<< Go Back

     วาตภัยหมายถึง ภัยที่เกิดขึ้นจากพายุลมแรง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ และสิ่งก่อสร้าง สำหรับในประเทศไทยวาตภัยหรือพายุลมแรงมีสาเหตุมาจากปรากฎการณ์ทางธรรรมชาติ คือ

     1. พายุหมุนเขตร้อน ได้แก่ ดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน พายุใต้ฝุ่น

     2. พายุฤดูร้อน ส่วนมากจะเกิดระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน  โดยจะเกิดถี่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีการเกิดน้อยครั้งกว่า  สำหรับภาคใต้ก็สามารถเกิดได้แต่ไม่บ่อยนัก  โดยพายุฤดูร้อนจะเกิดในช่วงที่มีลักษณะอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน แล้วมีกระแสอากาศเย็นจากความกดอากาศสูงในประเทศจีนพัดมาปะทะกัน ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองมีพายุลมแรง  และอาจมีลูกเห็บตกได้จะทำความเสียหายในบริเวณที่ไม่กว้างนัก ประมาณ 20 - 30 ตารางกิโลเมตร

     3. ลมงวง (เทอร์นาโด)  เป็นพายุหมุนรุนแรงขนาดเล็กที่เกิดจากการหมุนเวียนของลม  ภายใต้เมฆก่อตัวในทางตั้งหรือเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง (เมฆคิวมูโลนิมบัส) ที่มีฐานเมฆต่ำ  กระแสลมวนที่มีความเร็วลมสูงนี้  จะทำให้กระแสอากาศเป็นลำพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า  หรือย้อยลงมาจากฐานเมฆดูคล้ายกับงวงหรือปล่องยื่นลงมา  ถ้าถึงพื้นดินก็จะทำความเสียหายแก่บ้านเรือน ต้นไม้ และสิ่งปลูกสร้างได้  สำหรับในประเทศไทยมักจะเกิดกระแสลมวนใกล้พื้นดินเป็นส่วนใหญ่  ไม่ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงใต้พื้นฐานเมฆและจะเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง  โดยจะเกิดขึ้นในพื้นที่แคบๆ และมีช่วงระยะเวลาสั้นๆ  จึงทำให้เกิดความเสียหายได้ในบางพื้นที่

บนบก

     ต้นไม้ถอนรากถอนโคน ต้นไม้ทับบ้านเรือนพัง ผู้คนได้รับบาดเจ็บถึงตาย เรือกสวนไร่นา เสียหายหนักมาก บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรง ไม่สามารถต้านทานความรุนแรงของลมได้พังระเนระนาด หลังคาบ้านที่ทำด้วยสังกะสีจะถูกพัดเปิด กระเบื้องหลังคาปลิวว่อน เป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง เสาไฟฟ้า เสาโทรเลข เสาโทรศัพท์ล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดเพลิงไหม้ ผู้คนเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดได้ ผู้คนที่พักอยู่ริมทะเล จะถูกคลื่นซัดท่วมบ้านเรือน และกวาดลงทะเล ผู้คนอาจจมน้ำตายในทะเลได้ ฝนตกหนักมากทั้งวันและทั้งคืน อุทกภัยจะตามมา น้ำป่าจากภูเขาไหลหลากลงมาอย่าง รุนแรง ท่วมบ้านเรือน ถนน และเรือนสวนไร่นา เส้นทางคมนาคม ทางรถไฟ สะพาน และถนนถูกตัดขาด

ในทะเล

     มีลมพัดแรงจัดมาก คลื่นใหญ่ เรือขนาดใหญ่อาจถูกพัดพาไปเกยฝั่งหรือชนหินโสโครกทำให้จมได้   เรือทุกชนิดควรงดออกจากฝั่งหรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือเข้าใกล้ศูนย์กลางพายุ  มีคลื่นใหญ่ซัดฝั่งทำให้ระดับน้ำสูงท่วม  อาคารบ้านเรือนบริเวณริมทะเล  และอาจกวาดสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงลงทะเลได้  เรือประมงบริเวณชายฝั่งจะถูกทำลาย

     1. ติดตามข่าวและประกาศคำเตือนลักษณะอากาศร้ายจากกรมอุตุนิยมวิทยา
     2. เตรียมวิทยุและอุปกรณ์สื่อสาร ชนิดใช้ถ่านแบตเตอรี่ เพื่อติดตามข่าวในกรณีที่ไฟฟ้าขัดข้อง
     3. ตัดกิ่งไม้ หรือรีดกิ่งไม้ที่อาจหักได้จากลมพายุ โดยเฉพาะกิ่งที่จะหักมาทับบ้าน สายไฟฟ้า ต้นไม้ที่ตายยืนต้นควรจัดการโค่นลงเสีย
     4. ตรวจเสาและสายไฟฟ้าทั้งในและนอกบริเวณบ้านให้เรียบร้อย ถ้าไม่แข็งแรงให้ยึดเหนี่ยวเสาไฟฟ้าให้มั่นคง
     5. พักในอาคารที่มั่นคงตลอดเวลาขณะเกิดวาตภัย อย่าออกมาในที่โล่งแจ้ง เพราะต้นไม้และกิ่งไม้อาจหักโค่นลงมาทับได้
         รวมทั้งสังกะสีและกระเบื้องจะปลิวตามลมมาทำอันตรายได้
     6. ปิดประตู หน้าต่างทุกบาน รวมทั้งยึดประตูและหน้าต่างให้มั่นคงแข็งแรง ถ้าประตูหน้าต่างไม่แข็งแรง
         ให้ใช้ไม้ทาบตีตะปูตรึงปิดประตู หน้าต่างไว้จะปลอดภัยยิ่งขึ้น
     7. ปิดกั้นช่องทางลมและช่องทางต่าง ๆ ที่ลมจะเข้าไปทำให้เกิดความเสียหาย
     8. เตรียมตะเกียง ไฟฉาย และไม้ขีดไฟไว้ให้พร้อม ให้อยู่ใกล้มือ เมื่อเกิดไฟฟ้าดับจะได้หยิบใช้ได้อย่างทันท่วงที
         และน้ำสะอาด พร้อมทั้งอุปกรณ์เครื่องหุ้มตุ้ม
     9. เตรียมอาหารสำรอง อาหารกระป๋องไว้บ้างสำหรับการยังชีพในระยะเวลา 2-3 วัน
     10. ดับเตาไฟให้เรียบร้อยและควรจะมีอุปกรณ์สำหรับดับเพลิงไว้
     11. เตรียมเครื่องเวชภัณฑ์
     12. สิ่งของควรไว้ในที่ต่ำ เพราะอาจจะตกหล่น แตกหักเสียหายได้
     13. บรรดาเรือ แพ ให้ลงสมอยึดตรึงให้มั่นคงแข็งแรง
     14. ถ้ามีรถยนต์หรือพาหนะ ควรเตรียมไว้ให้พร้อมภายหลังพายุสงบอาจต้องนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล
          น้ำมันควรจะเติมให้เต็มถังอยู่ตลอดเวลา
     15. เมื่อลมสงบแล้วต้องรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง ถ้าพ้นระยะนี้แล้วไม่มีลมแรงเกิดขึ้นอีก จึงจะวางใจว่าพายุได้ผ่านพ้นไปแล้ว
          ทั้งนี้เพราะเมื่อศูนย์กลางพายุผ่านไปแล้ว  จะต้องมีลมแรงและฝนตกหนักผ่านมาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง


ความเสียหายจากพายุเกย์ ที่จังหวัดชุมพร
ที่มาของภาพ : http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=72

          http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=72

<< Go Back