<< Go Back

ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๘ พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร อันมีใจความเกี่ยวกับ ความไม่ใช่ตัวตนของ รูป คือ ร่างกาย เวทนา คือ ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉย ๆ สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ สังขาร คือ ความคิดหรือเจตนา วิญญาณ คือ ความรู้อารมณ์ทางตา หู เป็นต้น หรือเรียกอีกประการหนึ่งว่า อายตนะทั้ง ๖ อันได้แก่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ฯลฯ โปรดพระปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ รูปนั้นให้บรรลุพระอรหันต์เป็น อเสขอริยบุคคล คือบุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา หรือ ผู้จบการศึกษา

ที่มาภาพ : http://evidencethammakai.blogspot.com/2013/08/blog-post_1179.html

อนัตตลักขณสูตร แปลว่า พระสูตรที่แสดงลักษณะ คือ เครื่องกำหนดหมายว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน พระสูตรนี้มีใจความโดยย่อดังต่อไปนี้

ตอนที่ ๑  พระบรมศาสดาได้ทรงแสดง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ถ้าทั้งห้านี้ พึงเป็นอัตตาตัวตน ทั้งห้านี้ก็ถึงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลก็จะพึงได้ในส่วนทั้งห้านี้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย  แต่เพราะเหตุว่าทั้งห้านี้มิใช่อัตตาตัวตน ฉะนั้น ทั้งห้านี้จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลก็ย่อมไม่ได้ส่วนทั้งห้านี้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ตอนที่ ๒  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอบความรู้ความเห็นของท่านทั้งห้านั้น ตรัสถามว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้งห้า ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง ตรัสถามอีกว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ท่านทั้งห้ากราบทูลว่าเป็นทุกข์ ก็ตรัสถามต่อไปว่า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะเห็นสิ่งนั้น

ตอนที่ ๓  พระพุทธเจ้าได้ตรัสรุปลงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้ที่เป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี เป็นส่วนปัจจุบันก็ดี เป็นส่วนภายในก็ดี เป็นส่วนภายนอกก็ดี เป็นส่วนหยาบก็ดี เป็นส่วนละเอียดก็ดี เป็นส่วนเลวก็ดี เป็นส่วนประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ควรเป็นด้วยปัญญาชอบ ตามที่เป็นแล้วว่า นี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นี่ นี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา

ตอนที่ ๔  พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงผลทีเกิดแก่ผู้ฟังและเกิดความรู้เห็นชอบดั่งกล่าวมานั้นต่อไปว่า  อริยสาวก คือ ผู้ฟังผู้ประเสริฐซึ่งได้สดับแล้วอย่างนี้ ย่อมเกิดนิพพิทา คือ ความหน่ายในรูป หน่ายในเวทนา หน่ายใน
สัญญา หน่ายในสังขาร หน่ายในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็ย่อมสิ้นราคะ คือ สิ้นความติด ความยินดี ความกำหนัด เมื้อสิ้นราคะ ก็ย่อมวิมุตติ คือ หลุดพ้น เมื่อวิมุตติ ก็ย่อมมีญาณ คือความรู้ว่าวิมุตติ หลุดพ้นแล้ว และย่อมรู้ว่า ชาติ คือ ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นเช่นนี้อีกต่อไป



  http://www.phuttha.com/พระพุทธเจ้า/ตรัสรู้/ทรงแสดง-อนัตตลักขณสูตร

<< Go Back