<< Go Back

     ระบอบประชาธิปไตย ( Democracy ) หมายถึง ระบบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ ดังนั้นการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยก็คือ รูปการปกครองที่ยึดถืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

     ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ  เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักหรือเป็นกติกาที่กำหนดแนวทาง  สำหรับการที่รัฐจะใช้อำนาจปกครองประชาชน  และมีหลักการจัดระเบียบการปกครอง  แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เครื่องหมายแสดงความเป็นประชาธิปไตย  เพราะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเสด็จการก็มีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน  การที่จะพิจารณาว่าประเทศใดเป็นประชาธิปไตยหรือไม่  จึงต้องดูว่ารัฐธรรมนูญของประเทศนั้นให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือไม่

     ลักษณะสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย  สามารถพิจารณาได้จากรัฐบาล การเลือกตั้ง  และการปกครองโดยเสียงข้างมาก

     ลักษณะของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย  คือ " รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน "  ซึ่งเป็นวาทะของอับราฮัม ลินคอลน์  ( Abraham Lincoln) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

     การที่รัฐบาลใดจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยจะต้องมีลักษณะครบทั้ง 3 ประการ คือ
          - รัฐบาลของประชาชน  หมายถึง  รัฐบาลจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  และประชาชนสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองได้  ด้วยการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  นั่นคือประชาชนอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของรัฐบาล  ซึ่งบ่งชี้ถึงมิติของการปกครองในด้านความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
          - รัฐบาลโดยประชาชน  หมายถึง  ประชาชนหรือพลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นผู้ปกครองได้  ถ้าหากได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
          - รัฐบาลเพื่อประชาชน  หมายถึง  รัฐบาลจะต้องมีจุดประสงค์เพื่อความผาสุกของประชาชน  และจะต้องมีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง  เช่น ทุก 4 ปี ฯลฯ  เพื่อจะได้เป็นหลักประกันว่าผู้ปกครองจะต้องปกครองเพื่อประชาชน  หากผันแปรจากจุดหมายนี้ประชาชนจะได้มีโอกาสเปลี่ยนผู้ปกครองผ่านทางการเลือกตั้ง

     ประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง  เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเสนอตัวเข้ารับใช้ส่วนรวม  โดยการสมัครรับเลือกตั้งและเปิดโอกาสให้พลเมือง  ใช้สิทธิในการที่จะเลือกบุคคลที่ตนต้องการให้เป็นผู้ปกครอง  หรือเป็นผู้ใช้สิทธิเป็นปากเสียงแทนตนในสภา

     ในระบอบประชาธิปไตยนั้น  การมีสิทธิเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวยังไม่เป็นการเพียงพอ  ต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิในการใช้สิทธินั้นด้วยว่า  สามารถใช้ได้อย่างเสรีเต็มที่และมีโอกาสเลือกสรรตัวบุคคลที่ต้องการจริงๆ  คือ  ต้องมีการลงคะแนนแบบลับ ( Secret Ballot)

     การปกครองโดยเสียงข้างมาก  หมายถึง  บุคคลที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาล  นั้นถ้าหากไม่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรงแล้ว  ก็ต้องเป็นคณะบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากเสียงข้างมากของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา  โดยการออกฎหมาย  การวินิจฉัยปัญหา  หรือการตัดสินใจในนโยบายต่างๆ  ต้องเป็นไปตามความเห็นขอบของเสียงข้างมากของผู้แทนในสภา

     ในระบอบประชาธิปไตยมิได้หมายความเพียงการยึดหลักเสียงข้างมากเท่านั้น  แต่จะต้องมีหลักประกันสำหรับเสียงข้างน้อยด้วย  นั่นคือ  สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการเคารพ  เป็นเสียงข้างมากจะละเมิดหรือก้าวก่ายสิทธิของเสียงข้างน้อยจึงถือเป็นการใช้ "กฎหมู่"

     นอกจากนี้ความเห็นหรือทัศนะของเสียงข้างน้อย  จะต้องได้รับการรับฟัง  เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย  หรือผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างได้เผยแพร่ทัศนะหรือแนวความคิดของเขา

     ทัศนะหรือความคิดเห็นที่ปราชัยต่อเสียงข้างมากหรือตกเป็นเสียงข้างน้อยนั้น  ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสูญหายไปโดยสิ้นเชิง  แต่อาจจะกลับมาเป็นทัศนะที่ได้รับการยอมรับ  หรือเป็นเสียงข้างมากในโอกาสต่อไปได้

     1. เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล  โดยไม่ศรัทธาบุคคลใดถึงชั้นปุชนียบุคคล  (แต่ก็ต้องกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ)  จะต้องไม่เคร่งครัดเรื่องระบบอาวุโส  (แต่ก็ต้องให้ความเคารพผู้อาวุโส)   ประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย  เพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกต้องที่แท้จริง  เพราะเหตุผลเท่านั้นที่จะจรรโลงให้ประชาธิปไตยดำเนินไปได้  และประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล

     2. รู้จักการประนีประนอม คือ ยอมรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ไม่นิยมความรุนแรง ต้องรู้จักยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยึดมั่นหรือดึงดันแต่ความคิดเห็นของตนเองโดยไม่ยอมผ่อนปรนแก้ไข และต้องยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขความคิดเห็นของตนเองเมื่อผู้อื่นมีความคิดเห็นที่ดีกว่า ปรัชญาประชาธิปไตย โดยพื้นฐานไม่ปรารถนาให้มีการใช้กำลังและการล้มล้างด้วยวิธีการรุนแรง เพราะถ้ามีการใช้กำลังและความรุนแรงแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่มีหรือไม่ใช้เหตุผล  ซึ่งก็ขัดกับหลักความเชื่อขั้นมูลฐานของประชาธิปไตยที่ถอว่ามนุษย์มีเหตุผล

     3. มีระเบียบวินัย คือ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ และช่วยทำให้กฎหมายของบ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์  โดยไม่ยอมให้ผุ้ใดมาละเมิดตามอำเภอใจ แต่ถ้ามีความรู้สึกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ไม่เป็นธรรม ก็ต้องหาทางเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนั้น มิใช่ฝ่ายฝืนหรือไม่ยอมรับ การใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนละเมิดหรือก้าวก่ายในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ย่อมทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในสังคม  เพราะสังคมที่ไม่มีการจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพเลยนั้นหาใช่สังคมประชาธิปไตยไม่  แต่เป็นสังคมอนาธิปไตยที่เปรียบเสมือนไม่มีรัฐบาล  ไม่มีกฎหมาย ไร้ระเบียบวินัยทางสังคมโดยสิ้นเชิง

     4. มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งเกิดขึ้นจากความรู้สึกของคนในสังคมว่า ตนเป็นเจ้าของประเทศ และประเทศเป็นของคนทุกคน โดยสำนึกว่า การที่ตนได้รับการศึกษา สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะสังคมอันเป็นส่วนรวมของทุกคน ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้เป็นการตอบแทน นอกจากนี้ลักษณะวิถีชีวิตประชาธิปไตยยังมีอีกหลายประเด็น เช่น ต้องเป็นคนหนักแน่นไม่หูเบา  ต้องไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ  มีทัศนะที่ดีต่อคนอื่น  ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น  เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  มีน้ำใจเป็นนักกีฬาคือรู้แพ้รู้ชนะ เป็นต้น


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ที่มาของภาพ : http://www.tiewpakklang.com/wp-content/uploads/2013/08/Gallery-108-04.jpg

 

          http://guru.sanook.com/3872/

<< Go Back