<< Go Back

 

ประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

                พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรส     ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์ แห่งกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระมเหสีคือ พระนางเสือง มีพระราชโอรสสามพระองค์ พระราชธิดาสองพระองค์ พระราชโอรส องค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังเยาว์ องค์กลางมี พระนามว่า บานเมือง และพระราชโอรสองค์ที่สาม คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อพระชันษาได้ ๑๙ ปี  ได้ชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด       พ่อขุนศรี อินทราทิตย์ จึงพระราชทานนามว่า "พระรามคำแหงเมื่อสิ้นรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์   และพ่อขุนบานเมืองแล้ว   พระองค์ได้ครองกรุงสุโขทัย ต่อมาเป็น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วงสันนิษฐานว่าพระองค์ สิ้นพระชนม์ในราวปี พ..๑๘๖๐ รวมเวลาที่ทรงครองราชย์ประมาณ ๔๐ ปี

ผลงาน
    พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงรวมเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอัจฉริยภาพทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนาและศิลปวิทยาต่างๆ ที่สำคัญยิ่งคือพระองค์ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อประมาณ      พ.ศ๑๘๒๖   ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอักษรไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 
 

พระเจ้ารามคำแหงมหาราช
 เมื่อแรกตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น  อาณาเขตยังไม่กว้างขวางเท่าใดนัก  เขตแดนทางทิศใต้จดเพียงเมืองปากน้ำโพ ใต้จากปากน้ำโพลงมายังคงเป็นอาณาเขตของขอมอันได้แก่เมืองละโว้  ทางฝ่ายตะวันตกจดเพียงเขาบันทัด ทางเหนือมีเขตแดนติดต่อกับประเทศลานนาที่ภูเขาเขื่อน     ส่วนทางตะวันออกก็จดอยู่เพียงเขาบันทัดที่กั้นแม่น้ำสักกับแม่น้ำน่าน
        อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ทรงครองราชย์อยู่นั้น  พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ก็ได้กระทำสงครามเพื่อขยายเขตแดนของไทยออกไปอีกในทางโอกาสที่เหมาะสม ดังที่มีข้อความปรากฏอยู่ในศิลาจารึกว่า พระองค์ได้เสด็จยกกองทัพไปดีเมืองฉอด  ได้ทำการรบพุ่งตลุมบอนกันเป็นสามารถถึงขนาดที่พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนเข้าเมืองฉอด แต่พระองค์เสียทีแก่ขุนสามชน แลในครั้งนี้เองที่เจ้ารามราชโอรสองค์เล็กของพระองค์ได้เริ่มมีบทบาทสำคัญด้วยการที่ทรงถลันเข้าช่วยโดยไสช้างทรงเข้าแก้พระราชบิดาไว้ทันท่วงที แล้วยังได้รบพุ่งตีทัพขุนสามชนเข้าเมืองฉอดแตกพ่ายกระจายไป
พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดาจึงถวายพระนามโอรสองค์เล็กนี้ว่า     “เจ้ารามคำแหง  พระเจ้าศรีอินทราทิตย์  ทรงครองอาณาจักรสุโขทัยอยู่จนถึงประมาณปี  1881  จึงเสด็จสวรรคต  พระองค์มีพระโอรสพระองค์ด้วยกัน โอรสองค์ใหญ่พระนามไม่ปรากฎเพราะได้สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่เยาว์วัย  องค์กลางทรงพระนามว่า ขุนบาลเมือง  องค์เล็กทรงพระนามว่า เจ้าราม และต่อมาได้รับพระราชทานใหม่ว่า เจ้ารามคำแหง หลังจากตีทัพขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดแตกพ่ายไป
        เมื่อพระเจ้าศรีอินทราทิตย์เสด็จสวรรคตแล้วโอรสองค์กลางขุนบาลเมือง ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมาอีกประมาณ  9  ปี    ก็เสด็จสวรรคต  พระราชอนุชา คือ     เจ้ารามคำแหง      จึงได้เสวยราชย์สืบต่อมา ทรงพระนามว่า พระเจ้ารามคำแหง
พระเจ้ารามคำแหง   จะมีพระนามเดิมว่าอย่างไรไม่ปรากฏชัดแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ ได้ทรงสันนิษฐานว่า คงจะเรียกกันว่า เจ้าราม แลเมื่อเจ้ารามมีพระชนมายุได้ 19 ชรรษา ได้ตามสมเด็จพระราชบิดาไปทำศึกกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดและได้ทรงแสดงความเก่งกล้าในทาสไสช้างทรงเข้าแก้เอาพระราชบิดาไว้ได้ทั้งตีทัพขุนสามชนแตกพ่ายไปแล้วพระราชบิดาจึงถวายพระนามเสียใหม่ว่า    “เจ้ารามคำแหง
        พระเจ้ารามคำแหง ทรงเป็นมหาราชองค์ที่สองของชาวไทย และทรงเป็นมหาราชพระองค์เดียวในสมัยสุโขทัย พระองค์ทรงเป็นอัจฉริยกษัตริย์ทรงชำนาญทั้งในด้านการรบ การปกครอง และการศาสนา  พระองค์ทรงขยายอาณาจักรสุโขทัยออกไปได้กว้างใหญ่ไพศาลด้วยวิเทโศบายอันแยบยลสุขุมคัมภีรภาพทั้งทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความยุติธรรมได้รับความร่มเย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า   ซึ่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์เป็นอันดับไปดังต่อไปนี้

