<< Go Back

ภาระหน้าที่ของรัฐหรือรัฐบาลที่จะปฏิบัติจัดทำภายในประเทศในปัจจุบันนี้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพราะว่ารัฐทุกรัฐหรือประเทศในโลกนี้จำนวนประชากรของแต่ละประเทศมีเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะเดียวกันอาหารและทรัพยากรที่มนุษย์จะนำมาเป็นเครื่องอุปโภค บริโภคนั้นลดน้อยลงหรือมีจำนวนอัตราเพิ่มไม่สมดุลกับจำนวนเพิ่มขึ้นของมนุษย์ “มัลทัส กล่าวว่า ประชากรเพิ่มขึ้นตามอัตราเรขาคณิต (Geometric Progression) หรืออัตราทวีคูณ คือ 1, 2, 4, 8, 16,…….. ขณะที่อาหารเพิ่มขึ้นตามอัตราเลขคณิต (Arithmetic Progression) หรืออัตราบวก 1, 2, 3, 4, 5,….. เมื่อเป็นเช่นนี้ภายในเวลาอัตราส่วนระหว่างประชากรกับอาหารจะสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เท่าที่ผ่านมามีสิ่งขวางกั้น (Check) ไม่ให้ประชากรเพิ่มมากเกินปริมาณอาหาร สิ่งขวางกั้นที่ว่านั้น คือ Positive Check คือ สิ่งที่บั่นทอนชีวิตมนุษย์ให้สั้นลง เช่น โรคระบาด สงครามและการขาดอาหาร เป็นต้น และ Preventive Check หมายถึง การควบคุมทางจิตใจ คือ การเลื่อนการสมรสออกไปจนกว่าคู่สมรสจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ และไม่ยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกการสมรส” (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 2528 : 25) แต่สิ่งขวางกั้นตามทฤษฎีของมัลทัสก็มิใช่ว่าจำนวนประชากรของโลกจะไม่เพิ่มขึ้น ที่จริงแล้วจำนวนประชากรของโลกเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่จะไม่เพิ่มตามอัตราเรขาคณิตเท่านั้นเอง เมื่อทุกประเทศมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นดังนี้ ภาระหน้าที่ของรัฐบาลย่อมจะเป็นเงาตามตัวอย่างแน่นอน เพราะภาระหน้าที่ของรัฐบาลจะปฏิบัติเกี่ยวข้องกับประชากรของประเทศและผืนแผ่นดินของประเทศ เช่น

1. การให้ความปลอดภัย การให้ความปลอดภัยทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนถือว่าเป็นภาระที่จำเป็นและสำคัญที่รัฐบาลจะต้องกระทำ คือถ้าประชาชนไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว การอยู่ดีกินดีและความผาสุกย่อมจะไม่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจะต้องหาวิธีป้องกันและกำจัดภัยที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้จงได้ เช่น ในปัจจุบันประเทศไทยเรารัฐบาลได้มอบภาระนี้แก่กระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะกรมตำรวจรวมทั้งขอความร่วมมือกับหน่วยงานองค์การต่าง ๆ ตลอดถึงประชาชนให้ช่วยกันป้องกันและกำจัดภัยที่จะเกิดขึ้น ในเรื่องนี้ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าจำนวนประชากรของประเทศมีน้อย การที่รัฐบาลจะให้ความคุ้มครองป้องกันย่อมที่จะกระทำได้ง่ายกว่าประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก

2. การรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ นอกจากนั้นคือความมีระเบียบวินัย การปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน รัฐบาลผู้ใช้อำนาจอธิปไตยจึงต้องมีภาระหน้าที่ในอันที่จะตราตัวบทกฎหมายมาควบคุมประชาชนในประเทศให้ปฏิบัติในสิ่งที่จะต้องการเมื่อประชาชนมีระเบียบวินัยและได้ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นแนวเดียวกันแล้ว การทะเลาะวิวาทและการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแต่เพียงส่วนน้อย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนในประเทศย่อมเกิดขึ้น อีกส่วนหนึ่งถ้ารัฐบาลได้จัดให้ตำรวจได้คอยควบคุมดูแลให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่มีการลักขโมย การปล้นหรือการทำร้ายร่างกายกันและกันและการเอารัดเอาเปรียบ การไม่ประทุษร้ายชีวิตทรัพย์สินของกันและกัน และการที่รัฐบาลให้มีทหารไว้ปกป้องคุ้มครองเอกราชของชาติไว้ ความสงบเรียบร้อยย่อมจะเกิดขึ้นภายในประเทศ

