<< Go Back

 

  พระสังฆราชในประเทศไทยเรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช คือประมุขแห่งคณะสงฆ์ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก

            สังฆราชในสังฆมลฑลไทย กฎหมายกำหนดให้มีพระองค์เดียวมาตั้งแต่โบราณทั้งนี้เพื่อป้องกันความแตกแยกสามัคคีในหมู่สงฆ์ จึงเท่ากับดำรงอยู่ในฐานะ พระสังฆบิดร ด้วย

  สังฆราชในสังฆมลฑลไทย

           สังฆราช หรือที่เรียกในสังฆมลฑลไทยว่า สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่าสังฆราชไว้ด้วย

           สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทย นำแบบอย่างมาจาก ลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย

สมัยกรุงสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยา

           ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น สกลมหาสังฆปรินายก มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง โดยมีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่าย คามวาสี เป็นสังฆราชขวา สมเด็จพระวันรัตเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นพระสังฆราช ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี และมาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
            ตามทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีตำแหน่งสังฆปรินายก 2 องค์ ที่เรียกว่า พระสังฆราชซ้าย ขวา ดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า สมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาว่า คณะเหนือ พระพนรัตน์เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้ายว่า คณะใต้ มีสุพรรณบัตรจารึก พระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง 2 องค์ แต่ที่สมเด็จพระพนรัตน์ โดยปกติไม่ได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้นเป็นสมเด็จทุกองค์ จึงเรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นมหาสังฆปริณายก มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ที่พระพนรัตน์แต่เดิม ทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเป็นสมเด็จทุกองค์
           เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็น ราชธานี วิธีการปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลจากราชธานี เป็นเมืองประเทศราชโดยมาก แม้เมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ราชธานี ก็ตั้งเจ้านายในราชวงศ์ออกไปครอง ทำนองเจ้าประเทศราช เมืองใหญ่แต่ละเมือง จึงน่าจะมีสังฆราชองค์หนึ่ง เป็นสังฆปรินายกของสังฆบริษัทใน เมืองนั้น ดังปรากฏเค้าเงื่อนในทำเนียบชั้นหลัง ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่าพระสังฆราชอยู่หลายเมือง จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นสังฆปาโมกข์
           พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือฝ่ายที่พำนักอยู่ใกล้เมืองเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เรียกว่า คามวาสี อีกฝ่ายหนึ่งบำเพ็ญสมณธรรมในที่สงบเงียบตามป่าเขา ห่างไกลจากบ้านเมืองเรียกว่า อรัญวาสี ภิกษุ แต่ละฝ่ายยังแบ่งออกเป็นคณะ แต่ละคณะจะมีพระราชาคณะปกครอง หัวหน้าพระราชาคณะเรียกว่า สมเด็จพระราชาคณะ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

           ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนพระอิสริยยศสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงเศวตฉัตร 5 ชั้น พระราชวงศ์ชั้นรองลงมา เท่าที่ปรากฏ มีชั้นหม่อมเจ้าผู้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำหน้า พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น
           ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 ได้บัญญัติถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ว่า ในกรณีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศ นาม สมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำพระนามสมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และ สมเด็จพระวันรัต เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วนำกราบถวายบังคมทูล ให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย และจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป

เครื่องยศของสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระสังฆราชจะทรงมีเครื่องยศประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระสังราช ดังนี้
                  พัดยศสมเด็จพระสังฆราช
                  พระแท่นภายใต้เศวตฉัตร 3 ชั้น
                  บาตร พร้อมฝาบาตร เชิงบาตรรมปัด
                  พานพระศรี ถมปัด
                  ขันน้ำและพานรอง ถมปัด
                  คณโฑ ถมปัด
                  พระสุพรรณศรี ถมปัด
                  พระสุพรรณราช ถมปัด
                  หีบตราพระจักรี ถมปัด
                  ปิ่นทรงกลม 4 ชั้น ถมปัด
                  กาทรงกระบอก ถมปัด
                  หม้อลักจั่น ถมปัด
                  กระโถน ถมปัด
และเมื่อสิ้นพระชนม์จะทรงได้รับเครื่องประกอบอิสริยยศ ได้แก่
                  พระโกศกุดันใหญ่ (หรือ มากกว่า)
                  พระเศวตฉัตร 3 ชั้นกางกั้นพระโกศ
                  เสด็จสรงน้ำพระศพ
                  รับพระราชทานเพลิงพระศพ
                  เครื่องประโคมสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง กลองชนะ จ่าปี่ จ่ากลอง

<< Go Back