การขยายอาณาจักร

         เมื่อพระเจ้ารามคำแหง เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติสืบต่อจากพ่อขุนบาลเมืองนั้น อาณาจักรสุโขทัยนับว่าตกอยู่ในระหว่างอันตรายรอบด้าน และยากทำการขยายอาณาจักรออกไปได้ เพราะทางเหนือก็ติดต่อกับแคว้นลานนา     อันเป็นเชื้อสายไทยด้วยกันมีพระยาเม็งรายเป็นเจ้าเมืองเงินยางและพระยางำเมือง       เป็นเจ้าเมืองพะเยาและทั้งพระยาเม็งรายและพระยางำเมือง ขณะนั้นต่างก็มีกำลังอำนาจแข็งแกร่งทั้งคู่ ทางตะวันออกนั้นเล่าก็ติดต่อกับดินแดนของขอม ซึ่งมีชาวไทยเข้าไปตั้งภูมิลำเนาอยู่มาก  ตะวันตกของอาณาจักรสุโขทัยก็จดเขตแดนมอญและพม่า ส่วนทางใต้ก็ถูกเมืองละโว้ของขอมกระหนาบอยู่
ด้วยเหตุนี้พระเจ้ารามคำแหงจึงต้องดำเนินวิเทโศบายในการแผ่อาณาจักรอย่างแยบยล และสุขุมที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการฆ่าฟันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง คือแทนที่จะขยายอาณาเขตไปทางเหนือ หรือตะวันออกซึ่งมีคนตั้งหลักแหล่งอยู่มาก พระองค์กลับทรงตัดสินพระทัยขยายอาณาเขตลงไปทางใต้อันเป็นดินแดนของขอม      และทางทิศตะวันตกอันเป็นดินแดนของมอญ         เพื่อให้คนไทยในแคว้นลานนาได้ประจักษ์ในบุญญาธิการ  และได้เห็นความแข็งแกร่งของกองทัพไทยแห่งอาณาจักรสุโขทัยเสียก่อน แล้วไทยในแคว้นลานนาก็อาจจะมารวมเข้าด้วยต่อภายหลังได้โดยไม่ยาก
แต่แม้จะได้ตกลงพระทัย  ดังนั้น    พระเจ้ารามคำแหงก็ยังคงทรงวิตกอยู่ในข้อที่ว่าถ้าแม้ว่าพระองค์กรีฑาทัพขยายอาณาเขตลงไปสู้รบกับพวกขอมทางใต้แล้วพระองค์อาจจะถูกศัตรูรุกรานลงมาจากทางเหนือก็ได้ บังเอิญในปี พ.ศ. 1829  กษัตริย์ในราชวงศ์หงวนได้ส่งฑูตเข้ามาขอทำไมตรีกับไทย พระองค์จึงยอมรับเป็นไมตรีกับจีน เพื่อป้องกันมิให้กองทัพจีนยกมารุกรานเมื่อพระองค์ยกทัพไปรบเขมร พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงพยายามสร้างความสนิทสนมกับไทยลานนาเช่นได้เสด็จด้วยพระองค์เองไปช่วยพระยาเม็งราย สร้างราชธานีที่นครเชียงใหม่เป็นต้น แหละเมื่อเห็นว่าสัมพันธไมตรีทางเหนือมั่นคงแล้ว พระองค์จึงได้เริ่มขยายอาณาจักรสุโขทัยลงไปทางใต้ตามลำดับ คือ ใน พ.ศ. 1823   ทรงตีได้เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองต่างๆ ในแหลมลายูตลอดรวมไปถึงเมืองยะโฮร์ และเกาะสิงคโปร์ในปัจจุบันนี้
