เขื่อนสรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วง ถือว่าเป็นเขื่อนแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเพื่อการชลประทาน มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นลักษณะทำนบคันดิน หรือเรียกว่าเป็นเขื่อนดินก็ได้ สำหรับกั้นน้ำอยู่ระหว่างซอกเขาคือ เขาพระบาทใหญ่ และเขากิ่วอ้ายมา ที่สร้างขึ้นเพื่อกักน้ำ และชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำมาเข้ากำแพงเมืองเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมือง และพระราชวังในสมัยโบราณ
ปัจจุบันกรมชลประทานร่วมกับกรม ศิลปากรได้ปรับปรุงบูรณะ และซ่อมแซมขึ้นใหม่ ให้มีความสูงและแข็งแรงกว่าเดิมสำหรับใช้กักเก็บน้ำ มีความสูงประมาณ 10 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 400,000 ลูกบาศก์เมตร
ความชาญฉลาดของคนสุโขทัยในอดีต จึงรู้จักสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ในระหว่างตีนเขากิ่วอ้ายมาถึงตีนเขาพระบาทใหญ่ อันเป็นที่รวมของน้ำจากโซกต่างๆ ตามบริเวณเขาถึง 17 โซก เป็นคันดินสำหรับผันแปรทิศทางของน้ำ ภูเขาทั้งสองลูกนี้ (เขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา) อยู่ในทิวเขาหลวงด้านหลังตัวเมืองเก่าสุโขทัย ลึกเข้าไปในทิวเขานี้เป็นซอกเขาอันเป็นต้นกำเนิดของทางน้ำเรียกว่า "โซกพระร่วงลองขรรค์"
สำหรับชื่อเขื่อนสรีดภงค์ นั้นมีที่มาจาก ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่เขียนไว้ว่า "เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไทนี้ มีกุฏิ พิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร้าวป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้" จะเห็นว่ามีคำกล่าวถึง สรีดภงส ซึ่งคงหมายถึงทำนบชลประทานแห่งนี้นั้นเอง
ที่ตั้ง เขื่อนสรีดภงส์ หรือทำนบพระร่วง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
http://sadoodtasukhothai.com/content/เขื่อนสรีดภงค์-หรือ-ทำนบพระร่วง-เขื่อนโบราณสมัยสุโขทัย
|