<< Go Back

เราจำเป็นต้องมีธรรมข้อใด จึงจะเห็นแจ้งได้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรคฯ คำตอบก็คือ เราจำเป็นต้องมี “สมาธิ” หากปราศจากสมาธิ เราจะไม่มีทางได้เห็นว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นต้น สมาธิเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติกรรมฐาน ไม่ว่าการปฏิบัติของเราจะเป็นแบบสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม เราก็อาศัยสมาธิอย่างยิ่ง

เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีสมาธิ คำตอบก็คือ เราต้อง “ฝึกเจริญสติ” หากปราศจากสติเราจะไม่สามารถมีสมาธิได้ เพราะสติคือ “การระลึกรู้อย่างสมบูรณ์” หากปราศจากการระลึกรู้อย่างสมบูรณ์นี้ก็ไม่สามารถเกิดสมาธิในจิตได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกเจริญสติ เพื่อให้มีสมาธิ

เราต้องอาศัยอะไรในการฝึกเจริญสติ เราต้อง “อาศัยความเพียร” หากปราศจากความเพียรเราจะไม่สามารถฝึกเจริญสติได้ ในการเจริญกรรมฐานมีสิ่งสำคัญยิ่ง ๓ ประการ คือ สมาธิ สติ และความเพียร เริ่มแรกเราทำความเพียรเพื่อให้เกิดสติจนกลายเป็นผู้มีสติ จากนั้นด้วยความเกื้อหนุนของความเพียรและสติ ก็จะเกิดสมาธิ เมื่อเรามีสมาธิหรือความตั้งมั่นแห่งจิต จิตจะเป็นอิสระจากสิ่งเศร้าหมอง หรือเครื่องกีดขวางของจิต (นิวรณ์) เมื่อนั้นเราจะเริ่มเห็น อุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นต้น

การมีสติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดใน ๓ ขั้นตอนของการปฏิบัติกรรมฐาน เพราะการเจริญกรรมฐานทุกประเภทต้องอาศัยสติ สติไม่มีมากเกินไป หรือแรงเกินไป เราต้องการสติที่มีกำลัง สติที่มีกำลังมากกว่าย่อมเป็นสติที่มีคุณภาพกว่า แต่เราต้องระมัดระวังในอีก ๒ ขั้นตอนคือ ความเพียรและสมาธิ ความเพียรอาจมีได้ทั้งน้อยเกินไปหรือมากเกินไป สมาธิก็เช่นกัน อาจมีได้ทั้งน้อยเกินไปหรือมากเกินไป

หากมีความเพียรน้อยเกินไปเราจะไม่สามารถเจริญสติได้ และหากมีความเพียรมากเกินไปเราก็ไม่สามารถเจริญสติได้เช่นกัน การมีความเพียรมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการกระสับกระส่ายและฟุ้งซ่าน อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จในบางอย่าง เช่น ความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะบรรลุความรู้แจ้ง หรือ ความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะได้รับผลสำเร็จ ด้วยความประสงค์เหล่านี้เรามักจะเพียรพยายามเกินพอดี และเมื่อทำความเพียรมากเกินพอดี จิตจะถูกแทรกแซงหรือทำให้กระเพื่อมและกระสับกระส่าย จิตที่กระสับกระส่ายก็จะตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น ในการเจริญกรรมฐาน เราจึงควรหลีกเลี่ยง การมีความเพียรมากเกินไป

ผู้ปฏิบัติก็สามารถมีสมาธิมากเกินไปได้เช่นกัน เมื่อมีสมาธิมากเกินไป ความเพียรของเรามักย่อหย่อนหรือลดลง จากนั้นหากสมาธิเพิ่มขึ้นอีก ระดับความเพียรของเราก็จะลดลงไปอีก ส่งผลให้เกียจคร้านหรือง่วงนอน เมื่อขาดความเพียร สมาธิซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการเจริญกรรมฐานจึงได้รับผลกระทบไปด้วย

หากต้องการให้การเจริญกรรมฐานของเราดำเนินไปอย่างราบรื่นก็ควรหลีกเลี่ยงวงจรนี้ ความเพียรและสมาธินั้นเราต้องการแค่เพียงพอในระดับหนึ่งและต้องสมดุลกัน ความเพียรและสมาธินี้จะสมดุลกันอย่างไร ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องกังวล ครูบาอาจารย์ท่านทราบปัญหานี้ดี หากพวกเราทำตามคำแนะนำสั่งสอนของท่านความเพียรและสมาธิของเราจะไม่มากเกินไปอย่างแน่นอน

https://tananglaenang.wordpress.com/2014/04/19/77/

<< Go Back