ใน พ.ศ. 1842  ตีได้ประเทศเขมร (กัมพูชา)
ส่วนทางทิศตะวันตกที่มีอาณาเขตจดเมืองมอญนั้นเล่าพระเจ้ารามคำแหงก็ได้ดำเนินการอย่างสุขุมรอบคอบเช่นเมื่อได้เกิดความขึ้นว่า มะกะโท อำมาตย์เชื้อสายมอญ ซึ่งมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและได้มารับราชการใกล้ชิดพระองค์ได้กระทำความผิดชั้นอุกฤติโทษ โดยลักพาเอาพระธิดาของพระองค์หนีกลับไปเมืองมอญ แทนที่พระองค์จะยกทัพตามไปชิงเอาตัวพระราชธิดาคืนมา พระองค์กลับทรงเฉยเสียด้วยได้ทรงคาดการณ์ไกล ทรงมั่นพระทัยว่า มะกะโท ผู้นี้คงจะคิดไปหาโอกาสตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองมอญ ซึ่งถ้าเมื่อมะกะโทได้เป็นใหญ่ในเมืองมอญก็เปรียบเสมือนพระองค์ได้มอญมาไว้ในอุ้มพระหัตถ์ โดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันให้เสียเลือดเนื้อ ซึ่งต่อมาการณ์ก็ได้เป็นไปตามที่ได้ทรงคาดหมายไว้ คือมะกะโท ได้เป็นใหญ่ครอบครองอาณาจักรมอญทั้งหมด แลได้เข้าสามิภักดิ์ต่ออาณาจักรสุโขทัย  โดยพระเจ้ารามคำแหงมิต้องทำการรบพุ่งประการใดพระองค์ได้เสด็จไปทำพิธีราชภิเษกให้มะกะโท และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว
ด้วยวิเทโศบายอันชาญฉลาด   สุขุมคัมภีรภาพของพระองค์นี้เอง    จึงเป็นผลให้อาณาจักรไทยในสมัยพระเจ้ารามคำแหงแผ่ขยายออกไปอย่า
งกว้างขวาง    ปรากฎตามหลักศิลาจารึกว่าทางทิศใต้จดแหลมมลายูทิศตะวันตกได้หัวเมืองมอญทั้งหมด ได้จดเขตแดนหงสาวดี จดอ่าวเบงคอล ทิศตะวันออกเฉียงใต้ประเทศเขมร มีเขตตั้งแต่สันขวานโบราณไปจดทะเลจีน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้เมืองน่าน  เมืองหลวงพระบางทั้งเวียงคำฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  ทิศเหนือมีอาณาเขตจดเมืองลำปาง  กล่าวได้ว่าเป็นครั้งตั้งแต่ตั้งอาณาจักรไทยที่ได้แผ่นขยายอาณาเขตไปได้กว้างขวางถึงเพียงนั้น

