<< Go Back

     ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 พ.ศ. 2398 อังกฤษได้ส่งเซอร์จอห์น เบาว์ริง เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อทำสนธิสัญญาทางการค้า สนธิสัญญาฉบับนี้มีชื่อเรียกตามนามของทูตที่เข้ามาเจรจาว่า "สนธิสัญญาเบาว์ริง"


จอห์น เบาว์ริง
ที่มาของภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki/สนธิสัญญาเบาว์ริง

     1. อังกฤษได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต
     2. ยกเลิกภาษีปากเรือตามสนธิสัญญาเบอร์นีย์ พ.ศ.2369 และให้เก็บภาษีสินค้าเข้าร้อยละ 3 แทน ถ้าขายไม่หมดจะคืนภาษีสินค้าส่วนที่เหลือให้
     3. ให้มีการค้าเสรี และไทยอนุญาตให้นำเข้า ปลา เกลือ ไปขายต่างประเทศได้ ยกเว้นปีที่เกิดขาดแคลน
     4. คนในบังคับอังกฤษนำฝิ่นเข้ามาขายในเมืองไทยได้ แต่ต้องขายให้เจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น ถ้าเจ้าภาษีฝิ่นไม่ซื้อต้องนำออกไป
     5. ถ้าชาติอื่นได้สิทธิพิเศษเพิ่มเติม อังกฤษจะได้สิทธิพิเศษนั้นด้วย นั่นคืออังกฤษได้สิทธิชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง
     6. สนธิสัญญานี้จะแก้ไขได้เมื่อพ้น 10 ปีไปแล้ว และต้องบอกล่วงหน้า 1 ปี โดยได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่าย

     1. รายได้ของประเทศลดลง เนื่องจากหลังการทำสัญญา ไทยต้องเปิดเสรีทางการค้าทำให้ไทยต้องยกเลิกระบบการค้าผูก ขาดของพระคลังสินค้า ส่งผลให้รัฐบาลไทยมีรายได้ลดลง ทำให้รัชกาลที่ 4 ต้องทรงพยายามหารายได้จากทางอื่น ตั้งแต่ การเพิ่มจำนวนประเภทภาษีจากเดิมที่เก็บในรัชกาลที่ 3 การให้เจ้าภาษีนายอากรผูกขาดการจับเก็บภาษีมากขึ้น และการ จัดระบบแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดิน นอกจากนี้ การจำกัดอัตราภาษีขาเข้าตายตัวยังทำให้ สินค้าต่างชาติเข้ามาตีตลาดสินค้าภายใน เช่น น้ำตาล และผ้าทอพื้นเมือง ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมพื้นบ้านของไทย ซึ่งใช้เทคนิคการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพต้องซบเซาลง และถูกแทนที่ด้วยสินค้านำเข้าที่ทำด้วยเครื่องจักรที่มีราคาถูกกว่า

     2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ไทยได้เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อการยังชีพ กล่าวคือแต่ละครัวเรือนหรือ หมู่บ้านต่างก็ทำการผลิตทางการเกษตรเป็นอาชีพหลัก และอุตสาหกรรมในครัวเรือนเป็นอาชีพรองเพื่อการบริโภคและการใช้สอย ส่วนที่เหลือเล็กๆ น้อยๆ  ก็จะนำไปแลกเปลี่ยนภายในหมู่บ้านหรือระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียงกัน ลักษณะการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้ามาเป็นการผลิตเพื่อการค้า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ข้าวกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุนการส่งข้าวไปขาย พร้อมกับการส่งเสริมการเปิดที่นาใหม่โดยไม่ต้องเก็บภาษีค่านาปีแรก ลดอากรค่านา และผ่อนผันให้ไพร่กลับไปทำนาในช่วงเวลารับราชการได้ มีการขุดคลองซึ่งให้ประโยชน์ในด้านการเพาะปลูกและการคมนาคม การที่ทางการให้การสนับสนุนและการที่ข้าวมีราคาสูงขึ้น  ทำให้ราษฎรหันมาทำนาเพื่อการค้ากันมากขึ้น  อย่างไรก็ตามคนไทยจะมีบทบาทเฉพาะการปลูกข้าวเท่านั้น ส่วนการแปรรูปข้าวเปลือกและการค้าข้าวตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง คือชาวจีนที่อพยพเข้ามานั่นเอง นอกจากข้าวแล้วยังมีสินค้าอีกสองอย่าง คือ ดีบุก กับ ไม้สัก ซึ่งมีความสำคัญขึ้นมาแทนที่น้ำตาลที่เคยมีความสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 อีกด้วย

     3. เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลก  การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นการนำเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลก  ประเทศไทยเริ่มผูกผนวกให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก  โดยประเทศไทยทำหน้าที่ผลิตสินค้าขั้นปฐมภูมิและวัตถุดิบ  เพื่อส่งออกแลกเปลี่ยนกับสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้ามาบริโภคในประเทศ

    4. เกิดระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา  เนื่องจากเงินตราเดิมที่ใช้อยู่ คือ เบี้ยและเงินพดด้วงเริ่มขาดแคลน  อีกทั้งยังเกิดการแตกหักและปลอมแปลงได้ง่าย  รัชกาลที่ 4 จึงตั้งโรงกษาปณ์เพื่อผลิตเงินเหรียญชนิดและราคาต่างๆ ได้แก่ เหรียญดีบุกที่เรียกว่า อัฐ โสฬส เหรียญทองเรียก ทศ พิศ พัดดึงส์ และเหรียญทองแดงคือ ซีก หรือ เซี่ยว(เสี้ยว)  ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงินตราที่ใช้เงินเป็นมาตรฐานไปสู่การใช้ทองคำเป็นมาตรฐาน  รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศพระราชบัญญัติทองคำกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน  เพื่อให้การแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทไทยกับเงินตราสกุลอื่นๆ  มีความสะดวกและมีเสถียรภาพ  อีกทั้งเพื่อการแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่กำลังตกต่ำลง  เนื่องมาจากการที่ราคาของแร่เงินตกต่ำ  ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ไทยนำค่าของเงินตราไปเกี่ยวพันกับโลกภายนอก

     5. การปฏิรูประบบภาษีอากรและการคลัง  รัชกาลที่ 4 ทรงแก้ปัญหาการที่รายได้ของรัฐลดลงหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง  ด้วยการเพิ่มชนิดของภาษีอากรอีกหลายชนิด  โดยผ่านระบบเจ้าภาษีนายอากร แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มีข้อบกพร่องอย่างมาก  เช่น  รายได้ของหลวงรั่วไหล  เงินที่ทางราชการเก็บได้ก็ลดน้อยลงทุกที  รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าการเก็บภาษีแบบเดิม  ที่แต่ละหน่วยงานแยกกันเก็บแล้วส่งมาให้ส่วนกลาง  ทำให้เงินภาษีรั่วไหลมาก  จึงทรงปฏิรูประบบภาษีอากรและการคลังใหม่  โดยจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พุทธศักราช 2416  เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังให้รู้จำนวนเงินที่มีอยู่  ทำหน้าที่รวบรวมเงินภาษีอากรจากทั่วประเทศให้มาอยู่ที่เดียวกัน  เพื่อนำเงินภาษีมาพัฒนาประเทศ


สนธิสัญญาเบาว์ริงฉบับภาษาไทยเขียนลงสมุดไทย ก่อนส่งไปจักรวรรดิอังกฤษ ให้รัฐบาลอังกฤษประทับตรา

          http://jamsai987.blogspot.com/2013/09/blog-post_3722.html

<< Go Back