<< Go Back

     วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือเรียกทั่วไปในประเทศไทยว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง"  เป็นช่วงวิกฤตการณ์เงินซึ่งส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชีย  เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540  ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจทั่วโลก  เนื่องจากการแพร่ระบาดทางการเงิน

     วิกฤตดังกล่าวเริ่มขึ้นในประเทศไทย  เมื่อค่าเงินบาทลดลงอย่างมากอันเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลไทย  ซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายกรัฐมนตรี  ที่ลอยตัวค่าเงินบาทตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ  หลังจากความพยายามทั้งหมดที่จะสนับสนุนค่าเงินบาท  เมื่อเผชิญกับการแผ่ขยายแบบเกินเลยทางการเงิน (financial overextension) อย่างรุนแรง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์  ในเวลานั้นประเทศไทยมีภาระหนี้สาธารณะ  ซึ่งทำให้ประเทศอยู่ในสภาพล้มละลายก่อนหน้าการล่มสลายของค่าเงิน  และเมื่อวิกฤตดังกล่าวขยายออกนอกประเทศ  ค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นก็ได้ทรุดตัวลงเช่นกัน  ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงและรวมไปถึงราคาสินทรัพย์อื่นๆ  และทำให้หนี้เอกชนเพิ่มสูงขึ้น

     แม้จะทราบกันดีแล้วว่าวิกฤตการณ์นี้มีอยู่และมีผลกระทบอย่างไร  แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือสาเหตุของวิกฤตการณ์ดังกล่าว  เช่นเดียวกับขอบเขตและทางแก้ไข  อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไทยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว  ฮ่องกง มาเลเซีย ลาว และฟิลิปปินส์ก็เผชิญกับปัญหาค่าเงินทรุดเช่นกัน  สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ บรูไน และเวียดนามได้รับผลกระทบน้อยกว่า  ถึงแม้ว่าทุกประเทศที่กล่าวมานี้จะได้รับผลกระทบ  จากการสูญเสียอุปสงค์และความเชื่อมั่นตลอดภูมิภาค

     สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นจาก 100% เป็น 167% ในสี่ประเทศใหญ่อาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2536 - 2538 ก่อนจะขึ้นไปสูงถึง 180%  ในช่วงที่วิกฤตการณ์เลวร้ายที่สุดในเกาหลีใต้  สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 21% และแตะระดับสูงสุดที่ 40%  ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่อยู่ทางเหนือได้รับผลกระทบน้อยกว่ามาก  มีเพียงในไทยและเกาหลีใต้เท่านั้นที่หนี้สัดส่วนบริการต่อการส่งออกเพิ่มขึ้น

     ถึงแม้ว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ในเอเชียได้ออกนโยบายการเงินที่ดูแล้วสมบูรณ์  แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)  ได้ก้าวเข้ามาเพื่อริเริ่มโครงการมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  เพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินในเกาหลีใต้ ไทย และอินโดนีเซีย  ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว  ความพยายามที่จะยับยั้งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจระดับโลก  ได้ช่วยรักษาเสถียรภาพสถานการณ์ในประเทศในอินโดนีเซียได้เพียงเล็กน้อย  ประธานาธิบดีซูฮาร์โตถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2541  หลังจากครองอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปี  ท่ามกลางการจลาจลที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย  ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอย่างรุนแรง  อันเป็นผลมาจากค่าเงินรูเปียห์อ่อนตัวลงอย่างร้ายแรง  ผลกระทบของวิกฤตการณ์ดังกล่าวกินเวลาไปจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2541  ในปีเดียวกันนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ลดลงจนเกือบเป็นศูนย์  มีเพียงสิงคโปร์และไต้หวันเท่านั้นที่พิสูจน์แล้วว่า  เกือบจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในวิกฤตการณ์เลย  แต่ทั้งสองประเทศก็ยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตามปกติ  สิงคโปร์ได้รับผลกระทบมากกว่า  เนื่องจากขนาดและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซีย  อย่างไรก็ตามจนถึงปี พ.ศ. 2542  นักวิเคราะห์ได้มองเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจเอเชียกำลังเริ่มฟื้นตัว


ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540

         https://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย_พ.ศ._2540

<< Go Back