<< Go Back

     แรงงานนอกระบบ (Informal Workers)  คือ  ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานโดยไม่มีสัญญาการจ้างงานที่เป็นทางการ  หรือไม่มีนายจ้างตามความหมายของกฎหมายแรงงาน  ไม่ได้ทำงานอยู่ในสถานประกอบการของนายจ้าง  ไม่มีค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่แน่นอน  หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นผู้ที่ทำงานชั่วคราว  แรงงานอกระบบจึงเป็นแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในกรอบความคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายประกันสังคม  ทำให้ไม่มีหลักประกันความมั่นคงใดๆ ในการทำงาน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานที่มั่นคง  ค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม  สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน  และความมั่นคงในการดำรงชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยชรา

     ลักษณะอาชีพที่เป็นตัวอย่างของแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับเหมาช่วงงานอุตสาหกรรมไปทำที่บ้าน (Industrial Outworkers) คนงานที่ทำงานไม่ประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างชั่วคราวตามฤดูกาล และลูกจ้างที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part-time workers) ลูกจ้างในโรงงานห้องแถว (Sweatshop) และคนงานที่ทำกิจการของตนเอง (Own Account Workers) อยู่ที่บ้านและโรงงานที่ไม่มีการตรวจสอบจดทะเบียน นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงแรงงานอิสระที่ทำงานเพื่อความอยู่รอด เช่น หาบเร่ริมถนน คนขัดรองเท้า คนเก็บขยะ และแรงงานรับใช้ในบ้าน  เป็นต้น

     เนื่องจากสังคมขาดระบบข้อมูลของแรงงานนอกระบบ  ทำให้แรงงานเหล่านี้เข้าข่าย "ไม่มีตัวตน"   ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้มีเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม  มีรายได้ไม่แน่นอน  ขาดการคุ้มครองทั้งทางด้านแรงงานและหลักประกันทางสังคม  ต้องเผชิญความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงและบ่อยครั้งกว่าแรงงานในระบบ  ในขณะที่มีความสามารถในการจัดการความเสี่ยงน้อยที่สุด

     สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Office)  ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสนใจและกำหนดภารกิจในการทำงานเรื่องของเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal economy) ไว้อย่างจริงจัง   ประมาณว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีการจ้างงานภาคนอกระบบมากกว่าในระบบ  และประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีภาคนอกระบบใหญ่กว่าภาคในระบบมาก  โดยมีกำลังแรงงานอยู่ในภาคนอกระบบถึงร้อยละ 80 – 90 ของกำลังแรงงานทั้งหมด


ที่มาของภาพ : http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1806809

 

         http://www.homenetthailand.org/index.php/th/aboutus-th-th-2/whos-worker-th-th-2

<< Go Back