เงินพดด้วง สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเป็นเวลากว่า 600 ปี โดยทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากัน แล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดิน และตราประจำรัชกาลลงไป ด้วยเหตุที่มีสัณฐานคล้ายตัวด้วง คนไทย จึงเรียกว่าเงินพดด้วง ขณะที่ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า เงินลูกปืน เงินพดด้วงถือได้ว่าเป็นเงินที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนเงินตราตระกูลใดในโลกในสมัยสุโขทัย เงินพดด้วงมักมีตราประทับไว้มากกว่า 2 ดวง และเป็นรูปสัตว์ชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ เป็นต้น
ส่วนในสมัยอยุธยานั้นก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเป็นเงินตรา แต่หลวงผูกขาดในการผลิต เงินพดด้วงในสมัยนี้ คล้ายเงินพดด้วงในสมัยสุโขทัย แต่ตรงปลายขาที่งอจรดกันไม่แหลมเหมือนเงินพดด้วงสุโขทัย ตราที่ประทับส่วนใหญ่เป็นตราจักร และตราประจำรัชกาล เช่น ครุฑ ช้าง ราชวัตร พุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น
เงินพดด้วงสุโขทัย
ทำด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ รูปลักษณ์เป็นก้อนกลม ปลายงอเข้าหากัน มีตราประทับอยู่ด้วย ส่วนใหญ่เป็นตราช้าง ราชสีห์ ราชวัตร สังข์ และดอกไม้ มีราคา บาท สองสลึง สลึง อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า เงินคุบหรือเงินคุด ทำด้วยเนื้อชิน ซึ่งอาจใช้เป็นเงินตรา หรือใช้เป็นลูกตุ้มชั่งน้ำหนัก
เงินพดด้วงอยุธยา
เป็นเงินที่มีรูปลักษณ์ขดกลมคล้ายตัวด้วง มีตราประทับต่างๆกัน กว่า 50 ตรา ส่วนใหญ่เป็น ตราจักร หรือธรรมจักร หรือตราสังข์ ครุฑ ช้าง ดอกบัว พุ่มดอกไม้ ราชวัตร ฯลฯ ทำด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ คิดราคาตามค่าของน้ำหนักเงิน ใช้เป็นเงิตรา ราคาสูงขนาด บาท สองสลึง เฟื้อง 2 ไพ และไพ ส่วนเงินปลีกที่มีราคาต่ำสุดใช้เบี้ยหอย
เงินพดด้วงรัตนโกสินทร์
เป็นเงินตราที่ใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปลักษณ์เหมือนกับพดด้วงสมัยอยุธยา ทำด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ตราจักรประทับไว้หนึ่งตรา พร้อมตราประจำรัชกาลที่ผลิตเงินนี้ขึ้นใช้ประทับไว้ด้วย เช่น เงินพดด้วงในรัชกาลที่ 4 ใช้ตรามงกุฎ เป็นต้น นอกจากจะผลิตขึ้นใช้เป็นเงินตราแล้ว ยังใช้เป็นเงินที่ระลึกในโอกาสต่างๆอีกด้วย ราคาคิดตามค่าของน้ำหนักเงิน เช่นเดียวกับเงินพดด้วงอยุธยา เงินนี้เลิกใช้เมื่อ ปี พ.ศ. 2447 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า เนื่องจากการค้ากับต่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว การผลิตเงินพดด้วงด้วยมือ จึงไม่ทันกับความต้องการพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะใช้เครื่องจักรผลิตแทน เพื่อความรวดเร็วทางการค้า ทรงขอให้คณะทูตที่กำลังจะเดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ที่กรุงลอนดอน ติดต่อซื้อเครื่องจักรเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเงิน จาก บริษัทเทเลอร์และชาลเลน และทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงงานขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพ.ศ. 2400 มีชื่อเรียกว่า “ โรงกษาปณ์สิทธิการ ”
http://www.baanjomyut.com
http://www.lib.ru.ac.th/journal/siammoeny.html
|