การทำนุบำรุงบ้านเมือง

        เมื่อได้ทรงขยายอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยออกไปอย่างกว้างขวางดังกล่าวแล้วพระเจ้ารามคำแหง ยังได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองอีกเป็นอันมาก  เช่นได้ทรงสนับสนุนในทางการค้าพานิช  เลิกด่านเก็บภาษีอากรและจังกอบ  เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนไปมาค้าขายกันได้โดยสะดวกได้ยิ่งขึ้น  ได้ส่งเสริมการทำอุตสาหกรรมทำเครื่องถ้วยชาม  ถึงกับได้เสด็จไปดูการทำถ้วยชามในประเทศจีนถึงสองครั้ง แล้วนำเอาช่างปั่นถ้วยชามชาวจีนเข้ามาด้วยเป็นอันมาก เพื่อจะได้ให้ฝึกสอนคนไทยให้รู้จักวิธีทำถ้วยชามเครื่องเคลือบดินเผาต่างๆ ซึ่งปรากฏว่าได้เจริญรุ่งเรืองมากในระยะนั้น
ในด้านทางศาลก็ให้ความยุติธรรมแก่อาณาประชาราษฎรโดยทั่วถึงกันไม่เลือกหน้าทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ถึงกับสั่งให้เจ้าพนักงานแขวนกระดิ่งขนาดใหญ่ไว้ที่ประตูพระราชวังด้านหน้าแม้ใครมีทุกข์ร้อนประการใดจะขอให้ทรงระงับดับเข็ญแล้วก็ให้ลั่นกระดิ่งร้องทุกข์ได้ทุกเวลา ในขณะพิจารณาสอบสวนและตัดสินคดี  พระองค์ก็เสด็จออกฟังและตัดสินด้วยพระองค์เองไปตามความยุติธรรม  แสดงความเมตตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเสมือนบิดากับบุตรทรงชักนำให้ศาสนาประกอบการบุญกุศล  ศรัทธาในพระพุทธศาสนา  พระองค์เองทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกได้ทรงสร้างแท่นมนังศศิลาไว้ที่ดงตาล สำหรับให้พระสงฆ์แสดงธรรมและบางครั้งก็ใช้เป็นที่ประทับว่าราชการแผ่นดิน

การปกครอง

ลักษณะการปกครองในสมัยของพระเจ้ารามคำแหงหรือราษฎรมักเรียกกันติดปากว่าพ่อขุนรามคำแหงนั้น     พระองค์ได้ทรงถือเสมือนหนึ่งว่าพระองค์เป็นบิดาของราษฎรทั้งหลาย  ทรงให้คำแนะนำสั่งสอน  ใกล้ชิดเช่นเดียวกับบิดาจะพึงมีต่อบุตร โปรดการสมาคมกับไพร่บ้านพลเมืองไม่เลือกชั้นวรรณะ  ถ้าแม้ว่าใครจะถวายทูลร้องทุกข์ประการใดแล้ว ก็อนุญาตให้เข้าเฝ้าใกล้ชิดได้ไม่เลือกหน้าในทุกวันพระมักเสด็จ ออกประทับยังพระแท่นศิลาอาสน์ ทำการสั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม
ในด้านการปกครองเพื่อความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศนั้นพระองค์ทรงถือว่าชายฉกรรจ์ที่มีอาการครบ 32  ทุกคนเป็นทหารของประเทศ  พระเจ้าแผ่นดินทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ ข้าราชการก็มีตำแหน่งลดหลั่นเป็นนายพล  นายร้อย  นายสิบ  ถัดลงมาตามลำดับ
ในด้านการปกครองภายใน จัดเป็นส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน   ชั้นนอกและเมืองประเทศราชสำหรับหัวเมืองชั้นใน มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ปกครองโดยตรง มีเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี   เมืองศรีสัชนาลัย    (สวรรคโลก)    เป็นเมืองอุปราช    มีเมืองทุ่งยั้งบางยม   สองแคว  (พิษณุโลก)  เมืองสระหลวง (พิจิตร)  เมืองพระบาง  (นครสวรรค์)  และเมืองตากเป็นเมืองรายรอบ
สำหรับหัวเมืองชั้นนอกนั้น  เรียกว่าเมืองพระยามหานคร  ให้ขุนนางผู้ใหญ่ที่ไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครองมีเมืองใหญ่บ้างเล็กบ้าง  เวลามีศึกสงครามก็ให้เกณฑ์พลในหัวเมืองขึ้นของตนไปช่วยทำการรบป้องกันเมือง หัวเมืองชั้นนอกในสมัยนั้น ได้แก่  เมืองสรรคบุรี  อู่ทอง  ราชบุรี  เพชรบุรี  ตะนาวศรี  เพชรบูรณ์  แลเมืองศรีเทพ
ส่วนเมืองประเทศราชนั้น  เป็นเมืองที่อยู่ชายพระราชอาณาเขตมักมีคนต่างด้าวชาวเมืองเดิมปะปนอยู่มาก จึงได้ตั้งให้เจ้านายของเขานั้นจัดการปกครองกันเอง  แต่ต้องถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองทุกปี แลเมื่อเกิดศึกสงครามจะต้องถล่มทหารมาช่วย เมืองประเทศราชเหล่านี้   ได้แก่  เมืองนครศรีธรรมราช  มะละกา  ยะโฮร์  ทะวาย  เมาะตะมะ  หงสาวดี  น่าน  หลวงพระบาง  เวียงจันทร์  และเวียงคำ

