![<< Go Back](image/iconclose.gif)
![](image/01.png)
ย่อว่า ม.ศ. ผู้ตั้ง คือ พระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพวกกุษาณะ อันเป็นชนชาติที่เข้าไปครอบครองอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 6 เมื่อขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระเจ้ากนิษกะได้ตั้งมหาศักราชขึ้นใน พ.ศ. 622
มหาศักราช 1 ตรงกับ พ.ศ.622 มหาศักราชจึงน้อยกว่าพุทธศักราช 622-1 = 621 ปี จึงใช้จำนวน 621 นี้เป็นเกณฑ์ในการบวกลบ เพื่อเปลี่ยนศักราชระหว่างมหาศักราชกับพุทธศักราชคือ พ.ศ. = ม.ศ. + 621 และ ม.ศ. = พ.ศ. – 621
ไทยไม่ได้รับมหาศักราชจากอินเดียโดยตรง แต่รับจากเขมรซึ่งรับมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง มหาศักราชใช้ในการคำนวณทางโหราศาสตร์ และใช้ระบุเวลาในจารึก ตำนาน โดยเฉพาะที่ทำขึ้นก่อนสมัยสุโขทัยและในสมัยสุโขทัย การระบุมหาศักราชและจารึกในตำนาน มักบอกเพียงว่าเป็นศักราชใดหรือศก คือ ปีใด ไม่ได้ใส่คำว่ามหาศักราชไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะสมัยนั้นมหาศักราชเป็นศักราชสำคัญ เพียงแต่เอ่ยว่าศักราชที่เท่าไรก็เป็นที่ทราบกันว่า ปีที่เอ่ยถึงนั้นเป็นมหาศักราช
แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า การใช้ศักราชเปลี่ยนแปลงไป คนชั้นหลังที่อ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น จึงอาจเกิดปัญหาไม่แน่ใจว่า ปีที่ระบุไว้ลอยๆ นั้นเป็นศักราชแบบไหนแน่ แต่ถ้ามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่กล่าวถึง และรู้จักเปรียบเทียบตรวจสอบตามสมควร ก็จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เช่น จารึกหลักที่ 1 หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 4 มีข้อความกล่าวถึงกำเนิดตัวหนังสือไทยว่า
“...เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี 1205 ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้...”
สมัยนั้นไทยใช้ทั้งมหาศักราชกับพุทธศักราช แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ. 1822 - 1841 เมื่อไม่ใช่พุทธศักราชก็น่าจะเป็นมหาศักราช
การเทียบเปลี่ยน ม.ศ.1205 เป็นพ.ศ. ได้ 1205 + 621 = พ.ศ.1826 ซึ่งอยู่ในช่วงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงสรุปได้ว่า 1205 ศก คือ ม.ศ. 1205
![](image/pic32.png) ![](image/pic32.png) ![](image/pic32.png)
![](image/h008.png)
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=829284783823102&id=808445565907024
|