3. การสร้างความมั่นคง รัฐบาลมีภาระจะสร้างความมั่นคงให้เกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติ เมื่อรัฐบาลทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ความมีระเบียบวินัยโดยการปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง คนในชาติยึดถือการปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน มีความรักความสามัคคี มีการเห็นอกเห็นใจและการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันย่อมเกิดขึ้นและทุกคนพร้อมที่จะปกป้อง คุ้มครองผืนแผ่นดินของตน ด้วยเหตุนี้จะก่อให้เกิดความมั่นคงในประเทศ

4. การให้บริการและสวัสดิการ ในประเทศที่ปกครองระบบประชาธิปไตยถือว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากรัฐเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลมิอาจจะบริการในสิ่งเดียวกันได้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางบประมาณที่จะไปใช้ในการบริการ แต่ถึงอย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ถือว่า การบริการและการให้สวัสดิการการเป็นภาระหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องจัดทำให้แประชาชนในประเทศ เช่น

4.1 การบริการทางการศึกษา รัฐบาลมีภาระหน้าที่ที่จะจัดการบริการด้านการศึกษาให้กับประชาชนทุกระดับคือ เริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และจนถึงมหาวิทยาลัย แต่จากชั้นมัธยมขึ้นไปรัฐจะเก็บค่าบริการบ้างตามความจำเป็น ส่วนในระดับประถมศึกษานั้นรัฐให้บริการฟรี ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ

4.2 การบริการด้านสาธารณสุข งานด้านสาธารณสุขนี้มีความจำเป็นที่รัฐจะจัดบริการประชาชนในประเทศเท่าที่สามารถจะทำได้ ฉะนั้นจะเห็นว่า ในประเทศไทยของเรารัฐบาลได้ขยายการบริการด้านนี้ไปสู่ประชาชนทุกหนแห่งโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งสถานีอนามัยในเกือบทุกตำบล การสาธารณสุขเคลื่อนที่ไปยังชุมชน การจัดทำบัตรสุขภาพ การจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย แม้ว่าจะมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ยังถือว่ารัฐได้ให้บริการ เพราะรัฐได้ลงทุนในส่วนนี้ไปมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนในประเทศได้มีสุขภาพแข็งแรงมีพลานามัยดีอันจะนำไปสู่การอยู่ดีกินดีในสังคม และวิธีการบริการอื่น ๆ อีกมากที่รัฐได้จัดให้ประชาชน

4.3 การบริการด้านคมนาคม การให้บริการด้านนี้รวมไปถึงการบริการสื่อสาร รัฐบาลมีภาระหน้าที่ในการซ่อมสร้างถนนหนทางในประเทศ เพื่อบริการประชาชนในการสัญจรไปมารวมทั้งการขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนตลอดทั้งการบริการด้านสื่อสาร เช่น การโทรศัพท์ โทรเลข การส่งจดหมาย ธนาณัติและอื่น ๆ ที่จะให้ประชาชนและรัฐบาลติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกันได้หรือประชาชนกับประชาชนสื่อสารกันได้อย่างสะดวก

4.4 การบริการเกี่ยวกับไฟฟ้าประปา รัฐบาลมีภาระที่จะให้บริการเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้าและประปาให้แก่ประชาชนในประเทศเท่าที่จะสามารถทำได้ในงบประมาณแผ่นดินของทุก ๆปีงบประมาณ แต่ในเรื่องเหล่านี้รัฐมิสามารถจะให้บริการฟรีแก่ประชาชน รัฐจึงจำเป็นจะต้องเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการด้วยตามสมควร
ส่วนในเรื่องของการให้สวัสดิการ รัฐบาลได้ให้สวัสดิการแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างการให้การช่วยเหลือแก่พี่น้องชาวภาคใต้ที่ถูกน้ำท่วมหลายจังหวัดในปี 2531 หรือการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชน เมื่อถูกไฟไหม้และหนาวจัด การให้ความช่วยเหลือข้าราชการ เช่น การสร้างบ้านพักให้อยู่ เสียค่าเช่าบ้านให้ การช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตรข้าราชการผู้น้อยและอื่น ๆ อีกมากที่รัฐได้จัดบริการและสวัสดิการแก่ประชาชนในประเทศ

5. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องปากเรื่องท้องและการเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจคือการทำให้ประชาชนในประเทศมีรายได้ต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้น อันจะทำให้ประชาชนมีการอยู่ดีกินดี มีเครื่องอุปโภคบริโภคเพิ่มมากขึ้นด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายหรือกำหนดแผนในการดำเนินงานด้านพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมาปฏิบัติ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีแผนไว้ปฏิบัติ เช่น ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยเรา โดยเฉพาะประเทศไทยได้มีแผนเป็นฉบับที่ 6 แล้วในปัจจุบัน (พ.ศ. 2532) เจตนาก็คือ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาไปอย่างมีแผน แต่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจละสังคมแห่งชาตินี้มีความผูกพันกับงบประมาณแผ่นดินประจำปีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งรัฐได้ดำเนินมาตรการหลายด้านเพื่อให้ประชาชนมีการอยู่ดีกินดี เช่น

5.1ส่งเสริมอาชีพ รัฐบาลพยายามส่งเสริมอาชีพที่ประชาชนประกอบอยู่นั้นให้มีประสิทธิภาพและมั่นคงยิ่งขึ้น เช่น งานด้านอุตสาหกรรม รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทางอุตสาหกรรมได้พัฒนาคุณภาพสินค้าที่ตนผลิตนั้นให้เป็นที่นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศและสนับสนุนให้มีการขยายการผลิตมากขึ้นถ้าเห็นว่า สินค้านั้น ๆ มีมาตรฐานและเป็นที่นิยมของคนทั่วไป หรืออาชีพด้านการเกษตร รัฐได้พยายามส่งเสริมผู้ประกอบการด้านนี้ให้สามารถเพิ่มผลผลิตและมีคุณภาพสูงขึ้น โดยการให้ความรู้ทางการเกษตรแผนใหม่ การให้เงินทุนสนับสนุน การสร้างแหล่งน้ำให้ในพืชที่ต้องการน้ำ และการหาตลาดการขายให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

5.2 ส่งเสริมและการพัฒนาฝีมือ ประชาชนอาจจะประกอบอาชีพด้วยฝีมือและความรู้แบบเก่า ๆ ทำให้ผลที่ออกมาช้าหรือไม่คุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องการหาทางให้ผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ นั้นมีความรู้เทคนิคและวิธีการเครื่องมือใหม่ ๆ ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการโดยวิธีการให้การอบรมหรือดูงานหรือให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเครื่องมือการผลิต เป็นต้น

5.3การนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ทรัพยากรของประเทศหลายอย่างนับวันแต่จะลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐจึงมีความจำเป็นที่จะควบคุมดูแลและส่งเสริมให้ประชาชนได้นำทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศมาใช้อย่างคุ้มค่า เช่น ป่าไม้และแร่ธาตุต่าง ๆ รัฐจะพยายามเสริมให้ผู้ที่นำทรัพยากรเหล่านี้มาแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้เสียก่อนจึงนำไปจำหน่ายจ่ายแจก ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรมีคุณค่ามีราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าการที่จะนำทรัพยากรเหล่านั้นไปจำหน่ายในลักษณะวัตถุดิบ การทำโดยวิธีนี้นอกจากจะเป็นการประหยัดทรัพยากรยังเป็นการทำให้ทรัพยากรมีราคาแพงและคุ้มค่าอีกด้วย

5.4 การสร้างงาน รัฐบาลมีภาระหน้าที่ที่จะให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ในวัยแรงงานได้มีงานทำมีรายได้ให้มีการว่างงานน้อยที่สุด ฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องขยายการลงทุนโดยการระดมทุนในประเทศและต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งที่จะรองรับแรงงานบางส่วน ลักษณะการทำงานอย่างนี้ถือว่าเป็นการกระจายรายได้อีกด้วย เพราะทำให้ผู้มีรายได้สูงคือเจ้าของนายทุนต้องจ่ายค่าแรงหรือค่าฝีมือให้กับผู้ใช้แรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้นรัฐบาลยังต้องสร้างงานในชนบทและงานอื่น ๆ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีงานทำและมีรายได้อันจะเป็นผลทำให้ประชาชนมีการอยู่ดีกินดีดังกล่าว

ส่วนในด้านสังคมนั้น รัฐบาลได้เห็นความสำคัญที่จะพัฒนาให้คนในสังคมมีความรักความสามัคคี มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ให้ประชาชนได้สนุกสนานได้มีกิจกรรมร่วมกันอันเป็นแนวทางที่ประชาชนจะได้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ฉะนั้นรัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาให้ด้านส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ นอกจากนี้รัฐยังได้พัฒนาสังคมในด้านการให้ความรู้ความสามารถ ซึ่งจะทำให้บุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์ในประเทศมีคุณภาพ ประชาชนได้มีอิสระในการใช้สิทธิของตนในกรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาการทางการเมืองของประเทศอีกด้วย

 

 

http://www.baanjomyut.com/library_4/politics/02_6_1.html

<< Go Back