปาทานนี้เอง  ที่ทำให้ได้ประสบความทุกข์ต่างๆ

https://sites.google.com/site/social054/bth-thi-4/hawkhx-yxy-4-2

<< Go Back