<< Go Back

พระไตรปิฏก แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำๆ ว่า พระ + ไตร + ปิฏก คำว่า "พระ" เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า “ไตร” แปลว่า สาม คำว่า “ปิฏก” แปลได้ ๒ อย่าง คือ แปลว่า คัมภีร์ หรือแปลว่า กระจาด ตะกร้า
ดังนั้น พระไตรปิฏก จึงหมายถึง สิ่งที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ไม่ไห้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของนั้นเอง
พระไตรปิฏก แบ่งออกเป็น
๑. พระวินัยปิฏก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
๒. พระสุตตันตปิฏก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วไป
๓. พระอภิธรรมปิฏก ว่าด้วยธรรมล้วนๆ หรือธรรมสำคัญ

ก่อนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสทำนองสั่งเสียกับพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไปแล้ว จะไม่ทรงตั้งภิกษุรูปใดแทนพระองค์ หากแต่ให้ชาวพุทธทั้งหลายยึดพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ ตามพระพุทธพจน์ว่า “โย โว อานนฺท มยาธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น เป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป
พระพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นว่า พระธรรมวินัย ถือเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงเท่ากับเป็นองค์พระศาสดาและเป็นตัวแทนพระพุทธศาสนา และพระธรรมวินัยทั้งหลายนั้นล้วนได้ประมวลอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งสิ้น

พระไตรปิฏก มีความสำคัญดังนี้ คือ
๑. เป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ คือคำสั่งของพระพุทธเจ้า
๒. เป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เราสามารถเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฏก
๓. เป็นแหล่งต้นเดิมหรือแม่บทในพระพุทธศาสนา
๔. เป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คำสอนและข้อปฏิบัติใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระไตรปิฏก
๕. เป็นคัมภีร์ที่ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการ

ตู้พระไตรปิฏก วัดระฆังโฆสิตาราม

 

http://www.dhammathai.org/buddhism/tripitaka.php

<< Go Back