การวรรณคดี

        นอกจากจะได้ทรงขยายอาณาเขตของไทย ทางปกครองทำนุบำรุงบ้านเมือง และจัดระบบการปกครองที่เป็นระเบียบเรียบร้อยดังกล่าวแล้ว  พระเจ้ารามคำแหงยังได้ทรงสร้างสิ่งที่คนไทยจะลืมเสียมิได้อีกอย่างหนึ่ง สิ่งนั้น ได้แก่ การประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นอันเป็นรากฐานของหนังสือไทยที่เราได้ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
ตามหลักฐานปรากฎว่าพระองค์ได้ทรงคิดอักษรไทยขึ้นใช้เมื่อปี พ.ศ. 1826  กล่าวกันว่าได้ดัดแปลงมาจากอักษรคฤนถ์อันเป็นอักษรที่ใช้กันอยู่ในอินเดียฝ่ายใต้
ตัวอักษรไทยซึ่งพระเจ้ารามคำแหงคิดขึ้นใช้ในสมัยนั้นตัวพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์จึงอยู่เรียงในบรรทัดเดียวกันหมด ดังจะดูได้จากแผ่นศิลาจารึกในสมัยพระเจ้ารามคำแหง  ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  ต่อมาจึงได้มีผู้ค่อยคิดดัดแปลงให้วัฒนาในทางดี และสะดวกในการเขียนมากขึ้น เป็นลำดับ จนกระทั่งถึงอักษรไทยที่เราได้ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ 

การศาสนา

        ในสมัยพระเจ้ารามคำแหงนั้น  ปรากฎว่าศาสนาพุทธได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมากเพราะพระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก เช่นเมื่อมีคนไทยเดินทางไปยังเกาะลังกา เพื่อบวชเรียนตามลัทธิลังกาวงศ์ คือถือคติอย่างหินยาน มีพระไตรปิฎกเป็นภาษามคธ แล้วเข้ามาตั้งเผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ที่เมืองนครธรรมราชนั้น  พระเจ้ารามคำแหงยังได้เสร็จไปพบด้วยพระองค์เองแล้วนิมนต์พระภิกษุนั้นขึ้นมาตั้งให้เป็นสังฆราชกรุงสุโขทัย และได้บวชในคนไทยที่เลื่อมใสศรัทธาต่อมาตามลำดับ ต่อมาพระเจ้ารามคำแหงได้ทำไมตรีกับลังกาและได้พระพุทธสิหิงค์มาจากลังกา      แลนับแต่นั้นมาคนไทยจึงได้นับถือลัทธิลังกาวงศ์สืบมา

 

https://sites.google.com/site/phramhaksatriymhara/phra-rach-prawati-phra-mha-ksatriy-mharach-thiy/phxkhun-ramkhahaeng-mharach

<< Go Back