<< Go Back

แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่ละยุคสมัยอาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หลักฐานที่เป็นตัวหนังสือโดยมนุษย์ได้ทิ้งร่องรอยขีดเขียนเป็นตัวหนังสือประเภทต่างๆ ในรูปของการจารึกในศิลาจารึกและการจารึกบนแผ่นโลหะ นอกจากนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรประเภทอื่น เช่น พงศาวดาร จดหมายเหตุ ตำนาน และกฎหมาย
2. หลักฐานที่เป็นวัตถุ ได้แก่ วัตถุที่มนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัยได้สร้างขึ้น และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น โบราณสถาน ประกอบด้วย วัด เจดีย์ มณฑป และโบราณวัตถุ ประกอบด้วย พระพุทธรูป ถ้วยชามสังคโลก

การแบ่งลำดับความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็น 2 ประเภท คือ

1. หลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิ เป็นหลักฐานที่มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นจริงๆ โดยมีการบันทึกของผู้ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรง หรือผู้ที่รู้เหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง ดังนั้นหลักฐานช่วงต้น จึงเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญและน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะบันทึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์บันทึกไว้ เช่น จดมายเหตุ คำสัมภาษณ์ เอกสารทางราชการ บันทึกความทรงจำ กฎหมาย หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ สไลด์ วีดิทัศน์ แถบบันทึกเสียง โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุ
2. หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ เป็นหลักฐานที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง โดยมีการเรียบเรียงขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของบทความทางวิชาการและหนังสือต่างๆ เช่น พงศาวดาร ตำนาน บันทึกคำบอกเล่า ผลงานทางการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ สำหรับหลักฐานชั้นรองนั้นมีข้อดี คือ มีความสะดวกและง่ายในการศึกษาทำความเข้าใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลได้ผ่านการศึกษาค้นคว้า ตรวจสอบข้อมูล วิเคราะห์เหตุการณ์และอธิบายไว้อย่างเป็นระบบ โดยนักประวัติศาสตร์มาแล้ว

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย มีอยู่หลายลักษณะ อาจแบ่งลักษณะสำคัญของหลักฐานออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. หลักฐานที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร ได้แก่
1.1 โบราณสถาน หมายถึง สิ่งก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์ขนาดต่างๆกัน อยู่ติดกับ พื้นดินไม่อาจนำเคลื่อนที่ไปได้ เช่น กำแพงเมือง คูเมือง วัง วัด ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในวัด และวัง เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์ และที่อยู่อาศัย การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณสถาน จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ตั้งของโบราณสถานนั้นๆ

ปราสาทหินพิมาย

1.2 โบราณวัตถุ หมายถึง สิ่งของโบราณที่มีลักษณะต่างๆกัน สามารถนำติดตัว เคลื่อนย้ายได้ ไม่ว่าสิ่งของนั้นๆ จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น หรือเป็น ส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน และสิ่งของที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยประวัติศาสตร์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป รูปเคารพต่างๆ เครื่องประดับ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ทางประวัติศาสตร์เสมอไป และสามารถไปศึกษาได้จากแหล่งรวบรวมทั้งของราชการ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

เครื่องปั้นดินเผาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง

2. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่
        2.1 จารึก ในแง่ของภาษาแล้วมีคำอยู่ 2 คำที่คล้ายคลึงและเกี่ยวกับข้องกัน คือ
คำว่า จาร และจารึก
คำว่า จาร แปลว่า เขียนอักษรด้วยเหล็กแหลมลงบนใบลาน
คำว่า จารึก แปลว่า เขียนเป็นรอยลึกลงบนแผ่นศิลาหรือโลหะ

จารึกบนฐานพระพุทธรูป วัดป่าข่อย จังหวัดลพบุรี

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คำว่า จารึก หมายรวมถึง หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งใช้วิธีเขียนเป็นรอยลึก ถ้าเขียนเป็นรอยลึกลงบนแผ่นหิน เรียกว่า ศิลาจารึก เช่น ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเขียนลงบนวัสดุอื่นๆ เช่น แผ่นอิฐ เรียกว่า จารึกบนแผ่นอิฐ แผ่นดีบุก เรียกว่า จารึกบนแผ่นดีบุก และการจารึกบนใบลาน

ศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง

      2.2 เอกสารพื้นเมือง เอกสารพื้นเมืองนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สำคัญของประเทศไทย มักปรากฏในรูปหนังสือสมุดไทย และเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ


 

http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/bangkok/malaiwan_c/historym1/unit01_03.html

<< Go Back