ความหมายของสิทธิบัตร
จากลักษณะของสิทธิบัตร อาจให้คำนิยามของ “สิทธิบัตร” ได้เป็นสองความหมาย ดังนี้
สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครอง การประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด
สิทธิบัตร หมายถึง สิทธิพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิเด็ดขาดหรือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตรนั้น เช่น การผลิตและจำหน่าย เป็นต้น และสิทธิที่ว่านี้จะมีอยู่เพียงช่วงระยะเวลาที่จำกัดช่วงหนึ่งเท่านั้น จากคำนิยามข้างต้น สิทธิบัตรจะเกี่ยวข้องกับ การประดิษฐ์ หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะ องค์ประกอบ โครงสร้าง หรือกลไกของผลิภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้ดีขึ้นหรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ ที่แตกต่างไปจากเดิม การออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ ที่แตกต่างไปจากเดิม
ประเภทของสิทธิบัตร รูปแบบหรือประเภทของสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตรจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1.สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หมายถึง การคิดค้นเกี่ยวกับ กลไก โครงสร้าง ส่วนประกอบ ของสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กลไกของกล้องถ่ายรูป, กลไกของเครื่องยนต์, ยารักษาโรค เป็นต้น หรือการคิดค้นกรรมวิธีในการผลิตสิ่งของ เช่น วิธีการในการผลิตสินค้า, วิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป เป็นต้น
2.สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง การออกแบบรูปร่าง ลวดลาย หรือสีสัน ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น การออกแบบแก้วน้ำให้มีรูปร่างเหมือนรองเท้า เป็นต้น
3.อนุสิทธิบัตร (Petty patent) เป็นการให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์คิดค้น เช่นเดียวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่แตกต่างกันตรงที่การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตร เป็นการประดิษฐ์ที่มีเป็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
ประโยชน์ของสิทธิบัตร
เอกสารสิทธิบัตรนานาชาติเป็นแหล่งรวมผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั่วโลกที่สำคัญที่สุดได้เปิดวิธีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุกชนิดทุกสาขาทั่วโลก สิทธิบัตรคุ้มครองเป็นรายประเทศ จดทะเบียนในประเทศใด ก็คุ้มครองเฉพาะในประเทศนั้น หมายความว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยมาผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศได้ สามารถผลิตหรือส่งออกไปจำหน่ายในประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรในเรื่องนั้นๆ หรือนำมาใช้เป็นฐานความรู้ในการวิจัยพัฒนาและต่อยอดได้
อายุสิทธิบัตร
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีอายุ 20 ปี นับจากวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร
- สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุ 10 ปี นับจากวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร
แบบฟอร์มสิทธิบัตร
ที่มาภาพ : http://www.mtec.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=9&Itemid=16
การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1. เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว งานที่ปรากฏอยู่แล้ว ให้หมายความถึงการประดิษฐ์ ดังต่อไปนี้ด้วย
1.1 การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
1.2 การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสาร หรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่ อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และไม่ว่าการเปิดเผยนั้นจะกระทำโดยเอกสาร สิ่งพิมพ์ การนำออกแสดง หรือการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ
1.3 การประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรแล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
1.4 การประดิษฐ์ที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้วนอกราชอาณาจักรเป็นเวลาเกินสิบแปดเดือน ก่อนวันขอรับสิทธิบัตรแต่ยังมิได้มีการออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรให้
1.5 การประดิษฐ์ที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร และได้ประกาศโฆษณาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร
2. เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น
3. เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ได้แก่ การประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรม
http://th.wikipedia.org/wiki/สิทธิบัตร
http://ip.payap.ac.th/patent.htm
http://www.ipat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=278:25-06-53&catid=46:aut2&Itemid=14
http://tuipi.tu.ac.th/index/index.php?option=com_content&view=article&id=56&Itemid=80
http://www.trsiampun.com/tips_patent.html
|