<< Go Back

     สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองและมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ  ในระบอบการปกครองนี้พระมหากษัตริย์ก็คือกฎหมาย  กล่าวคือที่มาของกฎหมายทั้งปวงอยู่ที่กษัตริย์ คำสั่ง ความต้องการต่างๆ ล้วนมีผลเป็นกฎหมาย  กษัตริย์มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินและพลเมืองโดยอิสระ  โดยไม่มีกฎหมายหรือองค์กรตามกฎหมายใดๆ จะห้ามปรามได้  แม้องค์กรทางศาสนาอาจทัดทานกษัตริย์จากการกระทำบางอย่างและองค์รัฏฐาธิปัตย์ (กษัตริย์) นั้น  จะถูกคาดหวังว่าจะปฏิบัติตามธรรมเนียม  แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น  ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ ที่จะอยู่เหนือกว่าคำชี้ขาดของรัฏฐาธิปัตย์  ตามทฤษฎีพลเมืองนั้น  ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มอบความไว้วางใจทั้งหมด  ให้กับพระเจ้าแผ่นดินที่ดีพร้อมทางสายเลือด  และได้รับการเลี้ยงดูฝึกฝนมาอย่างดีตั้งแต่เกิดในทางทฤษฎี  กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีอำนาจทั้งหมดเหนือประชาชนและแผ่นดิน  รวมทั้งเหนืออภิชนและบางครั้งก็เหนือคณะสงฆ์ด้วย  ส่วนในทางปฏิบัติกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มักจะถูกจำกัดอำนาจโดยทั่วไป  โดยกลุ่มที่กล่าวมาหรือกลุ่มอื่นกษัตริย์บางพระองค์  (เช่น จักรวรรดิเยอรมนี ค.ศ. 1871 – 1918)  มีรัฐสภาที่ไม่มีอำนาจหรือเป็นเพียงสัญลักษณ์  และมีองค์กรบริหารอื่นๆ ที่กษัตริย์สามารถเปลี่ยนแปลงหรือยุบเลิกได้ตามต้องการ  แม้จะมีผลเท่ากับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  แต่โดยทางเทคนิคที่เป็นไปได้แล้ว  นี่คือราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)  เนื่องจากการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายพื้นฐานของประเทศ  ประเทศที่ใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบันคือ ซาอุดิอาระเบีย บรูไน โอมาน รวมทั้ง นครรัฐวาติกัน ด้วย

     ประเทศไทยเคยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  พระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์เด็ดขาดในการปกครองแผ่นดิน  ดังคำกล่าวที่ว่า "พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้  ไม่ได้ปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใด  ด้วยเหตุที่ถือว่าเป็นที่ล้นพ้น  ไม่มีข้อสั่งอันใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้"

     เมื่อมีการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 7  และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 แล้ว  ในทางนิตินัยพระราชอำนาจที่เคยมีมาอย่างล้นพ้น  ได้ถูกจำกัดลงให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ

 

          http://jpo.moj.go.th/index.php/2013-08-17-04-20-06/องค์ความรู้-2/item/ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์.html

<< Go Back