จุลศักราช 1 ตรงกับ พ.ศ. 1182 จุลศักราชจึงน้อยกว่าพุทธศักราช 1181 ปี การเทียบเปลี่ยนจุลศักราชกับพุทธศักราช คือ พ.ศ. = จ.ศ. + 1181 และ จ.ศ. = พ.ศ. – 1181 ในสมัยโบราณ การนับวันขึ้นปีใหม่ของจุลศักราชใช้แบบจันทรคติ จึงไม่สามารถระบุวันที่แน่นอนได้ โดยกฎคัมภีร์สุริยยาตรระบุว่า วันขึ้นปีใหม่อยู่ระหว่างขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ถึง 5 ค่ำ เดือน 6 ในปัจจุบันนี้เพื่อความสะดวกจึงกำหนดจุลศักราชขึ้นปีใหม่กลางเดือนเมษายน เทศกาลเนื่องในการขึ้นจุลศักราชใหม่ เรียกว่า "สงกรานต์" มี 3 วัน คือวันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "เถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่" ไทยใช้จุลศักราชในการคำนวณทางโหราศาสตร์ ใช้บอกปีในจารึก ตำนาน จดหมายเหตุ พระราชพงศาวดาร และเอกสารราชการ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเลิกใช้และใช้รัตนโกสินทร์ศกแทน การเรียกศกตามเลขท้ายปี ในระบบการเรียกศกตามเลขท้ายปีจุลศักราช นิยมเรียกด้วยศัพท์บาลี ดังนี้ 1. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 1 เรียก "เอกศก" 2. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 2 เรียก "โทศก" 3. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 3 เรียก "ตรีศก" 4. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 4 เรียก "จัตวาศก" 5. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 5 เรียก "เบญจศก" 6. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 6 เรียก "ฉศก" 7. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 7 เรียก "สัปตศก" 8. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 8 เรียก "อัฐศก" 9. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 9 เรียก "นพศก" 10. ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 0 เรียก "สัมฤทธิศก"
http://warakorntaxiballza.blogspot.com/2010/05/blog-post_9604.html
|