<< Go Back

    ระบบครอบครัวและเครือญาติ  หมายถึง  ระบบของเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกัน  โดยทางสายเลือดหรือการแต่งงาน  การจะนับว่าใครเป็นญาติของเราบ้างนั้นขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์  ในแต่ละวัฒนธรรมการจัดระบบเครือญาติเป็นเรื่องทาง "วัฒนธรรม" ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ  แม้ว่าปรากฏการณ์ พ่อ แม่ ลูก  จะเป็นเรื่องธรรมชาติ  และมีปรากฎในทุกๆ สังคม  แต่แต่ละสังคมก็จะมีการจัดระบบเครือญาติ  ในการกำหนดบทบาทแนวปฏิบัติและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวต่างกันไป  บางสังคมเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับญาติข้างพ่อ  เช่น  สังคมจีน  สังคมอินเดีย  บางสังคมก็ให้ความสำคัญกับญาติข้างแม่  เช่น  สังคมกะเหรี่ยงโปว  หรือบางสังคมก็ให้ความสำคัญกับญาติทั้งสองฝ่าย  เช่น  สังคมพม่า  สังคมอินโดนีเซีย  สังคมไทย  เป็นต้น

    เนื่องจากระบบครอบครัวและเครือญาติ  เป็นระบบความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานที่สุดในสังคม  และมีความสำคัญมากในการเข้าใจสังคมไทย  การกล่าวถึงลักษณะของครอบครัวไทยในที่นี้  จึงจะเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับสังคมไทย  โดยเฉพาะในระดับสังคมหมู่บ้านในชนบทไทย  ซึ่งครอบครัวและเครือญาติมีบทบาทอย่างมากในวิถีชีวิตชุมชนหมู่บ้าน  ในการนำเสนอเพื่อให้เห็นภาพดังกล่าวนี้  จะกล่าวถึงกฎเกณฑ์การตั้งถิ่นฐานหลังการแต่งงาน  ที่มีผลต่อวัฎจักรของครอบครัว  และการสร้างกลุ่มครอบครัวและเครือญาติ  อันนับเป็นโครงสร้างของสังคมหมู่บ้าน  และกฎเกณฑ์การรับมรดกในครอบครัวไทย  จากนั้นเพื่อให้เห็นความสำคัญของครอบครัวและเครือญาติในสังคมในวงกว้าง  จะขอกล่าวถึงคำเรียกญาติ  การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย  และส่วนสุดท้ายจะให้ภาพความเปลี่ยนแปลงในระบบครอบครัว  อันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

     ปัจจุบันนี้สังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ในทางเศรษฐกิจ และสังคม เมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรกรรม เพื่อยังชีพ มาเป็นเกษตรกรรม เพื่อการค้า มีผลให้ชาวนาต้องผลิตข้าวเป็นจำนวนมาก เพื่อขายและส่งออก การที่จะทำให้ผลิตผลข้าวมากขึ้น ชาวนาต้องลงทุนซื้อปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หากปีใดฝนแล้งทำนาไม่ได้ ก็ทำให้ชาวนาขาดทุน ท้ายที่สุดกลายเป็นหนี้สิน จนทำให้ต้องจำนอง หรือขายนา กลายสภาพมาเป็นผู้เช่าที่ดิน และมีรายได้ไม่พอต่อการยังชีพ ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งกลายมาเป็นสังคมทุนนิยม ที่ต้องใช้เงินซื้อทุกอย่าง

     ปัจจุบัน เมื่อว่างเว้นจากฤดูการทำนา ชาวนาก็มุ่งเข้าสู่เมือง อันมีผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างครอบครัวไทย ทุกวันนี้ถ้าไปในชนบทจะพบว่า มีแต่คนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย กับหลาน หรือพูดง่ายๆ ว่า มีแต่คนแก่กับเด็ก หนุ่มสาวออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง ปล่อยลูกไว้ให้ตายายเลี้ยง เมื่อคนหนุ่มสาวไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน ประเพณีการขยายครอบครัว โดยการที่ลูกเขยย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านพ่อตา เป็นแรงงานช่วยพ่อตาทำนา ค่อยๆ หมดไป การแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างกลุ่มญาติสนิทค่อยๆ หมดไป การทำนาต้องใช้เงินจ้าง ทั้งในการดำนา และเกี่ยวข้าว เกิดมีอาชีพรับจ้างดำนา เกี่ยวข้าวแทน การนวดข้าว ก็หมดไป มีการจ้างรถพ่นข้าวมาแทน การแลกเปลี่ยนแรงงาน และความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนพึ่งพาระหว่างเครือญาติในหมู่บ้าน จึงค่อยๆ สลายไปด้วย แต่ก่อนนับได้ว่า ผู้หญิงเป็นแกนหลักในสังคมหมู่บ้าน ปัจจุบันนี้ผู้หญิงจำนวนมาก เข้ามาทำงานในเมือง เป็นกรรมกรในโรงงาน เด็กรับใช้ทำงานตามบ้าน พนักงานในภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลอดจนถูกล่อลวงมาเป็นโสเภณี ชีวิตทางเศรษฐกิจ และสังคม ในปัจจุบัน จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะครอบครัวไทยในอดีต

     อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า แม้ว่าคนหนุ่มสาวจะออกจากหมู่บ้านมาสู่เมือง อันมีผลกระทบต่อโครงสร้าง และองค์ประกอบของครอบครัวในหมู่บ้าน แต่จะเห็นได้ว่า สายใยระหว่างคนหนุ่มสาวกับพ่อแม่ และญาติพี่น้องที่อยู่ในหมู่บ้าน ยังคงมีอยู่ตามประเพณีไทย แต่เดิมที่ว่า ลูกเป็นฝ่ายเลี้ยงดูพ่อแม่ ในยามแก่เฒ่า เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณ ซึ่งหน้าที่นี้มักตกอยู่กับลูกสาวคนเล็กดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เราพบว่า เด็กหนุ่มสาวที่เข้ามาทำงานในเมือง จะส่งเงินกลับบ้านไปให้พ่อแม่ ในหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะลูกสาวยังคงมีสำนึกความรับผิดชอบ ในการเลี้ยงดูพ่อแม่ เงินทองที่หามาได้จากการทำงานในเมือง ก็ส่งกลับสู่หมู่บ้าน เพื่อให้พ่อแม่ใช้จ้างแรงงานในการทำนา ช่วยไถ่ถอนที่นาคืน หรือช่วยปลดเปลื้องหนี้สินของครอบครัว นับว่า ค่านิยมเรื่องความกตัญญูและการทดแทนบุญคุณ ที่ได้อบรมสั่งสอนกันมาในครอบครัวไทยแต่เดิม ยังคงได้รับการสืบทอดและดำเนินไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ในสังคมไทยในปัจจุบัน


ที่มาของภาพ : http://www.dmc.tv/images/meditationNAW/11.1.jpg

          http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=22&chap=7&page=t22-7-infodetail06.html

<< Go Back